xs
xsm
sm
md
lg

วิศวกรจับมือสถาปนิกดันตั้ง "สถาบันอาคารเขียว" ในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และสมาคมสถาปนิกสยามฯ ลงนามร่วมกันจัดตั้งสถาบันอาคารเขียวไทย เพื่อพัฒนาอาคารเขียวในประเทศไทยและสร้างแรงจูงใจให้ออกแบบอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
วสท. ร่วมกับสมาคมสถาปนิกฯ เดินหน้าจัดตั้งสถาบันอาคารเขียว หวังให้เป็นองค์กรอิสระ ให้คำปรึกษาด้านการออกแบบก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน พร้อมจัดทำหลักเกณฑ์อาคารเขียวที่เหมาะกับไทย เตรียมใช้พิจารณามอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้อาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไว้เป็นตัวอย่างสร้างแรงจูงใจให้คนไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมลงนามในบันทึกความตกลงการส่งเสริมการจัดตั้องสถาบันอาคารเขียวไทย ในระหว่างการจัดสัมมนาเรื่อง "อาคารเขียว (Green Building) : โอกาสใหม่ของวิศวกรและสถาปนิกไทย" เมื่อวันที่ 11 มี.ค.52 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม ดิเอ็มเมอรัล โดยมีวิศวกรและสถาปนิกกว่า 500 คน มาร่วมงาน พร้อมกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการอาคารเขียว วสท.กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงานในปัจจุบัน ทำให้หลายประเทศให้ความสนใจกับอาคารเขียวที่ช่วยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เช่น ลีด (Leadership in Energy and Environmental Design: LEED) หลักเกณฑ์อาคารเขียวของสภาอาคารเขียวสหรัฐฯ ซึ่งมีอาคารหลายแห่งในประเทศไทยเริ่มนำมาใช้บ้างแล้ว

"อาคารเขียวในประเทศไทย เริ่มเกิดขึ้นค่อนข้างมากแล้ว แต่ยังไม่ค่อยมีใครรู้และยังไม่มีการเชิดชูให้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อีกทั้งปัจจุบันไทยเราก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์อาคารเขียวที่เป็นของตัวเอง ซึ่งการนำหลักเกณฑ์ของต่างประเทศมาใช้ อาจจะต้องว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญหรือนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูงเกินจำเป็น" นายนินนาท กล่าว

ขณะนี้คณะกรรมการอาคารเขียวได้จัดทำ (ร่าง)หลักเกณฑ์อาคารเขียวของประเทศไทยโดยมีต้นแบบมาจากลีด, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้มีหลักเกณฑ์อาคารเขียวที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ พร้อมกับการทำประชาพิจารณ์ และพร้อมจัดตั้งสถาบันอาคารเขียวได้ภายในปี 2553

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์อาคารเขียวที่เหมาะสมกับประเทศไทย จะช่วยส่งเสริมให้มีการออกแบบอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ สภาพเศรษฐกิจของไทย และเน้นให้ใช้วัสดุภายในประเทศเป็นหลัก

นายนินนาท กล่าวต่อว่า จุดประสงค์ของการผลักดันให้จัดตั้งสถาบันอาคารเขียวขึ้นในประเทศไทยก็เพื่อพัฒนาอาคารเขียวในประเทศไทย และเผยแพร่ให้คนไทยได้รู้จักและเห็นประโยชน์ของอาคารเขียวมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างความจูงใจให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับอาคารเขียวและมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม

สถาบันอาคารเขียวจะเป็นองค์กรอิสระ ที่ให้คำปรึกษาในการออกแบบก่อสร้างอาคารเขียวที่จะประหยัดพลังงานได้มากกว่าอาคารทั่วไป 20-40% พร้อมทั้งทำหน้าที่ในการประเมินอาคารเขียวในประเทศไทย เพื่อให้รางวัลแก่อาคารที่เป็นตัวอย่างของอาคารเขียวที่ดี โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ สภาพแวดล้อมในอาคาร การบริหารจัดการ รวมถึงการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายชเล คุณาวงศ์ อุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างอาคารเขียวไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงหรือราคาแพงมากนักก็ได้ เพียงแต่มีการออกแบบและบริหารจัดการที่ดี แต่แน่นอนว่าอาจทำให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้นบ้างในช่วงแรก แต่จะคืนทุนได้ในระยะเวลา 3-5 ปี ขณะเดียวกันสามารถช่วยลดผลกระทบและเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว

นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างสำนึกในการทำธุรกิจที่ดี เพราะในอนาคตผู้คนจะคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ซึ่งรางวัลจากสถาบันอาคารเขียวสามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับผู้ชื้อหรือผู้ใช้บริการได้ เช่น คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน
นายชเล คุณาวงศ์ (ซ้าย) และ นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ
กำลังโหลดความคิดเห็น