xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกในโลก! นักวิจัยไทยทำ "แผ่นซีเมนส์" จากยางพารา-ยูคาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปัญญชัย กีรติมงคลเลิศ (กลาง) ถือแผ่นใยซีเมนส์จากไม้ยางพาราและยูคาลิปตัส พร้อมด้วย รศ.ทรงกลด จารุสมบัติ (ขวาสุด) ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมป่าไม้
เอ็มเทคให้ทุนนักวิจัย มก.ทำแผ่นใยซีเมนส์และไม้อัดซีเมนส์ จากไม้ยางพาราและเศษยูคาฯ เป็นครั้งแรกในโลก เผยเทคโนโลยีเดิมต้องใช้ "ไม้สน" นำเข้าจากต่างประเทศ ด้านบริษัทเอกชนผู้รับช่วงต่อ เผยเทคโนโลยีคนไทย ช่วยให้ไม่ต้องนำเข้าเครื่องจักรมูลค่า 500 ล้าน

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการ" ได้เข้าสังเกตการณ์พิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยสูตรผลิตภัณฑ์ และกรรมวิธีการผลิตแผ่นใยซีเมนส์จากไม้ยางพารา และกระบวนการผลิตแผ่นใยไม้อัดซีเมนส์จากเส้นใยไม้ยูคาลิปตัสที่ผ่านการปรับสภาพ ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) แก่บริษัท สยามฮันนี่คอมป์ จำกัด เมื่อวันที่ 19 ม.ค.52 ณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานอนุญาตสิทธิโดยสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO)

รศ.ทรงกลด จารุสมบัติ จากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวถึงที่มาของการทำวิจัยว่า ไม้ยางพาราถือเป็นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยในอุตสาหกรรมไม้ของไทยใช้ไม้ยางพาราถึง 80% เนื่องจากมีต้นทุนถูกกว่าไม้ชนิดอื่น

อย่างไรก็ดีในอุตสาหกรรมไม้ยางพารามีเศษเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปถึง 50-55% ซึ่งเมื่อคำนวณก่ใช้ประโยชน์จากไม้ซุงยางพารา พบว่าใช้ประโยชน์ได้เพียง 20-25% เท่านั้น จึงเกิดความคิดที่จะนำเศษเหลือทิ้งจากไม้ยางพารามาผลิตเป็นวัสดุก่อสร้าง

หลังจากทำวิจัยเป็นเวลาปีครึ่ง ภายใต้ทุนสนับสนุน 3 ล้านบาทจากเอ็มเทค รศ.ทรงกลดพร้อมด้วยทีมวิจัยจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์และนักวิชาการป่าไม้จากสำนักวิจัยการจัดการป่าไม้ กรมป่าไม้ สามารถพัฒนาผลิตแผ่นใยซีเมนส์จากไม้ยางพาราและแผ่นใยไม้อัดซีเมนส์จากเส้นใยยูคาลิปตัสสำเร็จ ซึ่งบริษัท สยามฮันนี่คอมป์ จำกัด รับถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวไปต่อยอดเพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่อไป

"เราเป็นแห่งแรกในโลกที่นำ "เยื่อใยสั้น" ที่ได้จากเส้นใยไม้ยูคาลิปตัสและเส้นใยไม้ยางพารามาผลิตเป็นแผ่นใยซีเมนส์ โดยที่ผ่านมามีการผลิตโดยใช้ "เยื่อใยยาว" จากไม้สนซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ" รศ.ทรงกลดระบุ

ทั้งนี้ รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา อำนวยการเอ็มเทค กล่าวเสริมว่า การพัฒนาแผ่นใยซีเมนส์โดยใช้เยื่อใยสั้นนั้น มีความสำคัญเพราะเยื่อใยสั้นมีความแตกต่างจากเยื่อใยยาวมาก และการวิจัยเพื่อใช้เยื่อใยสั้นทดแทนเยื่อใยยาวเป็นเรื่องที่ยากมาก อีกทั้งอุตสาหกรรมไม้ที่มีเศษยางพาราเหลือทิ้งในบางครั้งมีมูลค่าติดลบเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัด และงานวิจัยนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุนำเข้าจากต่างประเทศด้วย

"พันธกิจหลักของ สวทช. คือทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งงานวิจัยถือเป็นนิมิตหมายอันดีและได้รับอนุสิทธิบัตรแล้ว ถึงแม้ไม่ใช่งานวิจัยตรงจาก สวทช. แต่ก็เป็นงานผลงานของพันธมิตรจากมหาวิทยาลัย ซึ่งความร่วมมือในการทำวิจัยเช่นนี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศที่มีทรัพยากรจำกัดอย่างไทย และไม่ใช่แค่ผลงานภายในของ สวทช.ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แต่ผลงานจากภายนอกก็มีส่วนสำคัญยิ่ง" รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว

ทางด้าน นายปัญญชัย กีรติมงคลเลิศ กรรมการบริษัท สยามฮันนี่คอมป์ จำกัด กล่าวว่าบริษัททำอุตสาหกรรมผลิตกระดาษอัด (Hard Board) และมีเศษวัสดุเหลือทิ้งจากไม้ยูคาลิปตัสจำนวนมาก ทั้งนี้เมื่อทราบทางเอ็มเทคมีงานวิจัยเกี่ยวกับการผลิตแผ่นใยซีเมนส์จากเส้นใยยางพาราและไม้ยูคาลิปตัส จึงมีความสนใจ เนื่องจากบริษัทมีเครื่องที่สามารถปรับปรุงเพื่อรองรับการผลิตดังกล่าวได้และต้องนำเข้าเครื่องจักรเพียงบางส่วน

ทั้งนี้ หากใช้เทคโนโลยีผลิตแผ่นใยซีเมนส์แบบเดิมซึ่งใช้เส้นใยยาวนั้น นายปัญญชัยระบุว่าต้องนำเข้าเครื่องจักรมูลค่าถึง 500 ล้านบาท แต่เมื่อมีเทคโนโลยีของคนไทยเองทำให้ลดต้นทุนดังกล่าวเหลือเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น และจากนี้ยังต้องวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกประมาณ 1 ปี จึงคาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์เพื่อวางจำหน่ายได้

นายปัญญชัยกล่าวว่า แม้แผ่นใยซีเมนส์จากต่างจากกระดาษอัดแต่ก็เป็นสินค้าในไลน์เดียวกัน คือเป็นวัสดุในการก่อสร้าง โดยปัจจุบันผลิตเป็นผนังห้องและฝ้าเพดานได้แล้ว ทั้งนี้กระดาษอัดสู้แผ่นใยซีเมนส์ไม่ได้ตรงที่ ไม่สามารถทนน้ำหรือความชื้นมากๆ ได้ แต่แผ่นซีเมนส์ทยชื้นและนำไปใช้กับผนังนอกอาคารได้ อีกทั้งยังกันมอดและเชื้อราได้ และนอกจากแผ่นผนังแล้วบริษัทจะร่วมกับเอ็มเทคเพื่อพัฒนาเป็นแผ่นพื้นสำหรับตกแต่งต่อไป

"การซื้อผลงานที่เกิดจากงานวิจัยของไทย ช่วยประหยัดเงินลงทุนได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากไม่ต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทั้งนี้บริษัทได้มองหางานวิจัยที่ช่วยให้บริษัทมีสินค้าที่หลากหลาย โดยบริษัทมีเครื่องจักรที่สามารถปรับปรุงเพื่อผลิตสินค้านี้ได้ และไม่ต้องซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี อยากให้ สวทช.ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยมากกว่านี้และเชื่อว่ายังมีผลงานวิจัยมากกว่านี้ ทั้งนี้งานวิจัยของไทยกควรให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์ เพราะบางครั้งต่างชาติซื้อแล้วไปเก็บไว้ แต่คนไทยคงไม่ทำอย่างนั้น" นายปัญญชัยกล่าว
รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา
พิธีลงนาม
กำลังโหลดความคิดเห็น