xs
xsm
sm
md
lg

เขียนรายงานวิจัยให้ระวัง กลายเป็น "โจรกรรมวิชาการ" ไม่รู้ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
ในวงการวิทยาศาสตร์นั้น จำเป็นต้องมีการเขียนรายงานทางวิชาการ ซึ่งจะเป็นทั้งหลักฐานและการต่อยอดความรู้อันไม่รู้จบ แต่นอกจากการจงใจแล้ว หลายครั้งที่ความอ่อนด้อยทางภาษา ทำให้หลายคน "โจรกรรมวิชาการ" คนอื่นโดยไม่รู้ตัว

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและอาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ในการบรรยายเรื่อง "โจรกรรมทางวิชาการ" ภายในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 มี.ค.52 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้าฟังด้วยว่

ศ.นพ.ยง อธิบายว่า โจรกรรมทางวิชาการ หรือ Plagiarism นั้น คือการคัดลอกหรือขโมยผลงานคนอื่นมาเป็นของตัวเอง แต่ทั้งนี้แปลว่า "โจรกรรม" อาจจะไม่ตรงตามความหมายที่แท้จริงเท่าใดนัก และไม่มีภาษาไทยที่ตรงกับคำนี้ ซึ่งโดยส่วนตัว ศ.นพ.ยงเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์ยุคก่อนๆ เช่น หลุยส์ ปาสเตอร์คงไม่รู้จักคำนี้ เพราะไม่ทำพฤติกรรมนี้ การเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่ในสายเลือด มิได้หวังผลประโยชน์ตอบแทน แต่สมัยนี้มีการขโมยหรือเอาผลงานคนอื่นมา ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

“แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดจริยธรรม การลอกทั้งหมดหรือบางส่วนก็ผิดทั้งนั้น การคัดลอกตัวเองก็ไม่สมควร การคัดลอกตัวเองคือนำผลงานที่ตีพิมพ์แล้ว ส่งตีพิมพ์ในอีกวารสาร หรือส่งตีพิมพ์พร้อมๆ กันหลายวารสาร ด้วยผลงานเดียวกัน ซึ่งแม้จะเป็นวารสารต่างภาษาก็ทำไม่ได้ ผิดจริยธรรมทั้งนั้น แต่ถ้าส่งผลแล้วถูกปฏิเสธ สามารถแก้ไขตามคำแนะนำ แล้วค่อยส่งไปอีกฉบับหนึ่งสามารถทำได้" ศ.นพ.ยงกล่าว

ทั้งนี้ มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย เซาธ์เวสต์ เท็กซัส (Southwest Texas University) สหรัฐฯ ได้พัฒนาโปรแกรมตรวจสอบงานวิจัยในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีงานวิจัยที่มีความคลับคล้ายคลับคลา กับงานวิจัยของคนอื่นอยู่จำนวนมาก และยังพบด้วยว่ามีงานวิจัยที่เข้าข่ายต้องสงสัยว่า จะเป็นการโจรกรรมผลงานคนอื่นหรือผลงตัวเอง ส่วนมากมักเป็นรายงานการวิจัยจากประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก

นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นจากจุฬาฯ ยังได้ยกตัวอย่างหลายๆ ผลงานที่อยู่ในข่ายของการโจรกรรมทางวิชาการ เช่น การนำภาพถ่ายของผู้อื่น มาใส่ในผลงานของตัวเอง เป็นที่น่าสงสัย เนื่องจากทำการทดลองในคนไข้คนละคนซึ่งอยู่กันคนละประเทศ และการถ่ายภาพให้เหมือนกันเป็นเรื่องยาก บางงานวิจัยได้ทำวิจัยจริง แต่ใช้ผลงานผู้อื่นมาเปลี่ยนเพียงใส่ตัวเลขของผลงานเราเข้าไปแทน

“สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ cut and paste (ตัดแล้วแปะ) หรือการทดลองวิทยาศาสตร์ แม้จะทำกลุ่มเดียวกัน แต่รายงานผลการทดลองต้องไม่เหมือนกัน แม้จะทำงานเป็นกลุ่มในห้องเรียนได้ผลแต่ทุกคนต้องรายงานและวิจารณ์ด้วยคำพูดตัวเองไม่ควรเหมือนผู้อื่น สำหรับนักเขียน (รายงานวิชาการ) มือใหม่ เราอ่านงานคนอื่นได้ แต่อย่าลอก เมื่อจะเขียนรายงานของตัวเองให้ปิดทันที แต่ถ้ามีคำพูดที่ดีมาก และอยากใช้จริงๆ ให้โค้ดคำพูดมาได้ โดยใส่เครื่องหมายอัญประกาศ ("...”) แล้วบอกว่าเป็นคำพูดของใคร” ศ.นพ.ยงกล่าว

ทางด้าน นพ.กิตติศักดิ์ กุลวิชิต อาจารย์ภาควิชาจักษุ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมบรรยายในหัวข้อนี้ด้วย กล่าวว่า การแปล Plagiarism ว่าเป็นการโจรกรรมทางวิชาการนั้นถูกต้องเพียงเสี้ยเดียว จริงๆ แล้วคำนี้ค่อนข้างเป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ในทุกวงการไม่ต้องการให้มีเนื่องจากผิดจริยธรรม และเป็นสิ่งที่กล่าวหากันง่าย แต่พิสูจน์ได้ยาก

ทั้งนี้ ในทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีทั้งที่กฎหมายคุ้มครองและไม่คุ้มครอง ที่กฎหมายคุ้มครองประชาชนจะรู้จักกันดีอยู่สองอย่างคือสิทธิบัตร (patent) ซึ่งต้องยื่นขอจดทะเบียน แต่ไม่ใช่ทุกอย่างที่จะจดสิทธิบัตรได้ เช่น วิธีการผ่าตัดวิธีใหม่ หรืองานวิจัยที่พบว่ายารักษาโรคชนิดหนึ่งดีกว่าชนิดหนึ่ง เป็นต้น

เหล่านี้จะจดทะเบียนสิทธิบัตรไม่ได้แม้เกิดจากปัญญาของผู้คิดค้น และลิขสิทธิ์ (copyright) ซึ่งเกิดขึ้นทันทีที่สร้างสรรผลงานไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนและ คุ้มครองเกือบทั่วโลก ต่างจากสิทธิบัตรที่คุ้มครองเฉพาะในประเทศที่ขอจดสิทธิบัตร

สำหรับสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองจากลิขสิทธิ์ไม่ใช่ "ความคิด" (Idea) แต่เป็น "ลีลาและกระบวนการสื่อความคิด" (expression) ซึ่งการเขียนรายงานทางวิชาการนั้นก็คือรูปแบบลีลาการอธิบายความคิดโดยใช้ตัวหนังสือเป็นสื่อ

นพ.กิตติศักดิ์ ระบุว่า Plagiarism คือการขโมย ซึ่งขโมยได้ทั้งความคิด และลีลาการสื่อและบรรยายความคิด โดยปัญหาของการขโมยความคิดคือ การไม่อ้างอิงผลงานคนอื่น ทำให้คนอ่านเข้าใจว่าผลงานนั้นๆ เป็นของคนเขียน ทั้งนี้ในวงการวิทยาศาสตร์เป็นไปไม่ได้ที่จะเริ่มต้นศึกษาทุกอย่างใหม่หมด แต่ล้วนเป็นการต่อยอดความรู้ที่มีการค้นพบมาก่อน

ปัญหาของการขโมยลีลาบรรยายความคิด คือการที่ผู้อ้างอิงคัดลอกข้อความมากจากต้นตำรับ ซึ่งการอ้างอิงที่ดีนั้นก็ควรจะต้องใช้ลีลาและโวหารของเราเอง

"ไม่มีเหตุผลที่จะเอาผลงานคนอื่นมาต่อยอดโดยไม่อ้างอิง และเมื่ออ้างอิงแล้วเราต้องอธิบายด้วยโวหารของเราเอง ไม่ควร copy and paste มาจากของต้นตำรับยกเว้นบางกรณีที่จำเป็นไม่มีทางเลือกอื่น" นพ.กิตติศักดิ์กล่าว

สำหรับการเขียนรายงานวิชาการนั้นส่วนใหญ่ จะเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่ง นพ.กิตติศักดิ์ระบุว่า ลักษณะของ Plagiarism ในเมืองไทยนั้นมักจะเป็นรูปแบบ "คำต่อคำ" แต่การละเมิดจริยธรรมนี้มีรูปแบบที่ซับซ้อนกว่านั้น

อีกทั้งนักศึกษาไทยยังมีความเข้าใจผิด ในเรื่องของการเขียนรายงานวิชาการ บางครั้งพบว่า มีการคัดลอกประโยคในวารสารวิชาการ เพื่อใช้อธิบายงานวิจัยของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด

อย่างไรก็ดี มีบางประโยคในทางวิชาการที่ไม่สามารถพลิกแพลงได้มากนัก อย่างประโยคว่า โรคต้อหินเป็นสาเหตุการตาบอดอันดับหนึ่งในเมืองไทย และเมื่อเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษจะเขียนได้ไม่กี่รูปแบบ ซึ่ง นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า หากเป็นเช่นนี้ไม่ต้องกังวล

ทางด้าน ศ.นพ.ยง ยังได้ให้ความเห็นกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ด้วยว่า สถานการณ์การทำผิดจริยธรรมทางวิชาการในประเทศไทยนี้น่าห่วง และบางครั้งก็มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การขอตำแหน่งวิชาการ การเลื่อนวิทยาฐานะของครู หรือการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งทำให้คนเราสามารถทำได้ทุกวิถีทาง

ส่วนการบรรยายครั้งนี้อยากให้เยาวชนทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะบางครั้งทำผิดโดยไม่รู้ แม้แต่การเอารูปจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง การนำมาใช้ควรใส่แหล่งอ้างอิงให้เกียรติกับเจ้าของภาพ

สำหรับการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ประจำปี 2552 นั้น จัดขึ้นโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายในงานมีบรรยายพิเศษ พร้อมการนำเสนอผลงานของนักเรียนทุนในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ระดับมัธยมศึกษาและปริญญาตรี
นพ.กิตติศักดิ์ กุลวิชิต


คลิปอธิบาย ความหมาย Plagiarism จากยูทูบ


กำลังโหลดความคิดเห็น