ประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงโรคเรื้อนมานานร่วม 2,500 ปีแล้ว ดังที่ตำรา Sushruta Samhita ของอินเดียในสมัยพุทธกาลได้บันทึกว่ามีคนเป็นโรคเรื้อนจำนวนมากในเมือง Kashi ส่วนในจีนจารึกที่ปรากฏบนแผ่นไม้ซึ่งพบเมื่อปี 2518 ที่เมือง Shuihudi ใกล้เมือง Yunmeng ในมณฑล Hubei ก็เล่าลักษณะคนที่เป็นโรคเรื้อนว่าหู หน้าตา ผิวเป็นตุ่มโปนโต ดั้งจมูกหุบ คิ้วบวม ผมร่วง เข่าและศอกเสื่อมสภาพ อีกทั้งผิวหนังเป็นเกล็ด สำหรับในยุโรป Aulus Cornelius Celsus ผู้เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน ในช่วง พ.ศ. 518 - 580 ได้เขียนบันทึกในหนังสือ De Medicina ว่าในกรุงโรมมีคนเป็นโรคเรื้อนมากมาย Pliny ปราชญ์โรมัน ที่เคยมีชีวิตในช่วง พ.ศ. 566 - 622 ก็ได้เคยเอ่ยถึงการระบาดของโรคเรื้อนในอาณาจักรโรมัน
เมื่อถึงยุคกลาง คือราวพุทธศตวรรษที่ 18 ยุโรปมีโรงพยาบาลสำหรับดูแลและรักษาคนเป็นโรคเรื้อน มากถึง 19,000 โรง โดยให้พระนักบวชเป็นผู้ดูแล และให้โรงพยาบาลเป็นสถานกักกัน เพราะสภาพความเป็นอยู่ ของคนที่เป็นโรคเหล่านี้น่าอนาถและน่าสงสารมาก นักบวช Ralf ผู้ดูแลจึงอธิษฐานว่าขอให้ตนเป็นโรคแทน และก็ได้เป็นสมใจปรารถนา และเมื่อสมัยนั้นไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยจึงเป็น คนที่สังคมรังเกียจและกลัว จนได้กำหนดให้คนที่เป็นโรคต้องสั่นกระดิ่งเวลาเดินไปไหนมาไหน เพื่อเตือน คนทั่วไปว่าตนกำลังเดินมา ดังนั้น ก็ควรเตรียมตัวหนีหรือไม่ก็เตรียมเงินและอาหารที่จะให้
ในปี 2416 (รัชสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) แพทย์ชาวนอร์เวย์ชื่อ G.H. Armauer Hansen ซึ่งทำงานประจำอยู่ที่ St.Jorgens Hospital ในเมือง Bergen ได้พบว่าบักเตรี Mycobacterium leprae คือสาเหตุที่ทำให้คนเป็นโรคเรื้อน ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงเรียกโรคเรื้อนว่าโรค Hansen
อันที่จริง คำว่าโรคเรื้อนตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า leprosy ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำในภาษากรีกว่า lepros ที่แปลว่า เกล็ด หรือ สะเก็ด เพราะผิวของคนเป็นโรคนี้จะเป็นตุ่มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวตั้งแต่ 1 - 5 เซนติเมตร ขึ้นเต็มตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายเหมือนเกล็ดปลาและสำหรับคนที่เป็นมากจมูกอาจแหว่ง มือและเท้าอาจกุด อีกทั้งผิวตรงบริเวณที่เป็นโรคจะมีอาการชา จนใครเอาเข็มแทงก็ไม่เจ็บ อนึ่ง ตุ่มเหล่านี้มักขึ้นตามบริเวณข้อศอกและขาพับ และหากตุ่มลามถึงตา ตาก็จะบอด
แพทย์มักพบอีกว่า ผู้ชายเป็นโรคเรื้อนมากกว่าผู้หญิงในอัตราส่วน 3 : 1 และเด็กเป็นโรคเรื้อนง่ายกว่าผู้ใหญ่ เพราะโรคนี้มีระยะฟักตัวค่อนข้างนาน คือโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 3 - 5 ปี นั่นจึงหมายความว่า หลังจากเชื้อเข้าร่างกายแล้ว อีก 3 - 5 ปี คนคนนั้นจึงจะออกอาการ สถิติการ สำแดงอาการที่สั้นสุด 6 เดือน และที่นานสุด 10 ปี
ณ วันนี้แพทย์ไม่รู้สึกมั่นใจ 100% ว่าเชื้อโรคเรื้อนเข้าสู่ร่างกายได้โดยทางใดบ้าง แต่ก็ได้เตือนคนทั่วไปว่าพยายามอย่าเข้าใกล้คนที่เป็นให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสเขา ส่วนทารกที่พ่อแม่เป็นโรคเรื้อนควรแยกเลี้ยง และไม่ควรให้ร่างกายได้รับน้ำมูกจากคนเป็นเลย เพราะแพทย์เชื่อว่าเชื้อโรคเรื้อนติดต่อกันได้โดยทางผิวหนัง และระบบหายใจ และถึงจะเป็นโรคที่ร้ายแรง แต่โรคเรื้อนก็อยู่ในวิสัยที่แพทย์สามารถรักษาให้หายขาดได้ และอาจต้องใช้เวลานาน
องค์การอนามัยโลกได้ประมาณว่า ปัจจุบันโลกมีคนเป็นโรคเรื้อนประมาณ 2 - 3 ล้านคน คนอินเดียเป็นมากที่สุด คนบราซิลมากเป็นอันดับสอง และคนพม่ามากเป็นอันดับสาม โดยคนที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มักอยู่ในเขตร้อนและแอฟริกา เช่น อินเดีย จีน พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บราซิล Madagascar, Mozambique, Tanzania, และ Nepal ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นโดยภาพรวมว่า คนที่เป็นโรคเรื้อนมักอาศัยอยู่ในประเทศที่ยากจน ที่ผู้คนมีอาหารไม่อุดมสมบูรณ์และพื้นที่มีการแพร่ระบาดของวัณโรคกับเอดส์ สถิติคนเป็นโรคเรื้อนในแอฟริกาในระหว่างปี 2544 - 2548 ระบุว่า มีคนป่วยเพิ่มปีละประมาณ 45,000 คน ส่วนในเอเชียอาคเนย์มีเพิ่มปีละ 133,000 คน และทั่วโลกเพิ่มปีละ 500,000 คน
ดังนั้นในปี 2534 World Health Assembly (WHA) จึงได้ตั้งปณิธานว่าจะกำจัดโรคเรื้อนให้หมดโลก ภายในปี 2543 แต่เมื่อถึงเวลาที่กำหนด WHA ก็พบว่ากำจัดโรคเรื้อนได้ไม่หมด สาเหตุเพราะเชื้อชนิดนี้ใช้เวลาในการฟักตัวนาน กว่าอาการจะปรากฏ ประกอบกับแพทย์ไม่มีอุปกรณ์ดีๆ ที่สามารถตรวจสอบได้เร็วเมื่อเชื้อเข้าร่างกายใหม่ๆ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ปัญหาการกำจัดโรคเรื้อนยากขึ้นไปอีก ถึงกระนั้นสถิติการกำจัดในปี 2543 ก็ดีขึ้นพอสมควร เพราะคนที่เป็นโรคเรื้อนได้ลดจำนวนลงจาก 5 ล้านคน เป็น 1 ล้านคน ดังนั้น ในปี 2552 WHA จึงจะจัดการประชุมนานาชาติอีก ภายใต้หัวข้อว่า First International Conference on the Elimination of Leprosy as a Public Health Problem โดยมีจุดมุ่งหมายจะหาวิธีที่ดีที่สุดกับวิธีตรวจหาเชื้อที่ดี และให้การศึกษาอบรมคนป่วยว่าตนเป็นโรคนี้เพราะสาเหตุอะไร รวมทั้งช่วยกำจัดความเชื่อผิดๆ ของสังคมที่มักกล่าวหาว่าคนป่วย เป็นคนบาปหนา เป็นคนที่ถูกพระเจ้าสาบ และเป็นคนจิตใจสกปรก เพราะถ้าสังคมไม่รังเกียจคนเหล่านี้ เขาก็จะไม่หลบซ่อน และกล้าออกมาเพื่อรักษาตัวจนหาย
สำหรับเรื่องการรักษาคนเป็นโรคเรื้อนนั้น แพทย์ได้ใช้ยา dapsone, rifampicin และ clofazimine แต่ได้พบในเวลาต่อมาว่า เชื้อสามารถต้านยา dapsone ได้ ดังนั้นแพทย์จึงหันมาใช้ยาทั้งสามชนิดร่วมกันในการรักษา เป็นแบบ multidrug therapy (MDT) นอกจากนี้การผ่าตัดยังสามารถช่วยให้กล้ามเนื้อที่เสียไปคืนสภาพได้บ้าง
ในส่วนของการใช้วัคซีนป้องกันนั้น แพทย์ได้พบว่า วัคซีน BCG ที่ป้องกันวัณโรค สามารถป้องกันโรคเรื้อนได้บ้าง ทั้งนี้เพราะ Stewart Cole แห่ง Pasteur Institute ในปารีสกับคณะได้รายงานในวารสาร Nature ฉบับที่ 409 หน้า 100 ว่าตัวเชื้อโรคเรื้อนมียีน (gene) ที่ทำงานประมาณครึ่งหนึ่งของเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ที่ทำให้คนเป็นวัณโรค ถึงกระนั้น Cole ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่า gene ตัวใดบ้างที่ทำให้คนเป็นโรคเรื้อน แต่เมื่อ gene มีจำนวนน้อย โอกาสการค้นพบก็ค่อนข้างมาก และการพบก็จะช่วยให้คนรู้โอกาสที่จะเป็นโรคได้แต่เนิ่น ๆ อีกทั้งช่วยกักบริเวณไม่ให้คนป่วยแพร่เชื้อ จึงเป็นการลดการระบาดได้ดีด้วย
อนึ่งแพทย์ยังพบอีกว่าเวลาคนรู้ตัวว่าเป็นโรคเรื้อน เขาจะมีอาการซึมเศร้าจนกินอาหารไม่ได้ น้ำหนักจะลด จึงมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันตก และในที่สุดร่างกายก็อาจรับเชื้อวัณโรคเข้าไปด้วย เพราะการตรวจ DNA ของศพคนโบราณที่ตายใน Dakhleh Oasis ที่อียิปต์ และที่ Puspokladamy ที่ฮังการีได้มีการพบเชื้อบักเตรีที่ทำให้คนเป็นโรคเรื้อนและวัณโรคอยู่ด้วยกันครับ
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.