xs
xsm
sm
md
lg

ดูเทคนิคอารยธรรมโบราณบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มารู้จักน้ำและเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกันได้ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2552
รู้ไหม? ทำไมลุ่มแม่น้ำจึงเป็นบ่อเกิดแห่งอารยธรรม และน้ำมีความสำคัญกับชีวิตของคนเราอย่างไร ในงานมหกรรมวิทย์ปีนี้มีเรื่องราวของน้ำมาเล่าสู่กันฟัง ตั้งแต่พาไปรู้จักน้ำในแง่มุมแบบวิทยาศาสตร์ และความสำคัญของน้ำกับการก่อเกิดอารยธรรมในสมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำของโครงการในพระราชดำริ

วอเตอร์ พาวิเลียน (Water Pavilion) หนึ่งในนิทรรศการที่จัดแสดงภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2552 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 8-23 ส.ค. 2552 เป็นนิทรรศการที่ได้ผู้ชมไปรู้จักน้ำและความสำคัญของน้ำ พร้อมกับพาท่องทั่วไทยไปดูแหล่งน้ำต่างๆ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยมาช้านาน

น้ำมีองค์ประกอบทางเคมีเป็นไฮโดรเจน (H) 2 อะตอม และออกซิเจน (O) 1 อะตอม รวมกันเป็นน้ำ 1 โมเลกุล (H2O) โดยทั่วไปน้ำเป็นของเหลวที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่ในสภาวะบนโลกพบน้ำได้ทั้ง 3 สถานะ คือของเหลว ของแข็ง และก๊าซหรือไอน้ำ โดยมีการหมุนเวียนเปลี่ยนสถานะไปตามสภาพแวดล้อมจนเป็นวัฏจักรของน้ำ ซึ่ง 97% ของน้ำบนโลกเป็นน้ำในมหาสมุทร ที่เหลือเป็นธารน้ำแข็ง น้ำแข็งขั้วโลก แม่น้ำ ทะเลสาบ และไอน้ำ

หากขาดอาหาร คนเรายังสามารถมีชีวิตอยู่ได้นับเดือน แต่หากขาดน้ำเพียง 2-3 วัน เราอาจตายได้ทันที น้ำจึงสำคัญมากกับชีวิตมนุษย์รองจากอากาศเลยก็ว่าได้ เพราะในร่างกายของคนเรามีน้ำเป็นองค์ประกอบถึง 2 ใน 3 ส่วน โดยอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น เลือด น้ำเหลือง และเป็นองค์ประกอบอยู่ในทุกๆ เซลล์ทั่วร่างกาย เพื่อให้เซลล์คงรูปอยู่ได้และทำงานได้อย่างปกติ พร้อมกับนำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ และนำของเสียออกจากร่างกาย เป็นสิ่งควบคุมสมดุลในร่างกาย น้ำจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลก

หากศึกษาประวัติศาสตร์ จะพบร่องรอยอารยธรรมของมนุษย์ในอดีตส่วนใหญ่เจริญรุ่งเรืองขึ้นบริเวณใกล้กับลุ่มแม่น้ำแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นลุ่มแม่น้ำไนล์ ในอียิปต์ ลุ่มแม่น้ำฮวงโหในจีน ลุ่มแม่น้ำสินธุในอินเดีย หรือแม้แต่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของไทยเรา และเมื่อน้ำเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีพ น้ำจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งมนุษย์เราก็รู้จักวิธีกักเก็บน้ำไว้ใช้ไม่ให้ขาดแคลนมานานแล้วในรูปแบบต่างๆ

อารยธรรมขอมและสุโขทัย ไทย

ขอมมีระบบจัดการน้ำอยู่ในขั้นสูง เช่น เมืองพระนครมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่คล้ายทะเลสาบ เรียกว่า บาราย ใช้กักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน และมีการขุดคูคลองต่างๆ เพื่อลำเลียงน้ำไปยังส่วนต่างๆ ของเมืองที่มีประชากรอยู่อาศัยจำนวนมาก ส่วนอาณาจักรสุโขทัยมีการสร้างอ่างเก็บน้ำและสระน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า ตระพัง ซึ่งขุดไว้ทั้งภายในเมืองและนอกเมือง เพื่อกักเก็บน้ำจากเทือกเขาและแม่ลำพันที่เป็นสาขาของแม่น้ำยมไว้ใช้ยามหน้าแล้ง คล้ายกับบารายแบบอารยธรรมขอม

อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ อินเดีย

สันนิษฐานว่าเริ่มต้นขึ้นในยุคสำริด ราว 2,800 ปีก่อนพุทธกาล ซึ่งมีการค้นพบซากเมืองโบราณขนาดมหึมา 2 แห่ง ริมแม่น้ำสินธุ และเมืองน้อยใหญอีกกว่า 2,500 แห่ง พบว่าเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีการวางผังเมืองเป็นรูปแบบเดียวกันหมด บ้านเมืองก่ด้วยอิฐที่มีขนาดและรูปร่างเหมือนกัน มีการตัดถนนรูปแบบเดียวกัน มีระบบชลประทานอย่างดีเพื่อนำน้ำจากแม่น้ำสินธุเข้าสู่ผืนนาอันกว้างใหญ่ของประชาชน และมีการวางระบบท่อน้ำดีน้ำเสียเข้าสู่ตัวเมืองเป็นแห่งแรกของโลก

อารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห จีน

แม่น้ำฮวงโหเปรียบเหมือนหัวใจและสายเลือดของอารยธรรมจีน ซึ่งก่อตัวขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อนคริสตกาล เกิดจากชุมชนเกษตรกรรมที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำแห่งนี้ที่ประสบกับอุทกภัยจากแม่น้ำฮวงโหบ่อยครั้ง จนขนานนามว่า แม่น้ำวิปโยค แต่เมื่อน้ำท่วมเริ่มลดลง ดินตะกอนที่แม่น้ำพัดพาเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรกลายเป็นเหมือนของขวัญอันมีค่าให้กับชุมชนลุ่มแม่น้ำให้ได้ใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม และได้มีการร่วมมือกันเพื่อป้งกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอีกจากแม่น้ำวิปโยค โดยการสร้างเขื่อนและขุดลอกขนานไปกับแม่น้ำ เพื่อป้องกันกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกัดเซาะตลิ่งอันเป็นพื้นที่เพาะปลูก และมีการขุดคูทดน้ำ นำน้ำเข้าถึงพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ไกลออกไปจากแม่น้ำได้อย่างเหมาะสม

อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ อียิปต์

อียิปต์มีความเจริญด้านวิศวกรรมและการชบประทานเป็นอย่างมาก เป็นชาติแรกที่ริเริ่มการทดน้ำด้วยการสร้างเขื่อนด้วยคันดิน ขุดทะเลสาบและคูคลองระบายน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตรและคมนาคม มีการตรวจสอบระดับน้ำในการชลประทานเป็นประจำทุกปี เพื่อประโยชน์ในการทดน้ำของปีต่อไป มีการจัดทำปฏิทินและแบ่งเป็นฤดูกาล เพื่อประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม อารยธรรมอียิปต์จึงถือเป็นต้นแบบการชลประทานของอารยธรรมโลก และนักประวัติศาสตร์เปรียบอียิปต์เป็นดั่งของขวัญจากแม่น้ำไนล์ หากปราศจากแม่น้ำไนล์ ดินแดนอียิปต์ก็จะมีแต่ความแห้งแล้งและทะเลทราย

นอกจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่ของโลกแล้ว ในประเทศไทยก็มีลุ่มแม้น้ำสายสำคัญจำนวนมากที่เป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติไทย ไม่ว่าจะเป็น ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน, ลุ่มแม่น้ำบางปะกง, ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง, ลุ่มแม่น้ำสาขาแม่น้ำโขง, ลุ่มแม่น้ำสาขาแม่น้ำสาลวิน และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เป็นต้น และการบริหารจัดการน้ำของโครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา, โครงการแก้มลิง, โครงการฝนหลวง และ โครงการแหลมผักเบี้ย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และปัญหามลพิษทางน้ำในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม

รู้อย่างนี้แล้วว่าน้ำมีคุณค่าและมีความสำคัญต่อชีวิตมากมายขนาดไหน ดังนั้นพวกเราทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และรักษาไว้ให้มีน้ำใช้ตลอดไป
ทำความรู้จักกับน้ำก่อนไปเรียนรู้ดูเทคนิคจัดการน้ำของโครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา แก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย
โครงการฝนหลวง แก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำขาดแคลนในพื้นที่เกษตรกรรม
สำรวจเทคโนโลยีบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชนของคนโบราณ
บาราย อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในอารยธรรมขอม
ลุ่มแม่น้ำสินธุในอินเดีย บ่อเกิดดินแดนแห่งอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ในเอเชียใต้
ลุ่มแม่น้ำฮวงโห หัวใจและสายเลือดแห่งอารยธรรมจีน
อารยธรรมอียิปต์ ของขวัญจากลุ่มแม่น้ำไนล์
H2O มหาสนุก เกมบันไดงูช่วยรู้เทคนิคใช้น้ำอย่างประหยัด
โอ่งความรู้ บอกเล่าเรื่องราวลุ่มแม่น้ำของไทย
โอ่งนี้มีอะไร ไปดูกันได้ในงานมหกรรมวิทย์
กำลังโหลดความคิดเห็น