xs
xsm
sm
md
lg

ปีนี้มี "สุริยุปราคา" นานที่สุดในศตวรรษ แต่ไทยเห็นแค่บางส่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอารี สวัสดี สาธิตการเกิดสุริยุปราคา โดยแผ่นกระดาษวงกลมสีดำแทนเงาดวงจันทร์ และสีแดงแทนดวงอาทิตย์ โดยภาพขณะสาธิตนี้คือคราสขณะกำลังคล้อยลับขอบฟ้า
ปีนี้เกิดสุริยคราส 2 ครั้ง รับปีดาราศาสตร์สากล โดยสุริยคราสครั้งสุดท้ายของปี เป็นสุริยุปราคาที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษ โดยอินเดีย จีน ญี่ปุ่น เห็นเป็นคราสเต็มดวง แต่ไทยเห็นเป็นเพียงคราสบางส่วน และที่เชียงรายเห็นการบดบังมากที่สุดและยาวนานที่สุด

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดเวทีสัมมนา "คุยกัน...ฉันวิทย์" เรื่อง "สุริยุปราคาในเมืองไทย" เมื่อวันที่ 9 ม.ค.52 โดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ได้เข้าร่วมฟังเสวนาดังกล่าวที่ รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และนายอารี สวัสดี กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย ร่วมเสวนา

ทั้งนี้ รศ.บุญรักษา สุนทรธรรมกล่าวว่า ระหว่างปี 2552-2553 ไทยจะได้เห็นสุริยุปราคาบางส่วนทั้งหมด 3 ครั้ง คือ วันที่ 26 ม.ค.52, วันที่ 22 ก.ค.52 และ 15 ม.ค.53 โดยทาง สดร.จะจัดกิจกรรม รับปรากฏการณ์สุริยุปราคาทั้งสองครั้งในปี 2552 นี้ ทั้งนี้สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในเมืองไทยคือ เมื่อ 24 ต.ค.2538 ที่ผ่านมา และจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่เห็นได้ในเมืองไทยอีกครั้งปี 2613

อย่างไรก็ดี การชมสุริยุปราคาบางส่วนที่จะเกิดขึ้นนั้น ไม่สามารถชมได้ด้วยตาเปล่า แต่ต้องอาศัยอุปกรณ์กรองแสง แว่นตาสำหรับชมสุริยุปราคาโดยเฉพาะหรือมองผ่านฉากรับ ห้ามมองโดยตาเปล่าหรือมองผ่านกล้องโทรทรรศน์เด็ดขาด เนื่องจากทำให้ตาบอดได้ โดยเฉพาะการมองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะทำให้ตาบอดได้ทันที

ทางด้าน ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา ได้ถึงเล่าประสบการณ์การชมสุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อ 11 ส.ค.2551 ที่ไซบีเรีย และเปิดภาพถ่ายและคลิปวิดีโอการเกิดสุริยุปราคา ซึ่งก่อนคราสบังเต็มดวงเกิดปรากฏการณ์แหวนเพชร (diamond ring effect) ที่แสงสุดท้ายลอดผ่านก่อนที่จะมืดสนิท แล้วจะเห็นชั้นโคโรนาของอาทิตย์ จากนั้นเกิดปรากฏการณ์แหวนเพชรอีกครั้งเมื่อคราสเริ่มออก ทั้งนี้เขาตั้งปณิธานว่าจะได้อยู่ใต้เงาจันทร์ในปรากฏการณ์สุริยุปราคาให้ครบ 1 ชั่วโมง โดยตอนนี้ได้อยู่ใต้เงาจันทร์แล้ว 15 นาที

"แม้ดวงจันทร์จะบังไปแล้ว 99% แต่แสงของดวงอาทิตย์ก็ยังสว่างมาก และยังไม่สามารถมองได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อดวงอาทิตย์ถูกบดบังสนิทแล้วจะมืดลงทันทีและจะเห็นชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์คือชั้นโคโรนา" ดร.ศรันย์ระบุ

สำหรับ สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 ม.ค.นี้ ดร.ศรัยน์กล่าวว่า เป็นสุริยุปราคาแบบวงแหวนที่มีแนวคราสพาดผ่านมหาสมุทรอินเดีย และตะวันตกของอินโดนีเซีย แต่สำหรับไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน โดยจะเห็นได้ทุกภูมิภาคแต่เห็นได้ในระยะเวลายาวนานต่างกัน ซึ่งจังหวัดในภาคใต้จะเห็นปรากฏการณ์ยาวนานกว่าจังหวัดในภาคเหนือ โดยนราธิวาสเห็นยาวนานที่สุด 54.9 นาที ส่วนเชียงรายเห็นสั้นที่สุดคือ 17 นาที

ทั้งนี้ดวงจันทร์จะเข้าสู่สัมผัสที่ 1 (First Contact) หรือจุดเริ่มต้นที่ดวงจันทร์เข้าบดบังดวงอาทิตย์เวลา 15.53 น. และสิ้นสุดที่ 17.58 น. แต่ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะตกลับขอบฟ้าตั้งแต่เวลา 17.56 น. จึงไม่ได้เห็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังมากที่สุด

ส่วนสุริยุปราคาในวันที่ 22 ก.ค.52 นั้น ดร.ศรันย์ให้ข้อมูลว่า เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่เห็นได้ตามแนวคราสพาดผ่านประเทศอินเดีย จีน ญี่ปุ่นและมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ส่วนไทย อินโดนีเซีย มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้และเอเชียตะวันออกทั้งหมด จะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน โดยดวงจันทร์เริ่มสัมผัสที่ 1 เวลา 07.06 น.และสิ้นสุดที่เวลา 09.08 น. โดยภาคเหนือจะเห็นได้นานที่สุดในจังหวัดเชียงราย 2 ชั่วโมง 12 นาที และดวงอาทิตย์บดบังมากที่สุด 69% ของพื้นที่ดวงอาทิตย์

สุริยุปราคาซึ่งจะเกิดขึ้นครั้งที่ 2 ของปีนี้เป็นสุริยุปราคาที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 และอยู่ในชุดซารอส (Saros) ที่ 136 ซึ่งเป็นชุดซารอสที่เกิดสุริยุปราคายาวนานที่สุด โดยซารอสหมายถึงชุดของการคราสในทุกๆ 18 ปี ทั้งนี้โดยเฉลี่ยโลก ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งเดิมทุกๆ 18 ปี ดังนั้นคราสที่เกิดขึ้นทุกๆ 18 ปีจะมีลักษณะใกล้เคียงกันทั้งเวลาที่เกิด รูปแบบและระยะเวลาของการเกิดคราส ส่วนสุริยุปราคาที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 20 เห็นได้ในเมืองไทยเมื่อปี 2498 โดยเห็นคราสเต็มดวงยาวนานถึงราว 7 นาที ซึ่งตามทฤษฎีเกิดคราสเต็มดวงยาวนานที่สุดได้ 7.31 นาที

ทางด้านนายอารีกล่าวว่า ในวันตรุษจีนที่ปีนี้เราจะได้เห็นสุริยุปราคาประมาณ 5 โมงเย็นเมื่อหันไปดูทางทิศตะวันตก แต่เหตุการณ์สุริยปุราคาครั้งสำคัญของไทยคือ สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2411 ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณการเกิดสุริยปุราคาและตำแหน่งที่คราสพาดผ่านได้อย่างแม่นยำ โดยทรงสั่งตำราจากสหรัฐฯ ฝรั่งเศสและอังกฤษเพื่อทรงศึกษา

พร้อมกันนี้นายอารีได้สาธิตลักษณะคราสที่จะเกิดขึ้นใน 2 ครั้งของปีนี้ด้วย โดยระบุว่าไทยจะเห็นดวงอาทิตย์แหว่งแล้วตกลับขอบฟ้าก่อนสิ้นสุดปรากฏการณ์ โดยสุริยุปราคาในวันที่ 26 ม.ค.นี้เป็นสุริยุปราคาวงแหวนซึ่งเราจะไม่ได้เห็นชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์

ขณะที่ ดร.ศรันย์ได้เสริมว่า การคำนวณเวลาเกิดสุริยุปราคาคำนวณได้ไม่ยาก คำนวณด้วยชุดซารอสก็ระบุได้แล้วว่าเมื่อไหร่ หรือใช้หลักทางโหราศาสตร์คำนวณก็ได้ แต่สิ่งที่ยากคือการคำนวณว่าจะเกิดที่ไหน ซึ่งต้องรู้เรื่องเวลาและแผนที่เป็นอย่างดี ทั้งนี้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงคำนวณได้แม่นยำว่าจะเกิดสุริยุปราคาที่ไหนและเมื่อไหร่ ทั้งที่ในอดีตไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้านัก

สำหรับวันที่ 26 ม.ค.52 ซึ่งจะเกิดสุริยุปราคราบางส่วนนั้น ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จะได้จัดแถลงข่าวถึงปีดาราศาสตร์สากล (International Year of Astronomy 2009: IYA 2009) ซึ่งองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Uniion: IAU) ประกาศขึ้นเนื่องในโอกาสครบ 400 ปีที่กาลิเลโอส่องกล้องโทรทรรศน์ขึ้นไปสำรวจดวงดาวและท้องฟ้า
ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม
เวทีเสวนาคุยกัน ฉันวิทย์ ซึ่งมี ดร.วิเทียน นิลดำ (ที่ 2 จากซ้าย) รองประธานสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินรายการ
กำลังโหลดความคิดเห็น