xs
xsm
sm
md
lg

กราฟิตี graffiti (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

กราฟิตีบนกำแพง
ส่วน Philippe Aries ผู้เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่สนใจเรื่องสถาบันครอบครัวโรมันก็ได้ศึกษา กราฟิตีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และพบว่าในสมัยโรมัน พ่อแม่ไม่มีความรู้สึกผูกพันกับลูกมาก เพราะลูกเสียชีวิตบ่อย เพราะขาดอาหารดีๆ หรือล้มป่วย ทำให้พ่อแม่ไม่ต้องการมีความผูกพันเชิงจิตใจกับลูก เพราะจะทำให้พ่อแม่เศร้าหมอง Aries ได้ข้อมูลนี้จากการอ่านข้อความที่หลุมฝังศพและพบว่า เด็กโรมันประมาณ 28 % เสียชีวิตตั้งแต่อายุไม่ถึง 1 ปี แต่เขาพบป้ายจารึกศพของเด็กเพียง 1.3% เท่านั้นเอง Aries จึงคิดว่า คงเป็นเพราะพ่อแม่ไม่มีเงินจัดทำป้ายศพ หรือไม่อยากแสดงความเศร้าโศกให้สังคมรู้ แต่ก็มีบางป้ายที่จารึกข้อความสะเทือนใจ เช่นว่า ลูกหายใจได้ 9 ครั้ง แล้วจากไป

นอกจากนี้กำแพงในโรมก็ยังมีข้อความเล่าเรื่องการบริการทางเพศทั้งของผู้หญิงและผู้ชายโดยโสเภณีจะเขียนข้อความสั้นๆ เสนอขายบริการ และที่น่าประหลาดใจคือในบ้านใหญ่ของเศรษฐีมีการแบ่งห้องให้โสเภณีเช่าเพื่อขายบริการ อนึ่งในสมัยโรมันนั้น ผู้หญิงกับผู้ชายใช้ห้องส้วมร่วมกัน ดังนั้นผนังส้วมจึงเป็นสถานที่นัดหมาย แต่เมื่อถึงสมัยนี้ ผู้ชาย ผู้หญิงใช้ห้องน้ำแยกกัน ภาษาที่เขียนจึงแตกต่างกัน

ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์เช่นนี้ เราสามารถดูได้จากการอ่าน กราฟิตี เสริมกับการอ่านบันทึกประวัติศาสตร์

คำถามหนึ่งที่นักจิตวิทยาสนใจใคร่รู้คำตอบคือ เหตุใดคนบางคนจึงชอบเขียน ขีด ข้อความและรูปภาพบนสิ่งก่อสร้าง หรือวัตถุต่างๆ ให้คนที่ผ่านไปมาอ่าน บางคนเขียนบ่อยและเขียนมากเขียนจนเบื่อเขียน หรือถูกจับ บางคนเขียนเพราะต้องบอกใครบางคน บางเรื่อง และการที่คนอ่านไม่รู้ว่าใครเขียน เขียนเมื่อไร เขียนเพราะอะไร หรือที่เขียนนั้นหมายความว่าอย่างไร ข้อความเหล่านี้จึงทำให้คนอ่านบางคนครุ่นคิด และหลายคนคิดว่าคนที่เขียนกราฟิตีมีนิสัยชอบทำอะไรลับหลัง หรือชอบขอความร่วมมือโดยไม่ออกหน้าออกตา และอื่นๆ อีกหลายเหตุผล

นอกจากนี้ประเพณีการเขียนกราฟิตีก็มีมานานร่วม 2,000 ปีแล้ว เพราะตามกำแพงเมือง Pompeii ที่ถูกภูเขาไฟถล่มเมื่อ พ.ศ.622 ก็มีกราฟิตี และเหตุผลสั้นๆ ที่น่าจะตอบตรงที่สุดคือ เขียน กราฟิตี เพราะปากกาที่ใช้เขียนมีราคาถูก และเมื่อรู้ว่าหมึกสีที่เขียนจะอยู่ยงไปนานเป็นพันปี คนเขียนก็ยิ่งรู้สึกในความเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีผลงานอมตะ

ณ วันนี้ สังคมกำลังมีความเห็นว่า กราฟิตีที่ปรากฏบนกำแพงหรืออาคารสถาน ได้ทำลายคุณค่าของถาวรวัตถุเหล่านั้น จึงได้คิดประดิษฐ์สีทาผนังที่ใครจะเขียนอะไรทับลงไปไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้สีน้ำ สีน้ำมัน หรือสีผสมระหว่างน้ำกับน้ำมัน และ Victor Castano แห่ง Autonomous National University of Mexico ที่เมือง Santiago de Queretaro ได้ประดิษฐ์สีทา ชื่อ Deletum 5000 ซึ่งมี silica และอนุภาคสีขนาดนาโนเมตรที่มีความสามารถในการผลักโมเลกุลน้ำหรือน้ำมันที่เข้ามาสัมผัสมัน Castano ได้รายงานว่า Deletum 5000 ที่ใช้ทาบนคอนกรีต อิฐ โลหะ พลาสติก หรือไม้นี้ มีความสามารถคุ้มครองสิ่งที่มันปกป้องได้นานถึง 10 ปี โดยการทาแต่เพียงเบาบาง และเขาได้ทดลองเรื่องนี้กับเล็บของภรรยาก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เล็บเธอแปดเปื้อนรอยสกปรกต่างๆ และก็ได้ผลดี แต่ปัญหาก็ตามมาคือ ภรรยาของ Castano ชอบเปลี่ยนสีเล็บบ่อย ดังนั้น สามีต้องคิดหาสารละลายใหม่ที่สามารถละลาย Deletum 5000 ได้ง่าย ก่อนจะลงสีเล็บใหม่เพื่อให้คุณเธอ happy ครับ

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
กำลังโหลดความคิดเห็น