สวทช.คาดปีนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น 20-30% จากการให้เช่าเครื่องมือ-พื้นที่และรับจ้างวิจัย คิดเป็นเงิน 700 ล้านบาท ระบุการมีโครงการสร้างพื้นที่ให้เอกชนใช้ประโยชน์ ร่วมกันทำให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นความคุ้มค่าของการทำวิจัย พร้อมเผยเตรียมทุ่มงบ 10 ล้านสร้างอาคารชั่วคราวรองรับการบ่มเพาะธุรกิจใหม่อีก 20 ราย
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดห้องประชุมอาคารโยธี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ให้สื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" เข้าสัมภาษณ์ถึงแผนการดำเนินงานประจำปี 2552 เมื่อเช้าวันที่ 22 ม.ค.52 โดยระบุว่าทิศทางของ สวทช.ในปีนี้จะเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น
ทั้งนี้ จะได้ขยายงานของสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช.จากเดิมที่เป็นหน่วยงานในการจดสิทธิบัตรและรวบรวมว่ามีองค์ความรู้ขององค์กรอยู่ที่ใดบ้าง สู่การเป็นหน่วยงานที่ติดต่อประสานงานกับภาคเอกชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือและการถ่ายความรู้ขององค์กรสู่ภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งต้องเพิ่มจำนวนบุคลากรเพื่อรองรับงานที่เพิ่มด้วย โดยปี 2551 ที่ผ่านมามีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น 130 ผลงาน และปีก่อนหน้านั้นมี 70 ผลงาน ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีผลงานเพิ่มขึ้นอีก
"ตอนนี้มีผลงานอยู่ประมาณ 600 ชิ้น ซึ่งถ่ายทอดสู่เอกชนแล้ว 100 ชิ้น และคาดว่าปีนี้จะถ่ายทอดสู่เอกชนอีก 30-40 ชิ้น และคาดว่าปีนี้จะมีรายได้โตขึ้น 20-30% จากเดิม 500 ล้านบาทเป็น 700 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการรับจ้างวิจัย การให้บริการ ค่าให้เช่าเครื่องมือและค่าเช่าพื้นที่ เงินอุดหนุนการวิจัยจากภาครัฐ อย่างปีที่ผ่านมาเราได้เงินอุดหนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงกลาโหม" รศ.ดร.ศักรินทร์กล่าว
พร้อมกันนี้ รศ.ดร.ศักรินทร์ระบุด้วยว่าจะได้สร้างอาคารชั่วคราวสำหรับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) ที่ใช้งบประมาณราว 10 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจใหม่ที่ต้องการเข้ามาใช้พื้นที่เพิ่มขึ้น 20 ราย จากเดิมที่รองรับได้ 30 รายจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 ราย โดยอาคารดังกล่าวเป็นอาคารชั้นเดียวที่จะใช้งานสักระยะเพื่อรอตึกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปี
"บรรยากาศการวิจัยของประเทศดีขึ้น เพระาผู้ประกอบการเริ่มเห็นความสำคัญของงานวิจัย ทั้งนี้ สวทช.มีเครื่องมือวิจัยที่สามารถใช้งานได้หลายอย่าง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้งานร่วมกันได้ โดยเครื่องมือวิจัยชิ้นหนึ่งราคา 20-30 ล้านบาท ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องมือเองทุกอย่าง การมีโครงสร้างพื้นฐานตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้บริษัทเห็นว่าคุ้มที่จะทำวิจัย" รศ.ดร.ศักรินทร์ระบุ
ผู้อำนวยการ สวทช.ระบุด้วยว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าองค์กรจะเป็นหน่วยงานที่ให้บริการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ภาคเอกชนที่ดีขึ้น โดยจะบริหารจัดการงานวิจัยได้ดีขึ้น รวมถึงการเป็นหน่วยงานที่มีห้องปฏิบัติการที่เก่งและมีความสามารถของประเทศ พร้อมยกตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาในการให้ความช่วยเหลือบริษัทน้ำตาลผลิตชุดตรวจโรคใบขาวในอ้อย ซึ่งใช้ระยะเวลาวิจัยเพียง 3-4 เดือน โดยใช้ความสามารถของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในการตอบปัญหาให้กับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องอ้อยและน้ำตาล แต่ไม่ชำนาญเรื่องโรคพืช