xs
xsm
sm
md
lg

Ernest Rutherford ผู้พบโปรตอน และเป็นบุคคลแรกที่เล่นแร่แปรธาตุได้สำเร็จ (1)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

E.Rutherford
ในปี 2474 Ernest Rutherford ศาสตราจารย์ฟิสิกส์ด้านการทดลองแห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ในอังกฤษได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ The Times เนื่องในโอกาสหนึ่งศตวรรษแห่งการค้นพบปรากฏการณ์เหนี่ยวนำไฟฟ้าของ Michael Faraday โดยได้ยกย่องว่า Faraday คือ นักวิทยาศาสตร์ด้านการทดลองผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก คำชื่นชมที่เขาเขียนให้ Faraday นี้ ใช้ได้ดีกับตัวเขาเอง เพราะเขาคือ ผู้พบนิวเคลียสของอะตอม พบโปรตอน เป็นมนุษย์คนแรกที่เล่นแร่แปรธาตุจากไนโตรเจนเป็นออกซิเจน พบว่าอะตอมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ พบว่าเวลานิวเคลียสของอะตอมสลายตัวจะทำให้เกิดกัมมันตรังสี แต่ทั้ง ๆ ที่ Rutherford พบนิวเคลียส เขาก็ไม่รู้ว่าในนิวเคลียสมีพลังงานนิวเคลียร์ เพราะเขาเชื่อว่ามนุษย์ไม่สามารถนำพลังงานใดๆ ในนิวเคลียสมาใช้งานได้ และ Rutherford ได้ตายจากโลกไปก่อนจะได้เห็นระเบิดปรมาณู

อย่างไรก็ตาม Albert Einstein ได้เคยกล่าวสดุดี Rutherford ว่าเป็นนักฟิสิกส์ด้านการทดลองผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเมื่อ Rutherford ถึงแก่กรรม Niels Bohr ผู้ซึ่งได้รับเกียรติเป็นผู้แถลงข่าวการเสียชีวิตของ Rutherford ถึงกับน้ำตาคลอ ส่วนในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ Rutherford เขาคือ อภิมหาปราชญ์ที่ชาวนิวซีแลนด์ทุกคนภูมิใจ และรัก

Ernest Rutherford เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2414 (รัชสมัยสมเด็จพระปิยมหาราช) ที่หมู่บ้าน Brightwater ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมือง Nelson ใน New Zealand ในครอบครัวที่มีลูกชาย 7 คน และลูกสาว 5 คน บิดา James เคยมีอาชีพเป็นช่างซ่อมรถที่เมือง Perth ในออสเตรเลีย แต่ได้อพยพไปอยู่ New Zealand และประกอบอาชีพทำฟาร์ม เพราะครอบครัวมีขนาดใหญ่ บิดาจึงหัดให้ลูกทุกคนมีนิสัยประหยัด และทำงานหนัก ส่วนมารดา Martha มีนามสกุลเดิมว่า Thompson ได้สนับสนุนให้ลูกทุกคนรักเรียนหนังสือ ชีวิตง่ายๆ ในวัยเด็กของ Rutherford ทำให้เขาเป็นคนมีนิสัยตรงไปตรงมา

Rutherford มิได้เป็นเด็กที่เรียนหนังสือเก่ง แต่เป็นคนที่มีความพยายามมากจึงประสบความสำเร็จ เพราะทางบ้านมีฐานะไม่ค่อยดี ดังนั้น เด็กชาย Rutherford จึงสอบชิงทุนทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น เมื่อจบชั้นประถมศึกษา ได้สอบชิงทุนเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษา เขาสอบได้ที่ 2 เพราะคนที่ได้ที่ 1 สอบภาษาอังกฤษไม่ผ่าน Rutherford จึงได้ทุนแทน และเมื่อจบการศึกษาระดับมัธยม ก็ได้สอบชิงทุนเรียนต่อที่ Canterbury College ที่ Christchurch ถึงสอบเข้าได้ แต่ก็ไม่ได้ทุน เพราะคะแนนไม่ดี จึงเรียนต่อที่โรงเรียนอีก 1 ปี และสอบเข้าอีก คราวนี้ได้ทุน เพราะคนที่ได้ที่ 1 สละสิทธิ์ และถึงจะได้รับรางวัลการสอบคณิตศาสตร์ทุกปีขณะอยู่ที่วิทยาลัย Rutherford ก็มิใช่คนเรียนเก่งมาก เพราะปีหนึ่งๆ มีคนได้รางวัลนี้ 4 – 5 คน

ในวัยเรียน Rutherford ชอบอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์มาก และชอบทำของเล่น เช่น กังหันน้ำ และนาฬิกา เป็นต้น และไม่มีครูหรือใครใดสนใจเขามากเพราะครูทุกคนคิดว่า เมื่อโตขึ้น Rutherford คงเป็นชาวนาเหมือนพ่อ Rutherford สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมวิชาเอกฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ เมื่ออายุ 22 ปี และได้ศึกษาต่อปริญญาโทอีก 1 ปี จนกระทั่งได้ปริญญา M.A. แล้วสอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

ขณะรอฟังข่าวทุน Rutherford ได้งานทำเป็นครูสอนโรงเรียนมัธยม และได้เข้าพิธีหมั้นกับ May Newton ผู้เป็นบุตรสาวของเจ้าของบ้านที่ตนเช่าห้องอยู่ ในยามว่าง Rutherford ได้ใช้เวลาประดิษฐ์อุปกรณ์ส่งสัญญาณคลื่นวิทยุที่ Heinrich Hertz เพิ่งพบ รวมถึงประดิษฐ์อุปกรณ์รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สามารถใช้สื่อสารระยะไกลด้วย ในที่สุดข่าวการได้ทุนไปเรียนต่อก็มาถึง Rutherford เล่าว่า ในวันนั้น เขากำลังขุดมันฝรั่งอยู่ในไร่ที่เมือง Pungarehu ทันทีที่แม่นำโทรเลขมาแจ้งข่าว Rutherford ได้วางจอบลงกับพื้นแล้วบอกแม่ว่า ต่อแต่นี้เขาจะไม่ขุดมันฝรั่งอีกแล้ว

Rutherford วัย 24 ปี เดินทางด้วยเรือถึงอังกฤษในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2438 เพื่อเข้าทำงานเป็นนักวิจัยกับ J. J.Thomson (ผู้พบอิเล็กตรอนในปีนั้น และได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในอีก 1 ปีต่อมา) เพราะ Thomson เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องปรากฏการณ์แม่เหล็กไฟฟ้ามากที่สุดในโลก ณ เวลานั้น และเมื่อ Thomson ได้เห็นเครื่องรับ–ส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ Rutherford ประดิษฐ์ เขารู้สึกพอใจและประทับใจมาก จึงให้ Rutherford เป็นผู้ช่วยวิจัยในห้องปฏิบัติการ Cavendish และตั้งใจจะให้วิจัยเรื่องเครื่องรับ – ส่งสัญญาณต่อ

แต่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2439 นั้นเอง โลกก็ได้รับข่าวใหญ่ว่า Wilhem Konrad Rontgen พบรังสีเอ็กซ์ที่มหาวิทยาลัย Wurzburg ในเยอรมนี ซึ่งธรรมชาติของรังสีนี้ยังเป็นเรื่องลึกลับ Thomson จึงให้ Rutherford ศึกษาอิทธิพลของรังสีเอ็กซ์ต่อการนำไฟฟ้าในแก๊ส ซึ่ง Rutherford ก็ได้ตอบตกลง และเลื่อนการแต่งงานของตนออกไป

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
N. Bohr
Marie and Pierre Curie
กำลังโหลดความคิดเห็น