xs
xsm
sm
md
lg

มช. สกัดไซโลสจากเปลือกข้าวโพดแห้ง ผู้ป่วยเบาหวานใช้แทนน้ำตาลได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวผกามาศ สัปตา (สวทช.)
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. - นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบการผลิตน้ำตาลไซโลสจากเปลือกข้าวโพดแห้งด้วยวิธีทางชีวภาพให้ปริมาณน้ำตาลไซโลสสูง สามารถนำใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตน้ำตาลไซลิทอล หรือสารให้ความหวานสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน นับเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ทั้งยังลดปัญหามลพิษจากการเผากำจัดเปลือกข้าวโพด

ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีข้าวโพดซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรปริมาณมาก ในแต่ละปีมีผลผลิตข้าวโพดสูงราว 20,000 ตัน ทำให้มีปริมาณเปลือกข้าวโพดสูงถึง 3,333.34 ตัน ซึ่งเปลือกข้าวโพดเหล่านี้จะถูกกำจัดด้วยการเผาทิ้ง ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ดังนั้นเพื่อไม่ให้สูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ นางสาวผกามาศ สัปตา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project : JSTP) จึงได้ศึกษาวิธี “ผลิตน้ำตาลไซโลสจากเปลือกข้าวโพดด้วยวิธีทางเคมีและชีวภาพ” โดยมี ศ.ดร.สายสมร ลำยอง เป็นที่ปรึกษา

นางสาวผกามาศ กล่าวว่า เปลือกข้าวโพดมีเฮมิเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบที่สามารถย่อยให้เป็นน้ำตาลไซโลสได้ ในงานวิจัยจึงสนใจศึกษาวิธีการผลิตน้ำตาลไซโลสจากเปลือกข้าวโพดแห้งซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรของชาวอำเภอแม่แจ่มทั้งวิธีทางเคมี คือหมักเปลือกข้าวโพดกับกรดซัลฟิวริกเข้มข้น 5% แล้วปรับค่า pH ให้เป็นกลางโดยใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ และวิธีทางชีวภาพ คือนำเปลือกข้าวโพดทำเป็นส่วนผสมในอาหารเลี้ยงเชื้อรา Thermoascus aurantiacus

ผลการวิจัยพบว่า ปริมาณน้ำตาลไซโลสที่ได้จากการสกัดด้วยวิธีทางเคมี คือ 0.002 กรัม / กรัมเปลือกข้าวโพด ขณะที่ปริมาณน้ำตาลไซโลสที่ได้จากการสกัดด้วยวิธีทางชีวภาพ คือ 0.016 กรัม / กรัมเปลือกข้าวโพด ดังนั้นวิธีการที่เหมาะสมในการผลิตน้ำตาลไซโลสจากเปลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คือวิธีทางชีวภาพ ซึ่งไม่เพียงได้ ปริมาณน้ำตาลไซโลสสูงแล้ว ยังเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยมากที่สุด

โดยไซโลสที่สกัดจากเปลือกข้าวโพดจะอยู่ในรูปของสารละลายที่มีความเข้มข้นสูง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตน้ำตาลไซลิทอล สารให้ความหวานสำหรับปรุงอาหารให้แก่ผู้ป่วยเบาหวาน ,ใช้ผลิตสารกำจัดแบคทีเรียในช่องปาก หรือนำไปผลิตเป็นเอทานอลซึ่งเป็นส่วนผสมของน้ำมัน เป็นต้น

นางสาวผกามาศ กล่าวว่า วิธีการผลิตทางชีวภาพนอกจากจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยแล้ว เปลือกข้าวโพดที่ได้จากการย่อยด้วยแบคทีเรียจะมีความเปื่อยยุ่ย เหมาะต่อการนำไปใช้หมักเป็นอาหารวัว ซึ่งนับเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไปเพื่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าเปลือกข้าวโพดเหลือทิ้งได้อย่างครบวงจร
เปลือกข้าวโพด (สวทช.)
กำลังโหลดความคิดเห็น