xs
xsm
sm
md
lg

"ครัวเพื่อคนตาบอด" รับรางวัลจากองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.เบญจมาศ กุฏอินทร์
“ครัวเพื่อคนตาบอด" ออกแบบมาเพื่อผู้พิการทางสายตารับรางวัลจาก "ไวโป" องค์กรทรัพย์สินทางปัญญา เป็นครัวพิเศษ ลบเหลี่ยม-ลบมุมป้องกันอันตรายแก่ผู้พิการทางสายตา มีต้นแบบจริงที่วิทยาลัยราชสุดา มหิดล ศาลายา ผู้ประดิษฐ์เผยทำครัวเพื่อผู้พิการ "วีลแชร์” ควบคู่ด้วย แต่ยังขาดงบสร้างครัวจริง

วันสุดท้ายของการจัดงาน "วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2552 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ.52 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี มีพิธีมอบรางวัลหลายรางวัล ทั้งรางวัลจาก วช.ที่่มอบให้กับสิ่งประดิษฐ์ที่นำมาจัดแสดงภายในงาน และรางวัลจากองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization) หรือไวโป (WIPO) ซึ่งได้ร่วมมอบรางวัล "ไวโปอะวอร์ด” (WIPO) ในงานนี้ด้วย

ทั้งนี้ "ห้องครัวสำหรับคนพิการทางการเห็น" ซึ่งเป็นผลงานพัฒนาร่วมกันระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ได้รับรางวัล "เบสต์ วูเมน อินเวนเตอร์ อะวอร์ด" (Best Woman Inventor Award) จากองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก

ผศ.ดร.เบญจมาศ กุฏอินทร์ อาจารย์สาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน แขนงวิชาวิจัยสภาพแวดล้อมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ว่า ผลงานนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันกับวิทยาลัยราชสุดา ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2549 โดยจุดเริ่มต้นมาจากทางวิทยาลัยราชสุดาซึ่งมีศูนย์การดำรงชีวิตอิสระสำหรับคนพิการ ที่ฝึกให้คนพิการทำกิจกรรมได้ด้วยตัวเอง

“ที่ศูนย์จะฝึกให้ผู้พิการทางสายตาได้ซื้อของเอง ทำอาหารเอง แต่ครัวที่มีอยู่ไม่เหมาะสม จึงเกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนาครัวสำหรับผู้พิการทางสายตานี้ขึ้น โดยกลุ่มผู้พิการสายตามีทั้งที่บอดสนิทและสายตาเลือนลาง" ผศ.ดร.บญจมาศกล่าว

สิ่งที่แตกต่างไปจากครัวทั่วๆ ไปคือ ตู้ภายในครัวเป็นตู้ที่ใช้ประตูบานเลื่อนแทนประตูบานเปิด เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้พิการทางสายตา และแต่ละด้านของตู้ใช้สีตัดกันเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาแบบเลือนลางมองเห็นขอบตู้ได้ ซึ่งจากการทดสอบและถามความเห็นของผู้พิการนั้นสีน้ำเงินและสีขาวตัดกันชัดเจนที่สุด

รวมทั้งต้องลบขอบและมุมโต๊ะ เพื่อความปลอดภัยด้วย ส่วนมีดและของมีคมซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นอันตรายนั้นผู้พิการทางสายตามีความระมัดระวังอยู่แล้ว แต่ต้องเก็บให้เป็นระเบีียบและเป็นที่เป็นทาง

ผศ.ดร.เบญมาศกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์อีกว่า นอกจากครัวสำหรับผู้พิการทางสายตาแล้ว ทางทีมพัฒนายังได้ออกแบบครัวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว หรือผู้พิการที่นั่งเก้าอี้รถเข็น แต่ทำออกมาเป็นแบบจำลองที่ใช้ไม้อัดเท่านั้น ยังไม่ได้สร้างครัวจริงขึ้นมาเหมือนครัวสำหรับผู้พิการทางสายตา เนื่องจากงบประมาณหมด จึงเลือกทำครัวสำหรับผู้พิการทางสายตาก่อน เนื่องจากเป็นผู้พิการที่ต้องฝึกการทำครัว ขณะที่ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวยังมองเห็นได้แต่อาจจะไม่สะดวกนัก

สำหรับครัวเพื่อผู้พิการทางสายตานี้ ยังเคยได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2552 ด้านพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วย

นอกจากนี้องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลกยังได้มอบรางวัล "เอาท์แสตนดิง อินเวนเตอร์ อะวอร์ด” (Outstanding Inventor Award) ให้กับผลงานเรื่อง "โปรแกรมเครื่องฝึกจำลองยุทธ์ NWS 980” ของ นาวาอากาศเอก สุรภักดิ์ ธาราจันทร์ จากสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง และรางวัล "เบสต์ ยัง อินเวนเตอร์ อะวอร์ด” (Best Young Inventor Award) ให้กับผลงานเรื่อง "เครื่องแยกข้าวสารเมล็ดสวย" ของนายอำพล พันธุ์วิเศษ นายสราวุธ อ่อนดี และนายอัครพงษ์ ลอดสุโข นักเรียน ม.ปลาย โรงเรียนพยัคฆภูมิวิทยาคาร จ.มหาสารคาม

พร้อมกันนี้ วช.ยังได้มอบรางวัล "อินเวนเตอร์ อะวอร์ด” (Inventor Award) ให้กับผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่่นำมาจัดแสดงภายในงานวันนักประดิษฐ์นี้ด้วย ได้แก่ รางวัล "อินเวนเตอร์ อะวอร์ด" (Inventor Award) รางวัลโครงการค่ายนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ รางวัลขวัญใจนักประดิษฐ์ และรางวัลขวัญใจประชาชน รวมทั้งหมด 77 รางวัล
ผศ.ดร.เบญจมาศ กุฏอินทร์ รับรางวัลจาก นางเซซิล เบนบาเซีย ผู้อำนวยการหน่วยรางวัลไวโปอะวอร์ดด
ภาพจำลองห้องครัวสำหรับผู้พิการทางสายตา
ภาพจากเอกสารเผยแพร่ของทีมพัฒนา ซึ่งงระบุข้อมูลว่าประตูตู้แบบเลื่อนเปิด-ปิด ปลอดภัยต่อผู้พิการทางสายตามากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น