xs
xsm
sm
md
lg

The Age of Stupid เราทำลายโลกโดย "รู้เท่าถึงการณ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟไหม้ที่โรงโอเปร่าแห่งซิดนีย์ ออสเตรเลีย ภาพเหตุการ์ณที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (ภาพประกอบจากกรีนพีซ และ ageofstupid.net)
The Age of Stupid เป็นภาพยนตร์อีกเรื่อง ที่ตอกย้ำถึงความโง่เขลาของเรา ที่ไม่คิดจะปกป้องโลกไว้เพื่อคนรุ่นหลาน ทั้งๆ ที่เรายังมีโอกาสและรู้ว่าพฤติกรรมที่เราคุ้นชินนั้น จะทำให้เกิดสิ่งเลวร้ายอย่างไรบ้าง และไม่ต้องรอถึงวันข้างหน้า เพราะวันนี้หลายชีวิตต้องเผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายบนเส้นทางที่นำเราไปสู่ "หายนะ"

เปิดเรื่อง The Age of Stupid นำเราไปสู่อนาคต ที่ความเจริญทั้งหลายกลายเป็นซากอยู่ท่ามกลางภัยพิบัติจากธรรมชาติ และภายในหอคอยที่เป็นคลังเก็บข้อมูลแต่ละยุคไว้ พีท โพสเลธเวท (Pete Postlethwaite) นักแสดงนำของเรื่องเป็นตัวแทนของเราผู้มีชีวิตอยู่ในปี 2598 ได้ย้อนความถึงภาพเหตุการณ์จริงในปี พ.ศ.2551 ซึ่งเป็น "ยุคแห่งความโง่เขลา" ที่ผู้คนซึ่งมีโอกาสช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมและแก้ไขความผิดพลาดที่สะสมกันมาเป็น 100 ปี ให้กลับคืนสู่ทิศทางที่ดีได้ แต่พวกเรากลับไม่ทำและเดินหน้าทำลายล้างโลกต่อไปอย่าง "รู้เท่าถึงการณ์"

แม้รู้ทั้งรู้ว่า พลังงานลมคือพลังงานทดแทนที่สะอาด แต่เมื่อต้องเลือกที่จะสร้างฟาร์มกังหันลม ชาวบ้านในอังกฤษผู้อาศัยอยู่ท่ามกลางทำเลที่มีกระแสลมแรง กลับปฎิเสธที่จะให้กังหันลมมาบดบังทัศนียภาพอันสวยงามของหมู่บ้านและลดมูลค่าของราคาที่ดิน ซึ่งสร้างผิดหวังให้กับ เพียร์ส กาย (Piers Guy) นักพัฒนาฟาร์มกังหันลม ผู้สร้างแหล่งพลังงานทดแทนให้ประเทศอื่นมานักต่อนัก แต่กลับล้มเหลวเมื่อคิดจะสร้างโครงการเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการกอบกู้โลกที่บ้านเกิดของตัวเอง

"ปัญหาคือคุณกำลังต่อรองกับประชากรโลก ซึ่งปฎิเสธสิ่งนี้อยู่แล้ว ความจริงที่ว่าคุณไม่สามารถไปเล่นสกีได้อีกแล้วหรือธารน้ำแข็งละลาย ไม่ใช่ประเด็นที่แท้จริง ประเด็นคือนั่นเป็นสัญญาณว่าโลกกำลังไม่มั่นคง และพื้นฐานที่โอบอุ้มชีวิตอย่างที่โลกเคยเป็นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว หากเราไม่ยอมรับกับความหวาดหวั่น ผมก็รู้สึกว่าเรากำลังสบประมาทสิ่งแวดล้อมที่ให้เรามามาก เราทิ้งขวางสิ่งแวดล้อมของเราโดยไร้ความเคารพอย่างไม่ใยดี" กายชี้ถึงปัญหา

แล้วเราจะกล่าวโทษ เจห์ วาเดีย (Jeh Wadia) ผู้เกิดในตระกูลมั่งคั่งแห่งอินเดียได้หรือไม่ ในฐานะที่เขาสร้างสายการบินต้นทุนต่ำที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อเปิดโอกาสให้คนจนได้มีสิทธิเดินทางโดยเครื่องบินด้วยตั๋วราคาถูกแทนการโดยสารรถไฟที่โสโครกและแออัด และตั้งเป้าให้คนจน 1 ล้านคน ได้มีสิทธินั่งเครื่องภายในเวลาหนึ่งปี

"การบินปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1.6% ของทั้งหมด แล้วทำไมผู้คนไม่ไปพูดกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 1.6% เสียก่อน แล้วค่อยกลับมาคุยกับเราหลังจากที่คุยกับคนอื่นๆ แล้ว" วาทะของวาเดียซึ่งกล่าวไว้ในภาพยนตร์

ในขณะที่เธอเองก็ได้มีโชคชะตาอันเลวร้ายซึ่งเป็นผลพวงจากธุรกิจน้ำมันต่างชาติและคอร์รัปชันของชนชั้นปกครอง แต่ที่สุด ลาเยฟา มาเลมี (Layefa Malemi) หญิงสาวไนจีเรียวัย 23 ปี ต้องจำนนต่อการเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจค้าน้ำมันเถื่อน เพื่อหาเงินส่งเสียครอบครัวและส่งตัวเองเรียนหมอ ตามความฝันที่มีแรงบันดาลใจเมื่อเห็นน้องสาวตายไปด้วยอหิวาตกโรค ซึ่งมีสาเหตุจากของเสียของโรงงานผลิตน้ำมัน และแม้ว่าบ้านเกิดของเธอจะเป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่นายทุนต่างชาติสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเอง แต่ชุมชนของเธอเองกลับจมอยู่กับความอดอยากยิ่งกว่าเดิม

"ฉันไม่มีความสุขกับชีวิตแบบนี้ ด้วยวัย 23 แล้ว ฉันควรจะอยู่ในสถานที่ดีกว่านี้ ฉันอยากให้ที่อยู่ของเราเป็นเหมือนอเมริกา ฉันอยากให้ผู้คนของเรา อย่างน้อยก็ตัวฉันเองได้มีชีวิตอยู่แบบนั้น มันเป็นชีวิตที่งดงาม หากคุณมีชีวิตแบบนั้น คุณจะไม่มีวันอยากตาย คุณจะปรารถนาที่จะอยู่บนโลกใบนี้ตลอดไป" ลาเยฟาหญิงสาวผู้ปรารถนาที่จะไม่เป็นเพียงหมอ แต่จะเป็นหมอที่ดีให้กับชุมชนของเธอกล่าว (คลิกเพื่อชมภาพยนตร์ในส่วนของ ลาเยฟา มาเลมี http://www.youtube.com/watch?v=mfwmgWVuWpo)

ส่วน เจมีลาและอัดนัน เบย์ยูด (Jamila and Adnan Bayyoud) สองพี่น้องวัย 8 และ 9 ขวบต้องลี้ภัยจากสงครามอิรัก หลังบ้านถูกยิงถล่มและพ่อถูกทหารอเมริกันฆ่าตาย ส่วนพี่ชายได้รับบาดเจ็บจากไฟไหม้ในสงครามดังกล่าว ซึ่งเป้าประสงค์ที่แท้จริงไม่ใช่เพื่อกำจัดผู้ก่อการร้ายแต่เพื่อ "น้ำมัน" ทั้งสองหนูน้อยหลบไปอาศัยอยู่ข้างถนนในจอร์แดน และหาเงินด้วยการขายรองเท้ามือสองของชาวอเมริกัน

"เราสวมรองเท้าของเราไปจนกว่าจะขาด แต่พวกเขา (ชาวอเมริกัน) กลับทิ้งขวางมัน" อัดนันกล่าว พร้อมทั้งขนรองเท้าที่ยังอยู่ในสภาพใช้การได้ไปวางขาย
(คลิกเพื่อชมภาพยนตร์ในส่วนของหนูน้อยทั้งสอง http://www.youtube.com/watch?v=AD-ZJBhpdcI)

ด้าน เฟอร์นันด์ ปารู (Fernand Pareau) ไกด์นำทางปีนเขาในฝรั่งเศสวัย 82 ปี ผู้หลงรักยอดเขามองต์บลังก์ (Mont Blanc) ตั้งแต่แรกเห็น และพิชิตยอดเขาดังกล่าวมาแล้วกว่า 150 ครั้ง ซึ่งรวมทั้งทั้งที่ปีนฉลองครบรอบ 79 ปีของเองด้วย แต่วันนี้เขาได้เห็นธารน้ำแข็งบนยอดเขาที่หลงรักนั้นลดลงอย่างน่าใจหายไป 150 เมตรแล้ว ตอนนี้เขาต้องพาเหลนๆ ไปเล่นสกีบนหิมะเทียม หลังจากทางเล่นสกีในหมู่บ้านต้องปิดตัวลง

"เพราะโลกร้อนอะไรก็เปลี่ยนไป ตอนนี้ต้นไม้โตได้มากขึ้นบนยอดเขา และเหล่านกไม่ต้องอพยพเพื่อหนีหนาวอีกแล้ว" ปารูกล่าว และแสดงความเห็นต่อรถบรรทุกกว่า 3,000 คันที่ขนมันฝรั่งจากฝรั่งเศสไปอิตาลี และขนกลับมาในรูปของมันบดว่า เป็นเรื่องที่ "บ้ามาก, บ้าจริงๆ" นอกจากนี้ปารูยังเข้าร่วมการรณรงค์ปั่นจักรยาน และปลูกต้นไม้ 900 ต้น แม้เขาจะรู้ดีว่า "สูญเปล่า"

"ผมว่าคนในอนาคตจะต้องโกรธพวกเราอย่างมากที่ไม่คิดจะปกป้องสิ่งแวดล้อม เราคิดแต่เพียงจะแสดงหาประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม" ปารูกล่าว

ขณะที่นักบรรพชีวินวิทยาอย่าง อัลวิน ดูเวอร์เนย์ (Alvin DuVernay) ซึ่งทำงานให้กับบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งมายาวนาน ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบดินโคลนในพื้นที่ขุดสำรวจน้ำมัน แล้วให้คำแนะนำว่าควรจะขุดหาน้ำมันลึกลงไปอีกเท่าไรนั้น ก็ได้รับรู้ถึงบทลงโทษของธรรมชาติในเหตุการณ์พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา (Katrina) ถล่มนิวออร์ลีนส์ สหรัฐฯ เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งเขาและพ่อวัยกว่า 80 ปี ได้ขังตัวเองอยู่ภายในบ้านซึ่งน้ำท่วมสูง

อัลวินสูญเสียทุกอย่าง สมบัติทั้งหมดของครอบครัวไปกองอยู่รวมกัน เมื่อพายุสงบเขาได้พายเรืออกไปช่วยชีวิตเพื่อนบ้านไว้กว่า 100 คน และได้ประจักษ์ต่อสายตาตัวเองว่า เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นเพียงรสชาติหนึ่งของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากเรายังคงเผาผลาญทรัพยากรอันมีค่าของเราต่อไป

"จากการใช้ทรัพยากรของเรา และการใช้อย่างไม่สมควรในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ผมอยากจะเรียกยุคนี้ว่า "ยุคแห่งความเพิกเฉย" , "ยุคแห่งความโง่เขลา" อัลวินกล่าว

ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยแฟรนนี่ อาร์มสตรอง (Franny Armstrong) ผู้สร้างผลงานรางวัลออสการ์ เรื่อง One Day in September และยังเป็นภาพยนตร์ในโครงการ Not Stupid เปิดฉายในเมืองไทยเพียงรอบเดียว และเป็นการฉายรอบปฐมทัศน์พร้อมกันกับประเทศอื่นๆ เมื่อวันที่ 22 ก.ย.52 ที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์สยามภาวาลัย ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน โดยเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมโครงการเดินกับช้างร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง ของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมชมภาพยนตร์ดังกล่าวด้วย 

กรีนพีซระบุว่าทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับบริจาคจากบุคคลทั่วไป ซึ่งมีผู้ร่วมลงทุนทั้งสิ้น 228 คน และร่วมลงทุนตั้งแต่ 500 ถึง 35,000 ยูโร (ประมาณ 25,000 - 1,750,000 บาท) ซึ่งทุกคนเป็นเจ้าของภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนทีมงานได้รับค่าจ้างเทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำ และบางคนร่วมทำงานนี้มากว่า 5 ปี โดยเป้าหมายของโครงการ คือโน้มน้าวผู้ชม 250 ล้านคนให้เป็นนักกิจกรรมรณรงค์ภาวะโลกร้อน และพุ่งเป้าไปยังการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในเดือน ธ.ค.52

ตอนนี้เราคงไม่ต้องถกเถียงกันแล้วว่าโลกร้อนจริงหรือไม่ เพราะเราเผชิญ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงอย่างรุนแรงขึ้นทุกวัน หากแต่เราเองยังคงวิ่งตามกระแสทุนนิยมและไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค หายนะในวันข้างหน้าคงจะประทับตรายุคสมัยของเราว่าเป็น "ยุคแห่งความโง่เขลา" ...แต่ ณ วันนี้เรายังมีโอกาสกำหนดประวัติศาสตร์ในวันข้างหน้าใหม่





พีท โพสเลธเวท (Pete Postlethwaite) นักแสดงนำของเรื่องเป็นตัวแทนของเราผู้มีชีวิตอยู่ในปี 2598 ได้ย้อนความถึงภาพเหตุการณ์จริงในปี 2551 ซึ่งเป็น ยุคแห่งความโง่เขลา
ภาพเหตุการณ์จริงที่ไนจีเรีย เมื่อบริษัทน้ำมันยักษ์เผาก๊าซส่วนเกินทิ้ง เพื่อไม่ให้น้ำมันราคาตก
หนูน้อยอัดนัน (ซ้าย) และหนูน้อยเจมีลา (ขวา)
เจห์ วาเดีย เศรษฐีผู้มั่งคั่งเจ้าของสายการบินโลว์คอสต์ในอินเดีย
ลาเยฟา มาเลมี หญิงไนจีเรียผู้ใฝ่ฝันจะเป็นหมอที่ดีให้กับชุมชน หลังน้องสาวจากไปด้วยโรคอหิวา เพราะติดเชื้อจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด อันเกิดจากโรงงานผลิตน้ำมัน
เพียร์ส กาย นักพัฒนาฟาร์มกังหันลม ผู้ผิดหวังจาการถุกชาวบ้านในอังกฤษต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลม เพียงเพราะทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม
เฟอร์นันด์ ปารู ไกด์นำทางปีนเขาในฝรั่งเศส ผู้เห็นเองกับตาว่าธารน้ำแข็งได้ลดระดับลงไปมากแค่ไหนแล้ว
อัลวิน ดูเวอร์เนย์ นักบรรพชีวินวิทยาผู้ทำงานในบริษัทน้ำมันนานนับสิบปี และได้ประสบกับภัยเฮอร์ริเคนแคทรินาด้วยตัวเอง
ภาพการประท้วงต่อต้านการสร้างฟาร์มกังหันลม
กราฟิกในภาพยนตร์แสดงการรบราเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่มีมาแต่อดีต
โปสเตอร์ภาพยนตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น