xs
xsm
sm
md
lg

นายกชี้ปัญหาใหญ่นักวิทย์ไทยทำงานซ้ำซ้อน-ต่อยอดไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรีเปิดประชุม "สมัชชาวิทย์" ชี้นักวิทยาศาสตร์ไทยยังทำงานซ้ำซ้อน กระจัดกระจายและต่อยอดไม่ได้เท่าที่ควร เป็นโจทย์สำคัญ หากแก้ไขได้จะเป็นหัวใจในการผลักดันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าต่อไป และยอมรับสัดส่วนงบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยยังต่ำ เผยพยายามผลักดันให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยเป็น 1%

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัมนา ครั้งที่ 8 (วทน.) ซึ่งจัดขึ้นเม่ื่อวันที่ 24 ก.ค.52 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.ยง-อ๊ก อัน (Dr.Yong-Ok Ahn) ที่ปรึกษาสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนาโน (Institute of Nano Science and Technology) มหาวิทยาลัยฮันยาง (Hanyang University) ประเทศเกาหลีใต้ เข้าร่วม และมีผู้ร่วมประชุมจากภาครัฐ เอกชน นักเรียนและนักศึกษาอีกราว 1,000 คน

พร้อมกันนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ "สร้างชาติด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม" ภายในการประชุมซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์เข้าร่วมฟังด้วย โดยกล่าวว่า เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ยอมรับว่าไทยมีความจำกัดและไม่สามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าได้อย่างเต็มที่ จึงจำเป็นต้องทบทวนเรื่องการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้หากสามารถปรับโครงสร้างพื้นฐานในช่วงวิกฤตได้จะสร้างความมั่นคงให้กับประเทศยิ่งขึ้น

โดยแนวทางในการปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยทำให้เศรษฐกิจของไทยเข้มแข็งนั้น อันดับแรกคือเรื่องกำลังคนซึ่งสำคัญที่สุด โดยต้องมีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อเพิ่มสัดส่วนของผู้ศึกษาวิทยาศาสตร์ในระดับ ม.ปลาย และอุดมศึกษาให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้รับนโยบายตรงนี้แล้ว ถัดมาคือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่ใช่เพียงเชิงกายภาพเท่านั้น แต่เทคโนโลยียังมีสำคัญไม่แพ้กัน และเทคโนโลยีไม่จะเป็นต้องแพงหรือใหม่ที่สุด แต่เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม

อันดับที่สามคือกฎกติกาที่สำคัญกับทุกสังคม สำหรับกฎกติกาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ระบบค่าตอบแทนและการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานั้นนั้นสำคัญและเป็นแนวทางไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้หากหลักประกันด้านทรัพย์สินทางปัญญาอ่อนแอ ตรงจุดนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าทางกระทรวงพาณิชย์กำลังจัดทำระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอยู่

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ในการมองไปข้างหน้าของรัฐบาลนั้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถเข้าไปเสริมในทุกภาคส่วนของสังคม เช่น การทำให้ภาคการเกษตรเข้มแข็ง ทั้งนี้มีข้อเท็จจริงว่าประสิทธิภาพและผลิตภาพด้านการเกษตรของเรานั้นต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงอย่างยิ่ง ตรงนี้เป็นจุดที่รับบาลมองว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีส่วนปรับปรุงแก้ไขได้ อีกทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังมีส่วนช่วยด้านความมั่นคงของชาติได้ เพราะตอนนี้ผู้ก่อการร้ายเองก็ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการก่อความวุ่นวาย ดังนั้นผู้ที่ดูแลจึงต้องก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเช่นกัน

อย่างไรก็ดี นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าปัญหาด้านวิทยาศาสตร์ของไทยคือเรื่องระบบบริหารจัดการ ที่การหลอมรวมศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ไทยยังมีข้อจำกัดอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ไทยมีหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์อยู่มาก แต่งานวิจัยยังกระจาย และหลายครั้งที่งานซ้ำซ้อน และไม่สามารถต่อยอดได้เท่าที่ควร ตรงนี้ควรเป็นโจทย์สำคัญ ซึ่งหากแก้ไขได้จะเป็นหัวใจในการผลักดันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยใหก้าวหน้า

สุดท้ายนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อให้เป็นฐานสำหรับการในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยในตอนหนึ่งของปาฐกถาได้กล่าวว่างบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ของไทยนั้นยังต่ำอยู่มาก เพียงแค่ 0.25-0.26% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งนี้จะพยายามเพิ่มให้ได้ 1% และตอนนี้ได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มให้อีก 9,000 ล้านบาท
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

กำลังโหลดความคิดเห็น