xs
xsm
sm
md
lg

แนะรักษา "มะเร็ง" แบบใหม่ ไม่ต้องกำจัด แต่ประคองอย่าให้ลุกลาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่อง PET/CT scanner (ภาพประกอบจาก www.scientificamerican.com)
ปัญหาผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด ทำให้ทั้งคนป่วยและคนไม่ป่วยหวั่นหวาดไปตามๆ กัน ขณะที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งบางรายเสียชีวิตเพราะฤทธิ์เคมีบำบัดก็มี แต่ตอนนี้แพทย์เสนอแนะวิธีใหม่ ไม่ต้องกำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกายด้วยยาขนานใหญ่ แต่แค่พยุงไว้ไม่ให้ลุกลามและไม่มีอาการเจ็บป่วยก็อยู่ดีมีสุขได้เหมือนกัน

"จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่พยายามรักษามะเร็ง แต่เก็บเนื้อร้ายนั้นไว้และไม่ทำให้มันลุกลามใหญ่โตไปมากกว่าเดิม?" ข้อสงสัยที่เป็นทั้งข้อเสนอแนะของ โรเบิร์ต เกเทนบาย (Robert Gatenby) รังสีแพทย์ จากศูนย์โรคมะเร็งมอฟฟิตต์ (Moffitt Cancer Center) มลรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ตามที่ระบุในไซเอนติฟิคอเมริกัน

เกเทนบายให้เหตุผลว่า การรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด ที่ผู้ป่วยต้องได้รับยาฤทธิ์แรงๆในปริมาณมาก เพื่อให้ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ไปมีผลข้างเขียงต่อเซลล์ที่ดีและระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ทำให้เซลล์มะเร็งที่ดื้อยา สามารถเติบโตและลุกลามได้อย่างรวดเร็วจนแพทย์ไม่สามารถยับยังได้ ฉะนั้นแทนที่เราจะรักษามะเร็งด้วยวิธีดังกล่าว เราน่าจะรักษาด้วยการทำให้ก้อนเนื้อร้ายบริเวณนั้นมีเสถียรภาพในระดับที่ผู้ป่วยสามารถทนทานได้ และไม่ลุกลามใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีก

ในทางปฏิบัติหมายความว่า แพทย์จะต้องระบุได้ว่าก้อนเนื้อร้ายขนาดประมาณแค่ไหน ที่ยังทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากที่สุด ซึ่งแพทย์จะต้องตรวจติดตามการเจริญเติบโตของมะเร็งในผู้ป่วยด้วยเครื่อง เพ็ท/ซีที สแกนเนอร์ (PET/CT scanner ) และควบคุมการให้ยาต้านมะเร็งหรือเคมีบำบัดเพื่อรักษาก้อนมะเร็งให้อยู่ในระดับคงที่ได้อย่างแม่นยำ

เกเทนบายให้สัมภาษณ์แก่ไซเอนติฟิคอเมริกันว่า รูปแบบการรักษามะเร็งในปัจจุบันนี้มาจากการที่แพทย์พยายามรักษาการติดเชื้อ มองหายาปฏิชีวนะสำหรับฆ่าเซลล์มะเร็ง และยุทธวิธีที่ใช้ในการรักษาทั่วไปมากที่สุดคือการให้ยาในปริมาณโดสสูงๆ ให้โดสยาสูงที่สุดเท่าที่จะได้ในช่วงเวลาที่สั้นที่สุด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาแบบคลาสสิคที่ทุกคนมักทำกันเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย

"เมื่อรักษาด้วยการให้ยาโดสสูงๆ เซลล์มะเร็งที่อ่อนแอและไวต่อยาก็จะลดลงได้ ส่วนเซลล์ที่ดื้อยาก็จะเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตราที่สูงที่สุด เซลล์ที่ดื้อยาก็จะมีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆในขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดเข้าไปมากขึ้นๆ และจากการศึกษาด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์พบว่ามันจะประชากรเซลล์ที่ดื้อยาเพิ่มขึ้นเสมอในระหว่างการรักษาเนื้อร้าย" เกเทนบาย กล่าว

เกเทนบายบอกว่าเรารักษามะเร็งเหมือนรักษาโรคติดเชื้อ แต่มันเป็นความเหมือนที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเราควรใช้แนวทางที่เหมือนกัน แต่ไม่ต้องถึงกับขจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปเพราะมันอาจไม่ได้ผล และเราก็เรียนรู้วิธีการที่จะให้มันมีอยู่ต่อไปในระดับที่เหมาะสมแทน หรือแบบที่ในทางการเกษตรเรียกว่า การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (integrated pest management)

จากการศึกษาแบบจำลองคณิตศาสตร์ทำให้แพทย์รังสีผู้นี้พบยุทธวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับมะเร็งที่ไม่มีทางรักษาให้หายได้ ด้วยการไม่ใช้วิธีฆ่าเซลล์มะเร็งให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ฆ่าเซลล์มะเร็งให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ต้องทำให้เซลล์ที่อ่อนไหวต่อเคมีบำบัดถูกทำลายลงหรือลดจำนวนลงไปด้วย เพราะเซลล์เหล่านี้จะช่วยหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเนื้อร้ายได้

จากนั้นเขาได้ทดลองศึกษากับหนูทดลองที่เป็นมะเร็งรังไข่ ซึ่งหากรักษามะเร็งรังไข่ด้วยเคมีบำบัด คาร์โบพลาติน (carboplatin) ในปริมาณโดสสูง เนื้อร้ายก็จะค่อยๆหายไปจนเหมือนหายเป็นปกติ แต่ภายในไม่กี่สัปดาห์มันก็จะกลับมาอีก และลุกลามจนทำให้สัตว์ทดลองเสียชีวิตได้

"แทนที่เราจะทำการรักษาแบบเดิมๆ ด้วยการให้ยาในปริมาณตามที่กำหนด ภายในช่วงเวลาเท่านั้นเท่านี้ เราก็กำหนดขนาดของมะเร็งที่เหมาะสมที่เราจะรักษาไว้ และให้ยาในปริมาณที่พอเหมาะที่จะช่วยทำให้มะเร็งคงที่และไม่ลุกลามไปมากกว่าเดิมได้ โดยให้ยาในปริมาณที่น้อยลง และให้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถทำให้สัตว์ทดลองมีชีวิตอยู่ต่อได้โดยไม่มีอาการเจ็บป่วยจากมะเร็งเลย แต่นี่ยังเป็นเพียงการพิสูจน์ในขั้นต้นเท่านั้น" เกเทนบาย กล่าว

อย่างไรก็ดี แนวคิดการรักษามะเร็งด้วยวิธีของเกเทนบายได้รับการตอบรับที่เสียงส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อถือและยังหวาดกลัวผลการรักษา ทั้งแพทย์และผู้ป่วยก็ยังไม่ยอมรับวิธีการนี้ และเรื่องของจิตวิทยาก็เป็นปัญหาสำคัญที่ลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องอาศัยความจำเป็นที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลง

"การรักษามะเร็งที่เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันคือทำให้มะเร็งมีขนาดลดลง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร เพราะลดลงเฉพาะเซลล์มะเร็งที่ไวต่อยาเท่านั้น หากคุณพยายามให้ยารักษากับผู้ป่วย 100 คน และคุณไม่สามารถรักษาบางคนได้ในบางกรณี คุณจะต้องตัดสินใจเลือกวิธีนั้นเพื่อการรักษา ในกรณีที่วิธีเดิมใช้ไม่ได้ผล ซึ่งมันเป็นการตัดสินใจโดยสามัญสำนึกอยู่แล้ว" เกเทนบาย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น