กรมวิทย์บริการ เปลี่ยนโลโก้ปรับลุคการทำงานก่อนเป็น "องค์การมหาชน" หารายได้เลี้ยงตัวเอง อธิบดีเผยกรมซ่อนตัวอยู่ใน ถ.พระราม 6 มา 118 ปี แต่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ขณะที่ภาคอุตฯ ยังรู้จักเพียงผิวเผิน พร้อมเตรียมจัดตั้ง "ศูนย์บริการร่วม" อีก 2-3 เดือนเพื่อคัดกรองตัวอย่างก่อนส่งทดสอบในห้องแล็บ ลดเวลาส่งตัวอย่างผิดแล็บ
นายปฐม แหยมเกตุ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวระหว่างแถลงข่าว "ยุทธศาสตร์เชิงรุกและการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ พร้อมโลโก้ใหม่ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ" เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.52 ณ อาคารตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ ว่ากรมวิทยาศาสตร์บริการมีประวัติมายาวนานถึง 118 ปี โดยเริ่มต้นจากการเป็นกรมเล็กๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และมีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นกรมวิทยาศาสตร์บริการเมื่อปี 2522 แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของกรมทำงานแบบนักวิชาการและเก็บตัวเงียบ จึงไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
"เราซุกซ่อนตัวอยู่ใน ถ.พระราม 6 อย่างเงียบๆ มานาน จนคนรู้จัก รพ.รามาธิบดีมากกว่า เราจึงคิดว่าต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน เร่งรัดงานหลายๆ ด้านและปรับการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก" นายปฐมกล่าว และใหสัมภาษณ์ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์พร้อมสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งว่า กรมเตรียมปรับเปลี่ยนเป็น "องค์การมหาชน" ซึ่งมีความพร้อมและควรจะได้ปรับเปลี่ยนตั้งแต่ปี 2551 ที่ผ่านมาแล้ว แต่เกิดปัญหาทางการเมืองเสียก่อน ทั้งนี้จะได้เสนอเรื่องขึ้นไปใหม่ภายในเดือน มิ.ย.นี้
สำหรับการปรับเปลี่ยนการทำงานนั้น นายปฐมบอกว่าเดิมกรมทำงานแบบราชการและมีแผนกรับผิดชอบหลายด้าน แต่เมื่อเป็นองค์การมหาชนจะเน้นด้านการวิเคราะห์ทดสอบซึ่งเป็นจุดเด่นของกรม โดยเฉพาะด้านการวิเคราะห์อาหารและการตรวจสอบ "พลาสติกไซเซอร์" ซึ่งเป็นสารผสมในการผลิตปะเก็นพลาสติกชนิดพีวีซี (PVC) สำหรับใช้กับฝาโลหะของขวดแก้วเพื่อให้ปิดสนิท ซึ่งปกติกรมวิทยาศาสตร์ถือเป็นอันดับ 1 ของประเทศในเรื่องนี้อยู่แล้วแต่ยังต้องพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเปิดตัวกับลูกค้ามากขึ้น แทนที่จะรอให้ลูกค้าเดินเข้ามารับบริการ
"ภาคอุตสาหกรรมยังรู้จักเราแบบผิวเผิน บางการทดสอบเขาส่งไปทดสอบต่างประเทศ ทั้งที่เราทดสอบได้ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายแพง" นายปฐมกล่าว และบอกด้วยว่า การเป็นหน่วยงานราชการทำให้ลงทุนซื้อเครื่องมือแพงๆ ที่หน่วยงานเอกชนไม่กล้าลงทุน แต่เครื่องมือเหล่านั้นยังใช้งานไม่เต็มที่ หากเป็นองค์การมหาชนแล้วจะสามารถใช้ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งต่อไปจะเปิดการทำงานเป็นกะเพื่อให้เดินเครื่องมือได้เต็มที่ ขณะเดียวกันต้องมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย
นอกจากนี้อีก 2-3 เดือน จะได้เปิดศูนย์บริการร่วมเพื่อทำคัดกรองรายการที่ลูกค้านำมาให้ทดสอบ เนื่องจากที่ผ่านมายังมีการติดต่อสื่อสารกันไม่ดี ทำให้ส่งตรวจสอบไปผิดห้องปฏิบัติการและทำให้เสียเวลา ซึ่งศูนย์นี้จะช่วยให้การทำงานกระชับและแม่นยำขึ้น โดยที่ผ่านมามีลูกค้าเข้ามาติดต่อปีละ 2,000-3,000 ราย และนำตัวอย่างมาทดสอบประมาณ 1 ล้านรายการ ทั้งนี้หากปรับเปลี่ยนการทำงานขององค์กรแล้วคาดว่าจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่า
พร้อมกันนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการได้เปิดตัวโลโก้ใหม่ของกรม ซึ่งคัดเลือกจากการประกวด โดยโลโก้ดังกล่าวเป็นผลงานของ นายพีรวิชญ์ เจริญพันธ์ นิสิตปี 4 ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกร์ณมหาวิทยาลัย ซึ่งชนะเลิศการประกวดดังกล่าว โดยเขาได้บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ทราบข่าวการประกวดในช่วงใกล้ปิดรับสมัครแล้ว โดยโลโก้ที่ออกแบบนั้นได้เปลี่ยนสัญลักษณ์โมเลกุลทางวิทยาศาสตร์ให้มีความเป็นศิลปะมากขึ้น และปรับให้มีความทันสมัยมากขึ้น.