ผอ."เซิร์น" คนใหม่ ประกาศให้คนนอกตรวจสอบ "แอลเอชซี" ป้องกันความผิดพลาดอีก หลังเครื่องจักรจำลองการเกิด "บิกแบง" เสียหายระหว่างทดลองเดินเครื่องครั้งแรก ทำให้ต้องสูญเงินไปนับพันล้าน
เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ (European Center for Nuclear Research) หรือเซิร์น (CERN) เกิดเสียหายขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากเดินเครื่องทดสอบยิงลำแสงครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย.51 เป็นเหตุให้ต้องสูญเงินในการซ่อมแซมเครื่องจักรกว่า 30 ล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 910 ล้านบาท โดยเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เกิดฮีเลียมรั่วเข้าสู่ระบบทำความเย็นในอีก 9 วันให้หลังการทดลอง
ภายหลังจากได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการคนใหม่ของเซิร์น สำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า รอล์ฟ-ดีเตอร์ ฮอยเออร์ (Rolf-Dieter Heuer) ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์สวิส "ซอนทาก" (Sonntag) ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นว่า อาจมาถึง 40 ล้านฟรังก์สวิสหรือประมาณ 1,200 ล้านบาทไทย ซึ่งจากนี้เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี ต้องได้รับการตรวจสอบซ้ำโดยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ก่อนที่จะได้เริ่มดำเนินการใดๆ กับเครื่องจักรที่จะนำกลับลงไปติดตั้งใน ก.ค.52 นี้
"ผมอยากให้แน่ใจว่าทุกอย่างไปได้ดี ผมจึงต้องให้คนภายนอกเข้ามาตรวจสอบเครื่องเร่งอนุภาคเพิ่มเติม" ฮอยเออร์กล่าว แต่ก็เสริมว่าไม่ใช่เขาไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่กว่า 10,000 คนที่อยู่ในองค์กร และเน้นว่าการทำอย่างที่เขาเสนอนั้นง่ายกว่าตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลัง
"เมื่อคุณทำงานกับอะไรนานๆ เข้าคุณก็จะมืดบอดไปกับระบบและไม่สามารถหาข้อบกพร่องทั้งหมดได้" ผู้อำนวยการคนใหม่ของเซิร์น ผู้รับตำแหน่งต่อจาก โรเบิร์ต เอย์มาร์ (Robert Aymar) อดีตผู้อำนวยการคนเก่ากล่าว
ทั้งนี้ เขามีความตั้งใจที่จะลดความตื่นตระหนกมากเกินไป เมื่อเริ่มเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีที่ถูกออกมาแบบมาเพื่อไขปริศนาจุดกำเนิดจักรวาลอีกครั้ง โดยคาดว่าการทดลองน่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูร้อนปีหน้า อีกทั้งเขาจะไม่ให้เดินเครื่องยิงลำอนุภาคเต็มกำลังก่อนปี 2553 หรือก่อนที่ระบบป้องกันใหม่จะได้รับการติดตั้งเรียบร้อย
อย่างไรก็ดีกำหนดการเดินเครื่องที่แน่ชัดนั้นขึ้นอยู่กับการหารือของนักวิทยาศาสตร์ในการประชุมต้นปีหน้าที่ประเทศฝรั่งเศส