xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระเทพฯ ทอดพระเนตร "กระดองเต่าล้านปี" ในงานมหกรรมวิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระเทพฯ ทรงทอดพระเนตรฟอสซิลกระดองเต่าล้านปี
สมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดนิทรรศการมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมทอดพระเนตรภายในงาน รวมถึงฟอสซิลกระดองเต่าล้านปี ด้าน สทน.จัดแสดง "จันทร์โกเมน" บัวหลวงพันธุ์ใหม่มีหลายสีในดอกเดียว พร้อมเตรียมทูลเกล้าฯ ถวาย หลังเพาะพันธุ์ได้จำนวนมาก

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2552 ในชื่องาน "มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2552" เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 9 ส.ค.52 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ ศ.ดร.มรว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมคณะเฝ้าฯ รับเสด็จ

ทั้งนี้ ทรงมีพระราชดำรัสทรงเปิดงานว่า ขอแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 30 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานเป็นหน่วยงานหลักในการเสริมสร้างสมรรถนะ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็นปัจจัยสำคัญในการที่ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้า กระทรวงฯ ยังได้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์โดยสม่ำเสมอเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้านเมืองของเราเองและรอบโลก ให้ประชาชนทั่วไปได้เกิดความรู้ความเข้าใจ เท่าทันความเปลี่ยนแปลง เป็นไปของแหล่งที่อยู่อาศัยของตน

"กิจกรรมลักษณะนี้จะเป็นเครื่องจูงใจให้เยาวชนไทยเกิดความสนใจใฝ่รู้ในศาสตร์แขนงนี้อีกด้วย การดำเนินการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนับว่ามีส่วนช่วยยกระดับสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งปัญญา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำพาให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ยั่งยืน บรรลุผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ"

จากนั้นสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัล แก่ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น และรางวัลโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย แล้วทรงเปิดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาวิทยาศาสตร์ไทย" และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันในฐานะทรงเป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย"

จากนั้นสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมทั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการภายในงานมหกรรมฯ ซึ่งมีการจัดแสดงฟอสซิลกระดองเต่าล้านปีด้วย

ทางด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วท. ได้กล่าวรายงานว่า ปีนี้เป็นปีที่ 30 แห่งการสถาปนากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ผลงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่นำไปสู่การสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างคุณภาพีวิตแก่ประชาชน

สำหรับนิทรรศการหลักนั้น ได้จัดนิทรรศการร่วมเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญทางวิทยาศาสตร์โลก คือ การเฉลิมฉลองปีดาราศาสตร์สากล และ 150 ปีทฤษฎีวิวัฒนาการของชารล์ส ดาร์วิน และยังคงให้ความสำคัญในการสร้างความเข้าใจ และสร้างความตระหนักในภาวะวิกฤติของโลกด้านน้ำ พลังงานและภาวะโลกร้อน

ทั้งนี้หลังตามเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ ดร.คุณหญิงกัลยา ได้เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงสนพระทัยในทุกๆ บูธแสดงนิทรรศการ โดยเฉพาะการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับคนพิการ อย่างหหารอายุ 21-22 ปี ที่ถูกระเบิดจนพิการนั้นจะ่ช่วยเหลือและฟื้นฟูได้อย่างไร หรือโรงเรียนวิทยาศาสตร์ในชนบทที่ทรงให้การสนับสนุนไว้ ได้ตรัสถามถึงความก้าวหน้าและปัญหาในการดำเนินงาน

“ด้านผลงานของกระทรวงกลาโหมก็สนพระทัย ทรงรับฟังด้วยความสนพระทัย อย่างงานด้านแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์สำหรับฝึกยุทธวิธีของทหารเรือแบบออนไลน์ โดยไม่ต้องลงทุนสูง ทรงชื่นชมกิจกรรมของทหาร หรืออิฐสร้างบ้านที่ทำจากดินลูกรังผสมปูนก็ทรงตรัสถามถึงความแตกต่างจากที่ทรงเคยทอดพระเนตรมาก่อนแล้ว ทรงใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงด้วยความสนพระทัย" ดร.คุณหญิงกัลยากล่าว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เผยอีกว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงสนพระทัยบูธของต่างประเทศด้วย อาทิ บูธจากเยอรมนี ทรงตรัสว่าได้ทราบเกี่ยวกับโครงการส่งเยาวชนเข้าฟังปาฐกถาจากนักวิทยาศาสตร์โนเบล 30-40 คนจากหนังสือของเยอรมัน แล้วทรงสนับสนุนให้เยาวชนไทยได้ร่วมในโครงการดังกล่าว หรือบูธของญี่ปุ่นที่จัดแสดงคลิปมนุษย์อวกาศนำของพระราชทานคือพระพิฆเนศไม้ขึ้นไปประจำบนสถานีอวกาศเป็นเวลา 3 เดือน และได้ทรงตรัสว่าพระพิฆเนศคือ พระเจ้าแห่งความรู้ เป็นต้น

ทางด้าน ดร.พิชัย สนแจ้ง ผอ.อพวช.ในฐานะประธานจัดงาน กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ปีนี้มีกระทรวงต่างๆ เข้าร่วมถึง 7 กระทรวง และนอกจากเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว ปีนี้ยังมีกิจกรรมและพื้นที่ในการจัดกิจกรรมมากขึ้น

พร้อมกันนี้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.ได้เตรียมบัวหลวงพันธุ์ "จันทร์โกเมน" ทูลเกล้าฯ ถวายทรงทอดพระเนตรภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ โดย ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สทน.เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า บัวพันธุ์ดังกล่าวได้พัฒนามาจากบัวหลวงสายพันธุ์ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งมีสีเหลือง ตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งปกติบัวหลวงของไทยมีเพียง 2 สีคือสีขาวและสีชมพู

หากแต่เมื่อนำบัวหลวงสีเหลืองจากสหรัฐฯ มาปลูกในเมืองไทย ปรากฏว่าไม่ออกดอก จึงได้ปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีฉายรังสีแกมมา จนกระทั่งในปี 2550 ได้นำไปทดลองที่เชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งมีสภาพอากาศหนาวและมีช่วงกลางคืนยาวคล้ายที่สหรัฐฯ จึงปรากฏว่าบัวออกดอก และได้นำมาจัดแสดงภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ของปีดังกล่าว

"บัวหลวงสีเหลือง" คือชื่อพันธุ์ของบัวหลวงจากสหรัฐฯ ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีฉายรังสี จากนั้น สทน.ได้นำบัวหลวงพันธุ์นี้ผสมกับบัวหลวงพันธุ์ไทยสีชมพู จนกระทั่งปี 2552 ได้บัวหลวงพันธุ์ "จันทร์โกเมน" ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งโดย ดร.เสริมลาภ วสุวัต ประธานชมรมผู้รักบัวแห่งประเทศไทย

บัวหลวงพันธุ์ใหม่นี้สามารถเปลี่ยนสีได้ 3 สีในดอกเดียว โดยเมื่อเป็นดอกตูมมีเขียว เมื่อเริ่มแย้มวันแรกเป็นสีชมพู วันถัดไปเป็นสีชมพู-เหลือง วันที่ 3 เป็นสีเหลือง แล้ววันถัดๆ ไปดอกบัวจะออกสีเหลืองนวล ซึ่ง ดร.สมพรกล่าวว่า ปกติบัวหลวงจะออกดอกนาน 7 วัน

"ตอนนี้เราปลูกบัวหลวงให้ออกดอกที่กรุงเทพฯ ได้แล้ว ตอนนี้เหง้าบัวอยู่ 4-5 หัว และออกดอกแล้ว 3 ดอก ซึ่งเราจะขยายพันธุ์ให้มีจำนวนมากๆ จากนั้นจะทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพฯ ต่อไป" ดร.สมพรกล่าว กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ผอ.สทน.บอกอีกว่า นอกจากบัวหลวงพันธุ์ใหม่แล้ว สทน.ยังมีงานเกี่ยวกับผงไหมที่ผ่านการฉายรังสีแกมมาทำให้ได้พันธะสั้นลง ซึ่งนำไปผสมน้ำแล้วทดลองฉีดในนาข้าวที่ จ.อ่างทอง เป็นพื้นที่ 40 ไร่ พบว่านาข้าวได้ผลผลิตเพิ่ม 30% และมีศัตรูรบกวนน้อยลง ซึ่งผงไหมนี้มีคุณสมบัติเป็นเหมือนฮอร์โมนที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโต โดยขนาดที่เล็กลงช่วยให้ซึมเข้าสู่ปากใบได้ดีขึ้น เบื้องต้นได้เริ่มถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรบ้างแล้ว โดยผู้สนใจอาจทำง่ายๆ ด้วยการนำเศษไหมไปต้มโดยไม่ต้องฉายรังสีก็ได้ ซึ่งจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 10%

สำหรับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ นี้ จัดขึ้นระหว่าง 8-23 ส.ค.52 ณ ฮอลล์ 2-8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ตั้งแต่ 09.00-20.00 น. โดยมีนิทรรศการที่น่าสนใจ อาทิ "เปิดโลกวิทยาศาสตร์" นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ที่จัดแสดงบรรยากาศถนนเจริญกรุงสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ในพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

"เทิดไท้พระบิดา...พระบารมีปกเกล้าชาวไทย" นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งแห่งโนโลยีไทยและพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย นำเสนอ 23 หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนิทรรสวการท่องจักรวาลและเทคโนโลยีอวกาศ ฉลองปีดาราศาสตร์สากล ครบรอบ 400 ปี กาลิเลโอส่องกล้องโทรทรรศน์สำรวจดวงดาว โรงภาพยนตร์ 3 มิติ แสดงการเคลื่อนที่ของดวงดาวในเอกภพ และเดินทางไปกับกระสวยอวกาศในรูปแบบ 3 มิติ เป็นต้น
ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
ทรงทอดพระเนตรโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียน
ทรงทอดพระเนตรความสามารถของเยาวชนออทิสติก
 ดร.สมพร จองคำ กับบัวหลวง จันทร์โกเมน ซึ่งบานเป็นวันที่ 4
ภาพบัวหลวง จันทร์โกเมน ตั้งแต่ยังตูม เริ่มแย้มและบาน ซึ่งสีสันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น