xs
xsm
sm
md
lg

โตโยต้าปะทะเด็ก ก.อุตฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงสัมมนา “ทิศทางยนตรกรรม หลังวิกฤตใหญ่ยานยนต์โลก” ระอุ เมื่อโตโยต้าฝากภาครัฐได้ใหม่อีโคคาร์อย่าลืมเก่า จี้เร่งสนับสนุนปิกอัพที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย แต่เจอ “สรยุทธ” ผู้ช่วยรมต.อุตสาหกรรมสวนกลับ เคยตกลงอะไรกันไว้ต้องทำให้เห็นก่อน ไม่ใช่จะมาขออย่างเดียว

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย จัดสัมนา “ทิศทางยนตรกรรม หลังวิกฤติใหญ่ยานยนต์โลก” ซึ่งมีตัวแทนจากภาครัฐ กลุ่มและสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงผู้ประกอบการบริษัทรถยนต์มาร่วมบรรยายและเสนอแนะรัฐบาลอย่างคับคั่ง

**โตโยต้าฝากได้ใหม่อย่าลืมปิกอัพ

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ประเทศไทยไม่ใช่จุดเริ่มต้นของปัญหา แต่กลับมียอดขายลดลงกว่า 23% ซึ่งใกล้เคียงกับอเมริกา แต่ลดลงมากกว่ายุโรป และภูมิภาคเอเชียเสียอีก เพราะนอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วย

“หากมองลงไปที่ตัวสินค้าจะเห็นว่า รถยนต์นั่งลดลง 11% แต่ในส่วนปิกอัพที่เป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยลดลงถึง 32% หรือตลาดในประเทศลดลง 23% ขณะที่ส่งออกรถยนต์จากไทยรวมติดลบ 39% ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีมูลค่าส่งออกเป็นอันดับ 2 ของไทย ปัจจุบันหล่นมาอยู่อันดับ 3 ถูกกลุ่มอัญมนีที่เพิ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเบียดแซงไปแล้ว”

ทั้งนี้ปิกอัพถือเป็นสินค้าที่สำคัญของไทย เพราะไม่ว่าเป็นจะตลาดในประเทศ หรือส่งออกที่ปิกอัพมีสัดส่วนสูงกว่า 78% ของการส่งออกรถนยนต์สำเร็จรูปทั้งหมด มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้นบาท และอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังสูงถึง 14% ของจีดีพีไทย หรือมีแรงงานทั้งทางตรงและอ้อมในอุตสาหกรรมยานยนต์ 12% หรือมากกว่า 1.2 ล้านคน ของแรงงานทั้งหมดในไทย

“อุตสาหกรรมยานยนต์จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และเพื่อจะไม่ตกต่ำไปมากกว่านี้ จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก ที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุน ทั้งในรูปให้เงินสด และส่วนลดกับผู้ซื้อรถ จนสามารถรักษายอดขายไม่ให้ตกต่ำมากนัก หรือบางตลาดเติบโตสวนเศรษฐกิจเสียอีก โดยเฉพาะปิกอัพที่ถือเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนในปัจจุบัน อยากฝากภาครัฐช่วยรักษาและผลักดันอย่างต่อเนื่อง อย่าได้ใหม่อีโคคาร์แล้วลืมเก่าปิกอัพเด็ดขาด”นายนินนาทกล่าว

**รถเล็กแรง-วอนรัฐหนุนจริงจัง

นายณัฐพล รังสิตพล นักวิชาการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำยาวจะส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อรถของผู้บริโภคเปลี่ยน และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้ทิศทางของรถยนต์เล็กที่ประหยัดน้ำมัน และรักษาสิ่งแวดล้อมได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยกำลังมีอีโคคาร์มาตอบสนองความต้องการตรงนี้ และเป็นสินค้าที่มีตลาดรองรับทั่วโลก มากกว่าปิกอัพที่เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนของไทยในปัจจุบัน

“แนวโน้มปิกอัพในไทยจะลดลง เนื่องจากการย้ายฐานผลิตมาไทยที่สมบูรณ์แล้ว เมื่อบวกกับราคาน้ำมันที่จะไม่กลับไปถูกอีก และสังคมชนบทที่จะปรับเปลี่ยนไปเป็นสังคมเมือง ทำให้ความต้องการรถเล็กมีมากขึ้น ภาครัฐจึงเข้ามาสนับสนุนโครงการอีโคคาร์ควบคู่กัน”

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เอเชียน ฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีปิกอัพเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยน แต่อนาคตจะมีอีโคคาร์ออกมาเสริม ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความแข็งแกร่ง เพราะสามารถยืนอยู่ได้ด้วยสองขาไม่ใช่ขาเดียวเช่นปัจจุบัน เนื่องจากแนวโน้มตลาดรถขนาดเล็กกลุ่มเอและบีเซกเมนท์ จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันการพัฒนาเทคโนโลยีจะเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม และมีการนำพลังงานทดแทนมาใช้ โดยค่อยๆ เป็นรถไฮบริด และสุดท้ายที่รถพลังงานไฟฟ้า

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยมีจุดแข็งหลายด้านที่จะเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลก แต่ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎระเบียบบางอย่างที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนและผู้ประกอบการ สร้างความสมานฉันท์ในสังคม และฟื้นฟูประเทศให้น่าลงทุน ที่สำคัญนโยบายของภาครัฐจะต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง ภายใต้กรอบความโปร่งใส ชัดเจน และยืนนาน

**โตโยต้าปะทะอุตฯ ปมหนุนปิกอัพ

ช่วงท้ายของเวทีสัมนาได้มีการถาม-ตอบ และแลกเปลี่ยนความคิดกัน โดยนายนินนาทได้ย้ำว่าปิกอัพมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่ได้ใหม่แล้วลืมโปรดักต์แชมเปี้ยนในปัจจุบัน

เรื่องนี้ นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากนี้ไป 2-3 ปี อุตสาหกรรมยานยนต์หดตัวแน่นอน ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาว่าจะปรับตัวอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือธุรกิจ ที่ทิศทางต่อไปรถยนต์ขนาดเล็กจะเติบโต ซึ่งในส่วนของภาครัฐจะพยายามสร้างความต้องการในตลาด และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแสดงความเห็นและวางแผนร่วมกัน เพื่อรองรับทิศทางตลาดที่เปลี่ยนไปในอนาคต

“รัฐพร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการต้องร่วมกันสรุปมาว่า มีปัญหาและแนวทางอย่างไร สามารถปฏิบัติได้หรือไม่ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับสถานการณ์ด้วย ไม่ใช่จะให้ภาครัฐช่วยเหลือทุกอย่าง รัฐบาลช่วยได้เท่าที่ช่วยได้ แต่คุณต้องช่วยตัวเองก่อน และที่เคยรับตกลงกันไว้ หนึ่ง สอง สาม และสี่ ต้องทำให้เราเห็นด้วย ไม่ใช่จะมาขออย่างเดียว”นายสรยุทธกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น