เซิร์นประกาศเดินเครื่อง พ.ย.นี้ หลังจากความเสียหายเนื่องจากระบบไฟฟ้าเมื่อปีที่แล้ว ขณะเดินเครื่องได้เพียง 9 วัน และเพื่อลดความเสี่ยงการเดินเครื่องครั้งใหม่นี้จะใช้แค่ครึ่งหนึ่งก่อน และจะปิดเครื่องเพื่อซ่อมแซมครั้งสุดท้ายปีหน้า จากนั้นจะเดินเครื่องได้เต็มกำลัง
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ (European Center for Nuclear Research) หรือเซิร์น (Cern) ประกาศวันเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) เดือน พ.ย.นี้ หลังจากปิดปิดซ่อมแซม เนื่องจากความเสียหายของระบบไฟฟ้าจนเกิดกรณีฮีเลียมรั่วเมื่อเดือน ก.ย.51 ปีที่แล้ว ซึ่งเอพีระบุว่า จนบัดนี้เครื่องจักรวิทยาศาสตร์มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทยังไม่ได้เร่งให้อนุภาคชนกันแม้แต่ครั้งเดียว
การประกาศเดินเครื่องเร่งอนุภาคของเซิร์น เป็นไปท่ามกลางความกดดันของนักวิทยาศาสตร์ที่กระตือรือร้นให้มีการทดลองเพื่อไขปริศนาจักรวาล แต่ปลายปีนี้จะเดินเครื่องด้วยพลังงานเพียงครึ่งหนึ่ง ของความสามารถที่เครื่องจักรรองรับได้คือ 3.5 เทราอิเล็กตรอนโวลต์ และปีหน้าเซิร์นจะปิดเพื่อซ่อมแซมเครื่องจักรเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นจะสามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังที่ 7 เทราอิเล็กตรอนโวลต์
แม้ว่าจะเดินเครื่องด้วยพลังงานแค่ครึ่งเดียว แต่เอเอฟพีรายงานว่า เป็นระดับพลังงานที่มากกว่าเครื่องเร่งอนุภาคเทวาตรอน (Tevatron) ของห้องปฏิบัติการเฟอร์มิหรือเฟอร์มิแล็บ (Fermilab) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอยู่ 3 เท่าครึ่ง และเซิร์นจะเดินเครื่องด้วยพลังงานเพียงครึ่งเดียว ไปจนกว่าจะได้ข้อมูลที่มีนัยสำคัญ แล้ว จึงจะเพิ่มพลังงานในการเดินเครื่อง ซึ่งคาดว่าหลังการเดินเครื่องปลายปีนี้จะได้ข้อมูลชุดแรกออกมาหลังจากนั้น 2-3 อาทิตย์
รอล์ฟ ฮอยเออร์ (Rolf Heuer) ผู้อำนวยการเซิร์นกล่าวว่า ตอนนี้เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจในเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีมากกว่าปีที่แล้วมาก ดังนั้นเซิร์นจึงมองไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจและตื่นเต้นต่อการเดินหน้าอย่างราบรื่นไปจนถึงปีหน้า
ทั้งนี้เซิร์นได้ซ่อมแซมเครื่องเร่งอนุภาคตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความเสียหายของการเชื่อมต่อทางไฟฟ้าที่ผิดพลาด ซึ่งความเสียหายจนต้องหยุดเดินเครื่องนั้นเกิดขึ้นเพียง 9 วันหลังจากการทดลองเดินเครื่องครั้งแรกเมื่อ 10 ก.ย.51 ซึ่งลำอนุภาคถูกยิงให้วิ่งไปรอบท่อในอุโมงค์ยาว 27 กิโลเมตรที่ขดเป็นวงกลมใต้ชายแดนฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ โดยทำความสะอาดและซ่อมแซมแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดใหญ่ 53 ตัว.