xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยไทยหา "โพรไบโอติค" ในนมแม่ ทำอาหารเสริมป้องกันมะเร็งลำไส้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำนมเหลืองจากอกแม่มีแบคทีเรียโพรไบโอติคที่เป็นประโยชน์ต่อลูกน้อย (ภาพจาก http://img.dailymail.co.uk)
นักวิจัย ม.มหาสารคามร่วมกับ วว. ค้นหาจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์จากน้ำนมเหลืองของแม่ลูกอ่อน พบแบคทีเรียหลายสายพันธุ์ทนทานสภาวะเป็นกรดในกระเพาะอาหารได้ดี หวังพัฒนาเป็นอาหารเสริมโพรไบโอติคที่เหมาะกับคนไทย ป้องกันมะเร็งลำไส้ ใช้รักษาโรคในระบบทางเดินอาหารแทนยาปฎิชีวนะ

น.ส.วิรัชนีย์ แก่นแสนดี นักศึกษาปริญญาโท และ ผศ.ดร.ปริยาภรณ์ อิศรานุวัฒน์ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ ดร.สมพร มูลมั่งมี นักวิจัยฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศึกษาคุณสมบัติของเชื้อจุลินทรีย์ในกลุ่มแลคติคแอซิดแบคทีเรีย ที่แยกได้จากน้ำนมเหลืองของคน เพื่อค้นหาแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติเป็นโพรไบโอติคสำหรับนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารและยาภายในประเทศ ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ของ วว. 

ผศ.ดร.ปริยาภรณ์ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า จุลินทรีย์ในกลุ่มแลคติคแอซิดแบคทีเรียเป็นเชื้อ ที่พบได้ทั่วไปในอาหารประเภทหมักดองที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้ ซึ่งแลคติคแอซิดแบคทีเรียบางชนิดมีคุณสมบัติเป็นโพรไบโอติคที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายของผู้บริโภค

"โพรไบโอติคที่ใช้ในอุตสาหกรรมบางส่วน เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่แยกได้จากอุจจาระของเด็ก และอาหารที่ทารกได้กินเป็นสิ่งแรก คือน้ำนมเหลืองจากแม่ ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าน้ำนมเหลืองนี้ มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์และสารที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ และก็เชื่อกันว่าจุลินทรีย์ในน้ำนมเหลืองน่าจะมีบทบาทช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยเช่นกัน แต่ยังไม่ค่อยมีใครศึกษาวิจัยถึงจุลินทรีย์ในน้ำนมเหลือง เราจึงทำการวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่าจุลินทรีย์ในลำไส้เด็กมาจากน้ำนมเหลือง และเพื่อค้นหาสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีศักยภาพไปพัฒนาเป็นโพรไบโอติคใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา" ผศ.ดร.ปริยาภรณ์ อธิบาย

ทีมวิจัยเก็บตัวอย่างน้ำนมเหลืองที่ได้จากมารดา ที่เพิ่งคลอดบุตรจากโรงพยาบาลมหาสารคามจำนวน 23 ราย แล้วนำมาแยกเชื้อแลคติคแอสิดแบคทีเรีย จากนั้นนำไปทดสอบคุณสมบัติของการเป็นแบคทีเรียโพรไบโอติค พบว่ามีเชื้อแลคติคแอซิดแบคทีเรียจากน้ำนมเหลืองหลายสายพันธุ์สามารถทนต่อสภาวะที่เป็นกรดสูง ทนต่อสภาวะที่คล้ายน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และทนต่อเกลือน้ำดีที่ความเข้มข้นระดับหนึ่ง

ฉะนั้นแบคทีเรียเหล่านี้จึงมีศักยภาพสามารถพัฒนาไปเป็นแบคทีเรียโพรไบโอติคเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ แลคโตบาซิลลัส เอสพี (Lactobacillus sp.) และ บิฟิโดแบคทีเรียม เอสพี (Bifidobacterium sp.) ซึ่งทีมวิจัยจะต้องศึกษาต่อไปอีก และคาดว่าภายในปีหน้าจะสามารถคัดเลือกได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุดที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมได้ โดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเชื้อและการเก็บรักษา พัฒนาเป็นหัวเชื้อสำหรับอุตสาหกรรมนมหมักและอาหารหมักดอง
"โพรไบโอติคที่ใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นโพรไบโอติคนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหากเราสามารถพัฒนาการผลิตแบคทีเรียโพรไบโอติคได้เองในระดับอุตสาหกรรมจะช่วยลดการนำเข้าได้ และจุลินทรีย์โพรไบโอติคที่มาจากแหล่งกำเนิดดั้งเดิมในถิ่นนั้นๆ จะมีความจำเพาะและมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคในถิ่นนั้นมากกว่าด้วย" ผศ.ดร.ปริยาภรณ์ กล่าว

นักวิจัยยังให้ข้อมูลอีกว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารและลำไส้กันมากขึ้น จึงคิดว่าหากนำแบคทีเรียโพรไบโอติคที่แยกได้จากน้ำนมเหลืองมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือใช้ประโยชน์ทางด้านเภสัชแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ และช่วยลดปัญหาการดื้อยาของเชื้อโรคได้ด้วย

อีกทั้งยังสามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้และช่วยลดคลอเรสเตอรอลได้ด้วย เพราะแบคทีเรียโพรไบโอติคมีส่วนช่วยยับยั้งเอนไซม์บางชนิดในการเกิดมะเร็งลำไส้ และไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการสังเคราะห์เกลือน้ำดีในร่างกายที่ต้องใช้คลอเรสเตอรอลเป็นสารตั้งต้น ซึ่งในต่างประเทศมีการผลิตเชื้อโพรไบโอติคในรูปแบบแคปซูลสำหรับบริโภคเป็นอาหารเสริมหรือใช้แก้ปัญหาโรคในระบบทางเดินอาหารกันแล้ว.
(จากซ้าย) ดร.สมพร มูลมั่งมี, น.ส.วิรัชนีย์ แก่นแสนดี และ ผศ.ดร.ปริยาภรณ์ อิศรานุวัฒน์
กำลังโหลดความคิดเห็น