xs
xsm
sm
md
lg

ต้อนรับสู่ "ปีฉลู" ล้อมวงฟังราชบัณฑิตเล่าเรื่อง "ดาววัว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มดาววัวบนท้องฟ้า ซึ่งจะเห็นดาวตาวัวดวงสีส้ม กระจุกดาวลูกไก่ที่อยู่เยื้องขึ้นไปด้านบน และเนบิวลาปู (Crab Nebula) ซึ่งเห็นเป็นดาวดวงสีฟ้าสว่างรองลงมา (บันทึกภาพโดย Akira Fujii / spacetelescope.org)
ต้อนรับสู่ปีใหม่ 2552 ซึ่งตามปฏิทินสุริยคติปีนี้ตรงกับปีนักษัตร "ฉลู" หรือปีวัว แต่แทนที่จะไปนั่งใต้ต้นมะขามเพื่อ "ดูดวง" ให้จิตใจห่อเหี่ยว เราไปนังฟัง "อ.นิพนธ์ ทรายเพชร" ราชบัณฑิตดาราศาสตร์เล่าเรื่อง "ดาววัว" ให้จิตใจเราเบิกบานและเติมเต็มความรู้เรื่องดาราศาสตร์กันดีกว่า

อาจารย์นิพนธ์ ทรายเพชร ราชบัณฑิตดาราศาสตร์เล่าถึง "กลุ่มดาววัว" (Taurus) แก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า กลุ่มดาววัวเป็น 1 ในกลุ่มดาวจักรราศีซึ่งเรานำมาตั้งเป็นชื่อเดือนพฤษภาคม โดยคนไทยนำชื่อดาวจักรราศีมาตั้งชื่อเดือนทั้ง 12 เดือน ทั้งนี้เดือนพฤษภาคมหมายถึง "มาถึงวัวแล้ว" โดย "พฤษภ" หมายถึง วัว และ "อาคม" หมายถึง มาถึง และสิ่งที่มาถึงคือ "ดวงอาทิตย์" เนื่องด้วยช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. เป็นช่วงที่ดาววัวขึ้นและตกท้องฟ้าพร้อมๆ ดวงอาทิตย์

"ดาววัวเป็นดาวที่เห็นได้ง่ายและเห็นตลอดทั้งคืน ในช่วงนี้ดาววัวจะขึ้นมาตั้งแต่หัวค่ำ โดยจะขึ้นทางทิศตะวันออกค่อนไปทางเหนือ และจะผ่านกลางศีรษะเราทุกคืนแต่เวลาที่ผ่านไม่ตรงกัน เมื่อขึ้นมาแล้ว "ดาวนายพราน" (Orion) จะตามขึ้นมาตรงทิศตะวันออกพอดี เหมือนวัวไล่นายพราน ใน 1 ปีจะเห็นดาววัวขึ้นจากขอบฟ้าทุกวันแต่จะเห็นเร็วขึ้นวันละ 4 นาที ใน 1 เดือนจะเร็วขึ้น 2 ชั่วโมง เช่น เดือนนี้ขึ้นตอน 18.00 น. เดือนหน้าจะขึ้น 16.00 น. เป็นต้น แต่เดือนที่ไม่เห็นคือช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. เพราะดาววัวขึ้น-ตกพร้อมดวงอาทิตย์ แต่สำหรับเดือน ธ.ค.จะเห็นดาววัวนานที่สุด" อ.นิพนธ์กล่าว

ทั้งนี้ "กระจุกดาวลูกไก่" (Pleiades) ยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาววัว อยู่บริเวณโหนกวัว และมีดาวสว่างที่สุดคือ "ดาวตาวัว" (Aldebaran) หรือดาวอัลเดบารานซึ่งเป็นภาษาอาหรับที่แปลว่า "ผู้ติดตาม" ทั้งนี้เพราะเราจะเห็นกระจุกดาวลูกไก่ขึ้นก่อนดาวตาวัว จึงเหมือนดาวตาวัวเป็นผู้ติดตามกระจุกดาวลูกไก่ เมื่อดาววัวขึ้นจะเห็นหน้าวัวซึ่งเป็นรูปตัว V คว่ำหน้า และเมื่อตกขอบฟ้าที่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือจะหงายหน้าขึ้น

สำหรับคนที่ไม่เคยดูดาวมาก่อนหรือ อ.นิพนธ์แนะว่า ให้สังเกตดาวนายพรานหรือที่คนไทยเรียกดาวเต่า และบริเวณ "เข็มขัดนายพราน" ที่เห็นดาวเรียงกัน 3 ดวง ซึ่งคนไทยเรียกว่า "ดาวไถ่" คือพิกัดที่ใช้บอกตำแหน่งดาววัวได้ เมื่อเห็นดาวไถ่แล้วให้ลากเส้นไปทางเหนือจะเฉียดดาวตาวัว และในทิศตรงกันข้ามที่ระยะทางเท่ากันจะเป็นตำแหน่งของ "ดาวโจร" หรือ "ดาวสุนัขหลับ" ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในเวลากลางคืน

อ.นิพนธ์บอกว่าแต่โบราณเราเชื่อว่าดาววัวเป็นดาวแห่งเทพเจ้าเพราะเราเห็นดาวเคราะห์ต่างๆ ผ่านดาววัวประจำ แต่ในทางดาราศาตร์แล้วก็ไม่ได้มีความสำคัญไปกว่าดาวอื่นๆ แต่ที่น่าสนใจคือในกลุ่มดาววัวมีทั้งดาวฤกษ์อายุน้อยอย่างกระจุกดาวลูกไก่ และมีทั้งดาวอายุมากอย่างดาวตาวัวอยู่ในกลุ่มดาวเดียวกัน
แผนที่ดาวของดาววัว (ภาพ starrynight.com)
ประมวลข่าวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

- ต้อนรับสู่ "ปีฉลู" ล้อมวงฟังราชบัณฑิตเล่าเรื่อง "ดาววัว"
- สวัสดีปีฉลู นานาน่ารู้เรื่องวิทย์กับวัว

- 5 ข่าววิทย์เศร้า-ฉาว-ลวงในเมืองไทยปี '51
- "เซิร์น" ที่สุดแห่งข่าววิทย์รอบโลกในรอบปี 51
- จากวิกฤติอาหารปี 51 จนถึงไฟเขียวทดลองภาคสนาม ก็ยังไม่ถึงยุคทองของจีเอ็มโอ
- ผ่านปี '51 ผู้บริโภคยังต้องตัดสินใจเรื่องความปลอดภัย "สินค้านาโน"
สัญลักษณ์ปีนักษัตรของปีฉลู (ภาพ wikipedia)
อ.นิพนธ์ ทรายเพชร
กำลังโหลดความคิดเห็น