อดใจสักนิดก่อนฉลองส่งท้ายปี 2551 เพื่อให้ได้เวลาที่มาตรฐานและสอดคล้องกันระหว่างการโคจรของโลกกับนาฬิกาอะตอม เราจำเป็นต้องยึดเวลาสิ้นปีออกไป 1 วินาที
ตามรายงานของเอพีและไลฟ์ไซน์เวลาสิ้นปี 2551 นี้ต้องยืดออกไป 1 วินาที ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจและโลกที่หมุนช้าลง เราจึงจำเป็นต้องเพิ่ม "วินาทีพิเศษ" ให้กับ "นาฬิกาอะตอม" (atomic clock) เพื่อคงความสอดคล้องกันระหว่างนาฬิกาและการหมุนของโลกที่ช้า โดยเวลาพิเศษจะเพิ่มเข้าไปหลังเวลา 23:59:59 น.ของวันที่ 31 ธ.ค. ตามเวลามาตรฐาน ณ ตำแหน่งต่างๆ บนพื้นโลก (Coordinated Universal Time: UTC)
ทั้งนี้ ไลฟ์ไซน์ระบุว่าเป็นที่ทราบกันดีเกี่ยวกับการปรับเวลาในปีอธิกสุรทิน (leap year) เพื่อรักษาเวลาตามปฎิทินให้คงที่ โดยเพิ่ม "วันพิเศษ" เข้าไปในสิ้นเดือน ก.พ. จาก 28 วัน เป็น 29 วัน ด้วยเหตุผลว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นเวลาประมาณ 365.2422 วัน แต่เราประมาณให้เป็น 365 เพื่อความสะดวก
ดังนั้นในทุกๆ 4 ปี เราจึงต้องเพิ่มวันเป็น 0.2422 x 4 วัน หรือเป็นเวลาประมาณ 1 วัน เช่นเดียวกันกับ "วินาทีพิเศษ" (leap second) ที่เพิ่มเข้าไปในนาฬิกาเพื่อรักษาความสอดคล้องกับการหมุนของโลกที่โดยธรรมชาติไม่อาจคาดเดาได้ ทุกๆ การหมุน 24 ชั่วโมง โลกจะนำเรามาพบกับท้องฟ้าในรุ่งเช้า
ในอดีต ความหมายของเวลาขึ้นอยู่การหมุนของโลกที่สัมพัทธ์กับวัตถุบนท้องฟ้า และ "วินาที" ก็ได้รับการนิยามจากกรอบอ้างอิงเดียวกันนี้ แต่เมื่อเกิดนวัตกรรม "นาฬิกาอะตอม" ขึ้น ทำให้การนิยามวินาทีไม่ขึ้นต่อการหมุนของโลกอีกต่อไ หากแต่ขึ้นอยู่กับสัญญาณที่ปลดปล่อยออกมาจากการเปลี่ยนระดับพลังงานของอิเล็กตรอนในอะตอม
เมื่อปี 2513 มีความตกลงระดับนานาชาติในการกำหนดมาตรเวลาขึ้นมา 2 ส่วน โดยส่วนแรกขึ้นอยู่กับการหมุนของโลกและอีกส่วนขึ้นอยู่กับเวลาของอะตอม แต่ปัญหาคือโลกหมุนช้าลง ทำให้มาตรเวลาทั้งสองไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นจึงต้องเพิ่ม "วินาทีพิเศษ" ให้กับนาฬิกาอะตอมบ่อยเท่าที่ต้องทำให้มาตรเวลาทั้งสองสอดคล้องกัน
องค์กรให้บริการระบบอ้างอิงและติดตามการหมุนของโลกสากลหรือไออีอาร์เอส ( International Earth Rotation and Reference Systems Service: IERS) ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามความแตกต่างระหว่าง 2 มาตรเวลา ได้เรียกร้องให้มีการเพิ่มหรือลดวินาทีพิเศษตามความจำเป็น ซึ่งมีการเพิ่มวินาทีพิเศษตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา โดยบางครั้งเพิ่มเข้าไปในรอบ 6 เดือน หรือ บางครั้งเพิ่มเข้าไปในรอบ 7 ปี และครั้งล่าสุดที่มีการเพิ่มวินาทีเข้าไปคือวันที่ 31 ต.ค.2548
สำหรับสหรัฐฯ แล้ว หน่วยงานที่ดูแลเรื่องเวลาของประเทศคือห้องปฏิบัติการกองทัพเรือสหรัฐฯ (U.S. Naval Observatory) และสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนิสต์ (National Institute of Standards and Technology: NIST) โดยห้องปฏิบัติการกองทัพเรือสหรัฐฯ มีหน้าที่ในการเก็บรักษานาฬิกามาสเตอร์ (Master Clock) ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นนาฬิกาอะตอมที่อยู่ในเมืองวออชิงตัน ดีซี และวินาทีพิเศษจะเพิ่มเข้าไปที่เวลา 6:59:59 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (Eastern Standard Time: EST)
ทั้งนี้ ไลฟ์ไซน์ระบุด้วยว่าอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและระบบจีพีเอส (Global Positioning System: GPS) จำเป็นต้องอาศัยความแม่นยำของเวลาที่ขึ้นอยู่กับการทำงานของนาฬิกาอะตอม