xs
xsm
sm
md
lg

23 ก.พ.ชม "ดาวล้อมเดือน" พร้อม "จันทร์บังดาวพฤหัส"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองปรากฏการณ์ดาวล้อมเดือน (โดยวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต)
กลับมาให้เห็นกันอีกครั้งกับ "ปรากฎการณ์ดาวล้อมเดือน" และแถมด้วย "ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี" ในวันที่ 23 ก.พ.นี้ ประเทศไทยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในช่วงเช้าตรู่ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น แต่ต้องสังเกตจากที่สูง และอาจมีหมอกมาก

นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต จากหอดูดาวบัณฑิต จ.ฉะเชิงเทรา ได้แจ้งมายังทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ว่า ในวันจันทร์ที่ 23 ก.พ.52 ที่จะถึงนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ ดาวล้อมเดือน(Conjunction) และปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี (Occultation) ในคราวเดียวกัน เห็นได้ด้วยตาเปล่า และเห็นได้ดีในกล้องสองตาและกล้องดูดาวทุกขนาดในพื้นที่ทุกจังหวัดในประเทศไทย

ทั้งนี้ ในเช้ามืดของวันที่ 23 ก.พ. ดวงจันทร์เสี้ยวของแรม 14 ค่ำ เริ่มขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลา 5 นาฬิกา 15 นาที โดยมีดาวพฤหัสบดีอยู่ชิดดวงจันทร์ด้านสว่างด้านซ้ายค่อนมาทางล่าง มีดาวพุธสีส้ม อยู่ด้านขวาบน ห่างดวงจันทร์ประมาณ 1 องศา และห่างดาวพฤหัสบดีลงมาด้านล่างประมาณ 1 องศา 30 ลิปดา มีดาวอังคารสีแดง ขึ้นตามมาล้อมดวงจันทร์อีกดวง และยังมีดาวเนปจูนซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอยู่ห่างดาวอังคารลงมา 4 องศา เป็นปรากฏการณ์ดาวล้อมเดือน

ดวงจันทร์เสี้ยวเริ่มเคลื่อนตัวเข้าบังดาวพฤหัสตั้งแต่เวลา 5 นาฬิกา 36 นาที เริ่มเป็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี ขณะที่ดวงจันทร์ขึ้นสูงขึ้นจากขอบฟ้า เพียง 5 องศาเมื่อสิ้นสุดการบังดาวพฤหัสเวลา 6 นาฬิกา 42 นาที ดาวพฤหัสจะไปอยู่ด้านบนของดวงจันทร์ เป็นปรากฏการณ์ ดาวล้อมเดือนอีกครั้งและฟ้าจะสว่างพอดี

ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี ตามเวลาตามจังหวัดต่างๆ ดังนี้

- กรุงเทพฯ ดวงจันทร์เข้าบังดาวพฤหัส เริ่มเวลา 5 นาฬิกา 36 นาที 41 วินาที สิ้นสุดการบัง 6 นาฬิกา 42 นาที 45 วินาที
- ชลบุรี ดวงจันทร์เข้าบังดาวพฤหัส เริ่มเวลา 5 นาฬิกา 36 นาที 45 วินาที สิ้นสุดการบัง 6 นาฬิกา 42 นาที 35 วินาที
- เชียงใหม่ ดวงจันทร์เข้าบังดาวพฤหัส เริ่มเวลา 5 นาฬิกา 38 นาที 47 วินาที สิ้นสุดการบัง 6 นาฬิกา 50 นาที 09 วินาที
- อุดรธานี ดวงจันทร์เข้าบังดาวพฤหัส เริ่มเวลา 5 นาฬิกา 39 นาที 11 วินาที สิ้นสุดการบัง 6 นาฬิกา 52 นาที 47 วินาที
- อุบลราชธานี ดวงจันทร์เข้าบังดาวพฤหัส เริ่มเวลา 5 นาฬิกา 38 นาที 49 วินาที สิ้นสุดการบัง 6 นาฬิกา 51 นาที 55 วินาที
- สุราษฎร์ธานี ดวงจันทร์เข้าบังดาวพฤหัส เริ่มเวลา 5 นาฬิกา 38 นาที 01 วินาที สิ้นสุดการบัง 6 นาฬิกา 30 นาที 09 วินาที
- สงขลา ดวงจันทร์เข้าบังดาวพฤหัส เริ่มเวลา 5 นาฬิกา 40 นาที 10 วินาที สิ้นสุดการบัง 6 นาฬิกา 26 นาที 01 วินาที

ขณะที่สิ้นสุดการบัง ดาวพฤหัสเคลื่อนตัวออกจากด้านมืดของดวงจันทร์ ดวงจันทร์อยู่สูงจากขอบฟ้า 19 องศา ดวงอาทิตย์เริ่มขึ้นจากขอบฟ้าเวลา 6 นาฬิกา 35 นาที 26 วินาที ขณะเกิดปรากฏการณ์ ดาวพุธ มีความสว่าง -0.05 ดวงจันทร์มีความสว่าง -9.22 ดาวพฤหัสมีความสว่าง -1.95 ดาวอังคารมีความสว่าง 1.25 ดาวทั้งหมดอยู่ในกลุ่มดาว แพะทะเล (Capricornus)

อุปสรรคในการชมปรากฏการณ์ครั้งนี้คือ ดาวทั้งหมดอยู่ที่ขอบฟ้าทิศตะวันออก ขณะเริ่มปรากฏการณ์ อยู่สูงจากขอบฟ้าเพียง 5 องศา ซึ่งอยู่ต่ำมาก ผู้สังเกตต้องขึ้นที่สูง หรือหาตำแหน่งที่ขอบฟ้า ไม่มี อาคารหรือต้นไม้บัง หรือต้องไม่มีฟ้าหลัวหรือเมฆที่ขอบฟ้ารบกวน และมีเวลาให้สังเกตปรากฏการณ์ น้อยมาก เพราะเมื่อดวงจันทร์ขึ้นสูงพอสังเกตได้ ฟ้าก็จะสว่างพอดี และในเดือน ก.พ.ช่วงเช้า อาจมีหมอกมาก อาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนี้
ภาพถ่ายดวงจันทร์บังดาวพฤหัสครั้งหลังสุด1พ.ย.2541 (โดยวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต)
กำลังโหลดความคิดเห็น