xs
xsm
sm
md
lg

บนเขา-ชายฝั่งทะเลมีสิทธิ์เห็น "จันทร์บังดาวพฤหัสบดี" 23 ก.พ.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สดร. – สถาบันดาราศาสตร์ ชวนสังเกตปรากฏการณ์ “จันทร์บังดาวพฤหัสบดี” ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 23 ก.พ. ความสว่างใกล้รุ่งอาจเป็นอุปสรรค แต่พื้นที่บนภูเขา หรือ ชายทะเลน่าจะสังเกตได้ชัดเจนกว่าพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ

ปรากฏการณ์อุปราคาที่สำคัญ ในช่วงเดือน ก.พ. 52 นี้ คือปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นจากการเรียงตัวของดาวพฤหัสบดี ดวงจันทร์ และโลก

เรียกว่า “การบัง หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Occultation” ซึ่งเกิดจากการที่วัตถุท้องฟ้า ที่มีขนาดปรากฏใหญ่ เช่นดวงจันทร์และดาวเคราะห์ เคลื่อนมาบังวัตถุท้องฟ้าอื่นที่มีขนาดปรากฏเล็กกว่า ทำให้วัตถุท้องฟ้าที่อยู่เบื้องหลังหายไปบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งการบังในลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อ วันที่ 19 ก.ค. 44

สำหรับในปี 52 นี้ ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี สามารถสังเกตเห็นได้ทั่วประเทศไทย ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 23 ก.พ.52 ซึ่งลักษณะของการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว สามารถสังเกตได้จากทางทิศตะวันออก

ดาวพฤหัสบดีจะเริ่มสัมผัสดวงจันทร์เวลาประมาณ 05:38 น. โดยจะเห็นดาวพฤหัสบดีค่อยๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ แต่เนื่องจากถัดจากนี้อีก 2 วันจะเป็นวันดวงจันทร์ดับ และดวงจันทร์จะอยู่สูงจากขอบฟ้าประมาณ 5 – 8 องศา จึงทำให้ดาวพฤหัสบดี มีค่าความสว่างปรากฏเท่ากับ -1.8 ส่งผลให้ขณะที่เกิดการบังกันนั้น ดวงจันทร์มีเสี้ยวบางมาก

นักวิชาการจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเนื่องจากปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีครั้งนี้ ดวงจันทร์ปรากฏสูงจากขอบฟ้าไม่มากนัก ซึ่งในช่วงเวลาที่เกิดการบังนั้นดวงจันทร์สูงจากขอบฟ้าประมาณ 5 องศา สิ้นสุดการบังดวงจันทร์อยู่สูงจากขอบฟ้าประมาณ 44 องศา

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวท้องฟ้าก็สว่างแล้ว จึงทำให้เป็นอุปสรรคในการชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ และในวันดังกล่าวอาจจะมีเมฆที่ขอบฟ้าทำไม่สามารถชมปรากฏการณ์ดังกล่าวได้

แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่บริเวณบนภูเขา ที่สามารถมองในมุมกดได้ และชายทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันออก สามารถมองเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ดี มากกว่าผู้ที่อยู่ในพื้นที่อื่น

สำหรับอุปกรณ์ที่แนะนำเพื่อช่วยในการสังเกตการณ์ชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีในครั้งนี้ได้แก่ กล้องสองตา และกล้องดูดาว

สำหรับในพื้นที่แต่ละจังหวัดในประเทศไทย เวลาที่เกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีไม่เท่ากัน อาจต่างกันเล็กน้อย ซึ่งในส่วนของรายละเอียดตารางแสดงเวลาเกิดปรากฏการณ์ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงภาพของการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว สามารถติดตามข้อมูลได้จากหน้าเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ในหมวดของข่าวดาราศาสตร์

นอกจากนี้ สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th
กำลังโหลดความคิดเห็น