xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : ริดสีดวงทวาร ทรมานจริงๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลายท่านคงเคยได้ยินมาว่า ถ้าหากระบบขับถ่ายดีย่อมหมายถึงการมีสุขภาพดี ผิวพรรณสดใสตามไปด้วย แต่อุปสรรคสำคัญในการขับถ่ายที่เรารู้จักกันดี นั่นคือ โรคริดสีดวงทวารหนัก ซึ่งเป็นอาการผิดปกติของกลุ่มหลอดเลือดรอบรูทวารหนักที่เกิดจากการถูกรัดด้วยพังผืดที่ยึดติดกับกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณลำไส้ตรง ส่งผลให้เกิดก้อนที่รูทวารหนักโป่งพองยืดออกมาและโตขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเบ่งถ่าย ความดันในช่องท้องจะเพิ่มปริมาณ มากกว่าปกติ ทำให้อุจจาระเสียดสีกับกลุ่มหลอดเลือดที่โป่งพองขึ้นจนฉีก ขาด ทำให้มีเลือดซึมฉาบอุจจาระที่ขับออกมา

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะไม่สามารถคลำพบก้อนดังกล่าวได้ในระยะแรก แต่ในระยะต่อมาจะคลำพบติ่งหรือก้อนที่โผล่ออกมาจากรูก้น โดยทั่วไปจะพบผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวารหนักในช่วงอายุระหว่าง 45-65 ปี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี จะไม่เป็นโรคนี้เพราะพังผืดที่ยึดคลุมกลุ่มหลอดเลือดยังแข็งแรงอยู่

• ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร
1. พันธุกรรม
2. อาชีพ ผู้มีอาชีพที่ต้องยืนนานๆ จะมีผลให้ความดันเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณปากทวารไหลกลับสู่หลอดเลือดดำในช่องท้องช้าลง โดยทั่วไปหลอดเลือดดำมีลิ้นเพื่อให้เลือดดำไหลกลับได้ทางเดียว แต่เมื่อการไหลของเลือดดำช้าลง ประกอบกับมีความดันในช่องท้องสูง จึงเกิดการคั่งของหลอดเลือดดำบริเวณกลุ่มหลอดเลือดปากรูทวารหนัก ส่งผลให้กลุ่มหลอดเลือดดำโป่งพองจนเกิดอาการของโรคริดสีดวงทวาร
3. เกิดจากโรคแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ เช่น โรคตับแข็ง หรือโรคตับอักเสบ ไวรัสบี ซึ่งจะมีอาการท้องมานในระยะสุดท้าย และเมื่อมีน้ำในช่องท้องมากๆ จะส่งผลไปกดการไหลเวียนเลือดในช่องท้อง เป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดดำไหลกลับเข้าช่องท้องได้ไม่ดีนัก

• อาการน่าสงสัยเมื่อเป็นริดสีดวงทวาร
เมื่ออุจจาระพบว่ามีเลือดสดๆ ไหลออกมาด้วย คลำพบก้อนที่รูทวาร หนัก ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 พบก้อนข้างในรูทวารหนัก สามารถรักษาได้โดยการดื่มน้ำมากๆ รับประทานผักสด ผลไม้สดเป็นประจำ หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ และบางครั้งอาจใช้ยาเหน็บหรือยาถ่ายอุจจาระเป็นครั้งคราว
ระยะที่ 2 คลำพบก้อนที่รูทวารหนักเป็นบางครั้งและจะกลับเข้าไปด้านในได้เอง
ระยะที่ 3 พบก้อนโผล่พ้นรูทวารหนักออกมา และสามารถใช้นิ้วดันกลับเข้าไปได้เพราะก้อนยังไม่แข็ง
ระยะที่ 4 พบก้อนยื่นออกมา และใช้นิ้วดันกลับเข้าไปไม่ได้ เพราะนอกจากกลุ่มหลอดเลือดดำที่โผล่ออกมาดันพังผืดจนโป่งพองและบางแล้ว ยังถูกกล้ามเนื้อหูรูดปากทวารหนักรัดเอาไว้จนเลือดไหลเวียนไม่ได้ ทำให้เกิดการแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดขังอยู่ข้างใน ส่งผลให้เจ็บปวดอย่างรุนแรง ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยให้ทำการผ่าตัด

• การรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก
จะมีแนวทางรักษาไปตามระยะของโรค ดังนี้
ระยะที่ 1ใช้ยาเหน็บทางทวารหนักเพื่อลดการบวมการอักเสบ ยาระบายเพื่อให้อุจจาระนิ่มลงแนะนำให้ดื่มน้ำ 6-8 แก้วต่อวัน รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ระยะที่ 2รักษาแบบเดียวกับระยะที่ 1 บางรายอาจใช้ยางรัดหัวริดสีดวงทวารหนัก
ระยะที่ 3รักษาแบบเดียวกับระยะที่ 2 บางรายอาจใช้การผ่าตัดรักษา
ระยะที่ 4มักลงเอยด้วยการผ่าตัดรักษาร่วมกับการรักษาแบบเดียวกับระยะที่ 1

• ปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะห่างไกลริดสีดวงทวาร
- รับประทานอาหารที่มีกาก (Fiber Food) เช่น ผักสด ผลไม้สด เพราะผักและผลไม้จะไม่สามารถย่อยสลายได้หมด และสามารถดูดน้ำกลับจากลำไส้ ส่งผลให้กากอุจจาระมีลักษณะนุ่มและอุ้มน้ำอยู่ภายใน และเมื่อถ่ายอุจจาระจะทำให้ไม่ต้องออกแรงเบ่งมาก
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะเมื่อร่างกายเคลื่อนไหว ลำไส้ก็จะมีการเคลื่อนไหว และไปบีบให้อุจจาระมีการเคลื่อนตัวทำให้ขับถ่ายสบาย
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพื่อให้อุจจาระมีน้ำอุ้มอยู่ ส่งผลให้กากอุจจาระนุ่ม โดยทั่วไปการที่ร่างกายได้รับน้ำในปริมาณที่น้อยกว่าความต้องการจะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เพราะโดยปกติร่างกายจะมีปริมาณน้ำในลำตัวคงที่ เมื่อเราดื่มน้ำน้อย ลำไส้ต้องทำหน้าที่ดูดน้ำกลับจากกากอาหารที่เคลื่อนที่ผ่านไป เพื่อเข้าสู่ระบบการไหลเวียนของเลือด ซึ่งเป็นการรักษาสมดุลของน้ำในร่างกายตลอดเวลา และย่อมส่งผลต่อการแข็งตัวของอุจจาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อเราทำความรู้จักกับโรคริดสีดวงทวารหนัก รวมถึงทราบว่าที่มาของโรคเป็นอย่าง ไรแล้ว จึงไม่ยากที่จะหลีกเลี่ยง เพราะเพียงท่านมีนิสัยในการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ดูแลรักษาตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการออกกำลังกาย ท่านย่อมห่างไกลริดสีดวงทวารอย่างแน่นอน

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 10 มี.ค. 52 โดย ผศ.นพ.วิรุณ บุญนุช วิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
กำลังโหลดความคิดเห็น