สุริยุปราคาเต็มดวง นอกจากเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สุดแสนมหัศจรรย์ และสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้คนที่สนใจเฝ้ารอชมแล้ว นักดาราศาสตร์ยังตั้งตารอคอยช่วงเวลาที่จะเกิดปรากฏการณ์นี้ เพื่อหวังใช้ช่วงอันมีค่าเพียงไม่กี่นาทีที่อาทิตย์ดับแสงลงศึกษาปรากฏการณ์อื่นๆ ที่ไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลาปกติทั้งกลางวันและกลางคืน
1. ศึกษาพื้นผิวบนดวงจันทร์
ก่อนที่ดวงจันทร์จะบังดวงอาทิตย์จนมิดทั้งดวงในสุริยุปราคาเต็มดวง แสงอาทิตย์บางส่วนที่ยังเหลืออยู่จะส่องลอดทะลุผ่านบริเวณที่เป็นหุบเขา หุบเหวลึก และหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ ทำให้เกิดแสงเป็นประกายแวววาวเหมือนลูกปัด จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์” (Baily’s Beads) ซึ่งนักดาราศาสตร์จะใช้ช่วงเวลานี้ ศึกษาสภาพพื้นผิวบนดวงจันทร์ได้
2. ศึกษาชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์
ขณะที่ดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังมิดทั้งดวง จะสังเกตเห็นแสงเรืองรองออกมารอบๆ ดวงจันทร์ แสงดังกล่าวคือบรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ เรียกว่าชั้นโคโรนา (Corona) และในบางครั้งยังอาจสังเกตเห็นพวยก๊าซ ที่พุ่งออกมาจากบรรยากาศของดวงอาทิตย์ด้วย ซึ่งโดยปกติจะมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้กัน
นักดาราศาสตร์จึงใช้ช่วงจังหวะเวลานี้ศึกษาชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ และโคโลนาจะสิ้นสุดลงทันทีเมื่อดวงจันทร์เริ่มเคลื่อนออกจากการบังดวงอาทิตย์มิดดวงและเห็นเป็นปรากฏการณ์แหวนเพชรและลูกปัดเบลีย์อีกครั้งหนึ่ง
3. ศึกษาสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศและยานอวกาศ ออกไปศึกษาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ได้โดยตรง และได้ข้อมูลที่ละเอียดมากกว่า ทำให้การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ และพื้นผิวบนดวงจันทร์จากปรากฏการณ์สุริยุปราคาในปัจจุบันลดบทบาทลงอย่างมาก
แต่นักวิทยาศาสตร์เริ่มหันมาสนใจศึกษาทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงกันมากยิ่งขึ้น เช่น ศึกษาการเปลี่ยนแปลงค่าความสว่างของดวงอาทิตย์, การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ, ความชื้น, ลม และเมฆ
ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง จะมีลมสุริยคราสเกิดขึ้น เพราะเกิดการเคลื่อนที่ของลมจากที่อากาศเย็น ไปยังที่อากาศร้อนกว่า หรือบางครั้งจะมีฝนตกทันทีหลังจากที่สุริยุปราคาเต็มดวงสิ้นสุดลงในขณะที่เวลานั้นบนท้องฟ้ามีเมฆหนา ครึ้มเนื่องจากอุณหภูมิของชั้นบรรยากาศด้านบนเย็นลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เมฆกลายเป็นฝนตกลงมา