xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ญี่ปุ่นรู้ยีนกลายพันธุ์ เสี่ยงไวรัสตับอักเสบบี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือ เอชบีวี (HBV) (ภาพโดย Scripps Research Institute)
ทีมนักวิจัยญี่ปุ่นศึกษาดีเอ็นเอผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเทียบกับคนปรกติ พบยีนกลายพันธุ์ 11 ตำแหน่ง คาดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราเสี่ยงติดเชื้อ HBV ง่ายขึ้น หวังใช้องค์ความรู้หาทางป้องกันและรักษา ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 400 ล้านคน และผู้ป่วยมะเร็งตับอีกกว่า 60% มีสาเหตุมาจากตับอักเสบบี

โยอิชิโร คามาทานิ (Yoichiro Kamatani) นักวิจัยของศูนย์จีโนมมนุษย์ มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo's Human Genome Center) ประเทศญี่ปุ่น และทีมวิจัยสามารถบ่งชี้ได้ว่า มีกลุ่มยีนกลายพันธุ์บางตัวที่ส่งผลให้คนเรามีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B virus: HBV) ได้ง่ายยิ่งขึ้น

รอยเตอร์รายงานว่า ทีมวิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานลงในวารสารเนเจอร์เจเนติกส์ (Nature Genetics) โดยระบุไว้ในรายงานว่าพวกเขาได้ศึกษาวิเคราะห์ยีนในกลุ่มผู้ป่วยโรคตับอักเสบบีชาวญี่ปุ่นจำนวน 786 ราย เปรียบเทียบกับกลุ่มอาสาสมัครที่มิได้เป็นโรคดังกล่าวจำนวน 2,201 ราย พบว่ากลุ่มผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีมีการกลายพันธุ์ของยีนถึง 11 ตำแหน่ง เกิดขึ้นในบริเวณหนึ่ง โดยมียีน เอชแอลเอ-ดีพีเอ1 (HLA-DPA1) และ เอชแอลเอ-ดีพีบี1 (HLA-DPB1) รวมอยู่ด้วย

นักวิจัยกล่าวว่า กลุ่มยีนดังกล่าวที่เขาศึกษานั้นมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับยีนที่ควบคุมการสร้างโปรตีนตัวสำคัญ ที่ช่วยในการทำงานของภูมิคุ้มกัน ชนิดที่สามารถต้านเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ และแม้ว่าความชุกของโรคนี้ จะมิได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว แต่การค้นพบนี้ก็บ่งบอกให้เรารู้ว่าปัจจัยทางพันธุกรรมก็อาจส่งอิทธิพลอย่างมากต่อความชุกในการติดเชื้อเอชบีวีได้ โดยหวังว่าองค์ความรู้นี้จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาวิธีรักษาและป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีที่มีประสิทธิภาพได้ในอนาคต

ในปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกกว่า 400 ล้านคน ติดเชื้อโรคตับอักเสบบี โดยส่วนใหญ่ระบาดอยู่ในบางส่วนของทวีปเอเชียและแอฟริกา ซึ่งอยู่ในประเทศจีนมากถึง 130 ล้านคน และมีผู้ป่วยมะเร็งตับทั่วโลกถึง 60% ที่พัฒนามาจากโรคไวรัสตับอักเสบบีและโรคตับแข็ง โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคตับอักเสบบีและมะเร็งตับราว 1.5 ล้านคน

ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุไว้ว่า เชื้อไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อกันได้ทางเลือดและน้ำคัดหลั่งของร่างกาย เช่น น้ำลาย เสมหะ น้ำนม น้ำอสุจิ โดยการสัมผัสโดยตรงหรือผ่านทางผิวหนัง รวมทั้งการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การมีเพศสัมพันธ์ และสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แต่สามารถรักษาได้ตามอาการ และป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ทั้งนี้ โรคตับอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส มีทั้งไวรัสตับอักเสบเอ, บี, ซี, ดี, และ อี โดยชนิดที่พบบ่อยมากที่สุดคือไวรัสตับอักเสบเอ และ บี แต่ชนิดเอไม่รุนแรงและเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขมากเท่าชนิดบี ขณะที่ไวรัสตับอักเสบซีและอีก่อให้เกิดโรคตับอักเสบที่รุนแรงและถึงแก่ชีวิตได้เช่นเดียวกับชนิดบี แต่ไม่ค่อยพบการระบาด ส่วนไวรัสตับอักเสบดีนั้นจะก่อโรคได้ต้องอยู่กับไวรัสตับอักเสบบี.
กำลังโหลดความคิดเห็น