ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน
ภายหลังเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ไม่กี่วัน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก็ออกมาเสนอแนวความคิด ซึ่งเป็นประเด็นที่แหลมคมยิ่งต่อการนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริงในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือการเสนอ ‘เขตปกครองพิเศษ’ ซึ่งอาจมีการนำรูปแบบเขตปกครองตนเอง มณฑลซินเกียง ของประเทศจีน หรือเขตปกครองพิเศษในประเทศเยอรมัน มาปรับใช้
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ปี 2547 เขตปกครองพิเศษ เคยถูกนำมาพูดถึงโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อครั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และยังเป็นผู้ผลักดันให้มีการจัดตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “กอ.สสส.จชต.” โดย พล.อ.ชวลิต เชื่อว่าแนวทางที่ถูกต้องในการเอาชนะทางความคิดประกอบด้วย 3 ทฤษฎีใหญ่ๆ คือ
1.ทฤษฎีดอกไม้หลากสี หมายถึงการทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติภายใต้ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม
2.ทฤษฎีถอยคนละสามก้าว คือ ต้องมีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้เสียสละ และตัดสินว่าจะไม่อยู่ร่วมในกระบวนการแห่งความขัดแย้ง ซึ่งความจริงไม่จำเป็นต้องถอยทั้งสองฝ่าย แค่ถอยเพียงฝ่ายเดียวก็ได้ผลแล้ว เพราะจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งตีไม่ถึง
และ 3.ทฤษฎีนครปัตตานี คือ การให้อำนาจคนในพื้นที่ได้ปกครองและดูแลตัวเองในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พล.อ.ชวลิต เชื่อว่า สังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เคยอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองทั้งไทยพุทธและมุสลิม หากมีการแก้ปัญหาโดยใช้ทฤษฎีดังกล่าวจะสามารถนำความสันติสุขและความปรองดองคืนกลับมาได้
“นครรัฐปัตตานี คือ การให้อำนาจการปกครองและดูแลตัวเอง เพราะไม่มีประเทศไหนที่มีชนกลุ่มน้อยอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนแล้วจะไม่ให้อำนาจในการดูแลตัวเอง แม้กระทั่งประเทศที่มีการปกครองในระบอบเผด็จการ ยังให้มากกว่านี้เลย คือ ให้เป็นเขตปกครองพิเศษด้วยซ้ำไป”
พล.อ.ชวลิต ซึ่งเคยรับหน้าที่ดูแลปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า วิธีการที่เสนอนั้นน่าจะประกาศใช้ตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ที่ไม่ได้ประกาศเพราะผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่ได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้อย่างลึกซึ้งเพียงพอ
นอกจากนี้ ในปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มปะทุขึ้นอย่างรุนแรง แนวคิดในการจัดตั้ง “เขตปกครองพิเศษ” ได้ถูกตอกย้ำให้เห็นความสำคัญอีกครั้งโดย ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย แต่ข้อเสนอนี้กลับถูกตอบโต้จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชนิดที่ไม่เห็นความสำคัญแม้แต่น้อย ทั้งที่ความจริงแล้วแนวความคิดนี้มีกระแสตอบรับจากหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการและสื่อมวลชนที่เฝ้ามองปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง
‘เซี่ยงเส้าหลง’ เคยเขียนใน ‘ผู้จัดการออนไลน์’ เมื่อ 8 ม.ค.47 โดยยกข้อเขียนของ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช จากคอลัมน์ “แตกต่างไม่แตกแยก” อธิบายความหมายของเขตปกครองพิเศษ ในรูปแบบของ Autonomous Region ควรจะมีหลากหลายในประเทศไทย ตั้งแต่เมืองพัทยา ที่ยุคต่อไปน่าจะเป็นที่ตั้งของเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (+กาสิโน) ไปจนถึงภูเก็ต กระบี่ พังงา ที่สามารถรองรับ Service Industry และ ฯลฯ Autonomous, Autonomous Region ที่อาจแปลได้ว่า เขตปกครองพิเศษ, เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือมณฑลพิเศษนั้น ไม่เฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (หรือขยายไปถึง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้)
แล้วไพล่ไปพูดถึงการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ, การแบ่งแยกดินแดน แต่ควรคิดไปไกลถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่มพื้นที่ที่จะต้องมีเอกลักษณ์และลักษณะพิเศษ เป็นต้นว่า รวม 3 จังหวัดที่มีลักษณะเป็น เขตเศรษฐกิจ, เขตการท่องเที่ยว อย่างภูเก็ต พังงา กระบี่ เข้ามาเป็นเขตปกครองพิเศษ, เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือมณฑลพิเศษ เพื่อช่วงชิงความเป็นศูนย์กลางมาจากสิงคโปร์
โดยกำหนดไว้ว่าอุตสาหกรรมและธุรกิจที่จะอยู่ในเขตนี้ต้องเป็น Service Industry เท่านั้น เขตปกครองพิเศษ, เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือมณฑลพิเศษ มีขึ้นได้ตามสภาพความเป็นจริงและความพร้อม เพราะแต่ละมณฑลแต่ละเขตต่างมีลักษณะเฉพาะ กฎหมายเฉพาะ และรูปแบบเศรษฐกิจเฉพาะ สมมติเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลของโลกก็เป็นไปได้
“ปัญหาพื้นฐาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ว่า ในอดีตปัตตานีดารุสสลาม มีเจ้าเมืองที่เป็นมลายูมุสลิม เป็นส่วนหนึ่งของโลกมุสลิม จึงมีปัญหาเกิดต่อเนื่องมาโดยตลอด นับแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่โลกพุทธพยายามที่จะรวมศูนย์อำนาจการปกครองเข้าสู่ส่วนกลาง มีมาตั้งแต่ครั้งสร้างรัฐชาติขึ้นในนามของ การปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่เมื่อปี 2435 แต่ไม่สำเร็จ
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีความพยายามแก้ปัญหา และเมื่อท่านปรีดี พนมยงค์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2489 ได้แต่งตั้งที่ปรึกษากิจการมุสลิมขึ้นมา โดยให้เป็นภาระหน้าที่ของหะยีซำซุดดิน หรือ แช่ม พรหมยงค์ และได้เริ่มประสานงานกับ หะยีสุหลง บิน อับ ดุลกาเคร์ มูฮัมมัด เอล ฟาโทนิ หรือที่รู้จักกันดีทั้งคนในท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ฝ่ายการปกครองในนาม หะยีสุหลง เจ้าของตำแหน่งประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี แต่น่าเสียดายที่ท่านต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯเร็วเกินไป และผู้นำคนอื่นๆ ของคณะราษฎร ยังไม่ตกผลึกทางความคิดเพียงพอที่จะยอมให้มี Autonomous Region”
ดังนั้น ข้อเรียกร้องว่าด้วยกรณีนี้ของหะยีสุหลง เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2490 ที่ยื่นต่อนายกฯคนต่อมาคือ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จึงเสมือนเป็นคำสั่งประหารชีวิตตนเอง ส่งให้แก่รัฐบาลชุดคณะปฏิวัติ 8 พ.ย.2490 ภายใต้การว่าราชการหลังม่าน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ยึดมั่นในแนวทางชาตินิยม เพราะสาเหตุเพียงเรียกร้อง Autonomous Region ธรรมดาๆ ทำให้ หะยีสุหลง ต้องถูกจับกุม คุมขัง และแม้จะถูกปล่อยตัวโดยศาลยุติธรรมพิพากษายกฟ้องก็ถูกตำรวจยุค พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ตามไปจับถ่วงน้ำทะเลสาบสงขลา เมื่อปี 2497 (ประเด็นนี้ พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ เขียนเล่าไว้ในหนังสือชัยชนะและความพ่ายแพ้ของบุรุษเหล็กแห่งเอเชียว่า พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ สั่งผ่านตนไปยัง พ.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา ให้ลงมือ)
ส่งผลให้เกิดความไม่สงบขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง แม้จะสงบ เป็นบางช่วง แต่ก็เป็นลักษณะชั่วคราว ทั้งนี้เพราะปัญหาพื้นฐาน ยังคง ดำรงอยู่นั่นเอง
นอกจากนี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ยังเคยกล่าวถึงกรณีนี้ในรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” เมื่อ 30 ต.ค.47 ว่า ก่อนที่จะหารือเรื่องการแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ข้อแรกที่ควรยอมรับคือ ชาวไทยมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้มีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนคนไทยพุทธ ถ้ายอมรับตรงนี้ได้ก็สามารถดำเนินการต่อได้ สังคมไทยเป็นที่รวมของหลายวัฒนธรรม หลายเชื้อชาติ ทั้งเขมร ลาว จีน อินเดีย ไทยมุสลิม มาเลเซีย
ถ้ายอมรับตรงนี้ได้ก็เหมือนกับเราพูดถึงนโยบายดอกไม้หลากสีของ พล.อ.ชวลิต ซึ่งพูดมานานแล้ว กล่าว คือ การจะแก้ปัญหาอะไร ก่อนอื่นต้องยอมรับรากเหง้าของปัญหา เมื่อยอมรับว่าสังคมไทยประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ สิ่งต่อไปที่ต้องถามตัวเองคือ เมื่อยอมรับเช่นนี้แล้ว วิธีแก้ปัญหาวิถีชีวิตที่ไม่ตรงกับคนไทยพุทธ จะแก้อย่างไร
“มีคน 2 กลุ่มที่พยายามทำให้ 3 จังหวัดภาคใต้เป็นเช่นติมอร์ หรือมินดาเนา มินดาเนาต่างกับติมอร์ตรงที่ติมอร์ในที่สุดแล้วก็แยกเป็นเอกราช เพราะคนในติมอร์ลุกฮือขึ้นมา สมมติว่าถ้าคนไทยพุทธย้ายออกจากภาคใต้หมดแล้ว และย้ายมาทีละนิด อีกหน่อยถ้า 3 จังหวัดภาคใต้ไม่มีไทยพุทธอยู่และเป็นไทยมุสลิมไปหมดเลย และเราไม่สามารถจะดำเนินกุศโลบายอะไรก็ตามให้เขาอยู่กับเราอย่างสันติสุข ตรงนั้น คือ แดนมิคสัญญี”
ขณะที่ ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู อดีตรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้แสดงความคิดเห็นถึงแนวคิดของ ร.ต.อ.เฉลิม ว่า แนวความคิดนี้ถือว่าน่าสนใจ และเป็นความคิดที่ดีแต่ต้องมีการร่างกฎหมายที่ประชาชนให้การยอมรับ
“ความจริง ศอ.บต.ก็เป็นรูปแบบที่พิเศษขึ้นอยู่กับกรอบของกฎหมาย แต่เมื่อรัฐไม่กล้าที่จะเดินหน้าตรงนี้ ปัญหาที่สะสมก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ หากจะแก้ปัญหาด้วยเขตปกครองพิเศษก็ต้องค่อยๆ คิด ต้องทีรูปแบบที่เข้ากับพื้นที่ เพราะนักปกครองในพื้นที่ เช่น อบต.ก็มีความรู้ความเข้าใจในลักษณะของเขตปกครองพิเศษ หากรัฐบาลจะทำจริงก็ควรมีการเปิดเวทีระดมความคิดเห็น และควรทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายด้วย” ผศ.ดร.วรวิทย์ กล่าว
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเคยศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาการปกครองท้องถิ่นของจังหวัดที่มีหลายชาติพันธุ์ : กรณีศึกษาจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยศึกษาความคิดเห็นและดำเนินการสานเสวนา ระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อรับทราบความต้องการและร่วมกันหารูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสม และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
จากข้อมูลการสำรวจระหว่าง ก.ย.-ต.ค.48 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 คน รวมทั้งข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และกลุ่มประชาชนทั่วไป 874 คน ปรากฏว่าคำถามความคิดเห็นว่ารูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบใดที่เหมาะสมที่สุด ร้อยละ 41.4 ยังเห็นว่าควรใช้รูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว แต่ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม
ส่วนผู้ที่เห็นว่าควรมีการปกครองพิเศษทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ มีอยู่ร้อยละ 27.2 และผู้ที่เห็นว่าควรมีเขตการปกครองพิเศษทางการเมือง มีอยู่ร้อยละ 11.2 นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เห็นว่าควรปกครองแบบมหานครแบบกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 3.4
ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ผลการสำรวจข้อมูลมีนัยสำคัญที่ต้องใคร่ครวญพิจารณาอยู่ 2 ประการ คือ คนจำนวนมากยอมรับว่า การปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเดิมยังใช้การได้ ถ้าได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้น อีกประการหนึ่ง คือ คนกลุ่มที่มีความเห็นว่าควรจัดการปกครองพิเศษทางวัฒนธรรม การเมือง และแบบมหานคร เมื่อรวมกันก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
“เป็นที่สังเกตว่า กลุ่มคนมุสลิมส่วนใหญ่ ต้องการรูปแบบการปกครองพิเศษ ส่วนกลุ่มคนไทยพุทธ ต้องการรูปแบบการปกครองแบบปัจจุบัน สำหรับการปกครองพิเศษที่ได้จากวงเสวนา ต้องนำหลักศาสนา หรือกฎหมายอิสลามมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่นำมาปฏิบัติจริงได้ยาก เพราะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลายด้าน รวมทั้งปรับเปลี่ยนตัวบทกฎหมายให้สอดคล้องกับท้องถิ่น อาจจะเพิ่มประเด็นศาสนาและวัฒนธรรม ปรับกลไกโดยรวมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวถึงแนวคิดของ ร.ต.อ.เฉลิม ว่า กระบวนการที่จะนำไปสู่การจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ หากยึดเอาแบบกรุงเทพฯ ก็ไม่น่าจะมีความยุ่งยาก เนื่องจากไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ได้รับความคิดเห็นที่หลากหลาย
“แนวความคิดนี้เป็นสิ่งที่น่าทำให้เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ แต่เราจะผลักดันได้ขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจของคนที่อยู่นอกพื้นที่ด้วยว่าเขาคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ความจริงแล้วเขตปกครองพิเศษไม่ได้เป็นการแบ่งแยกพื้นที่ออกไป ซึ่งโมเดลที่ได้คงไม่แตกต่างไปจาก กทม. พัทยา หรือพื้นที่อื่นที่มีความต้องการ เช่น ภูเก็ต หรือขอนแก่น โดยแนวทางการจัดตั้งต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ”
หากรัฐบาลเชื่อในระบอบประชาธิปไตยก็คิดว่าน่าจะสามารถผลักดันเรื่องนี้ต่อไปได้ แม้ระบบรัฐไทยบางส่วน และเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงจะมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจกลายไปเป็นรัฐอิสระ ก็ตาม” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว....
ต่อข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม ในรัฐบาลปัจจุบัน แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนแนวความคิดนี้ แต่ที่จะลืมเสียไม่ได้ก็คือรัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งประกาศตัวชัดเจนแล้วว่าเป็น “นอมินี” ให้กับ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ผู้ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ จะยินยอมให้ข้อเสนอนี้เป็นจริงขึ้นมาได้หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไป
แต่ล่าสุดวานนี้ (13) ร.ต.อ.เฉลิม ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กลับลำภายหลังจากโดนนายสมัคร ท้วงติงเรื่อง “เขตปกครองพิเศษ” ว่า จากนี้ไปจะขึ้นบัญชี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “เขตปกครองเฉพาะส่วน” ซึ่งไม่ได้มีการเลือกตั้งเพื่อ “ปกครองตนเอง” แต่ให้สิทธิ์ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ได้รับสวัสดิการ และได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเร็วกว่าข้าราชการในพื้นที่อื่น