xs
xsm
sm
md
lg

ติง “เขตปกครองพิเศษ” ต้องรอบด้าน “นิพนธ์” แขวะ มท.1 คิดก่อนพูด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการใต้ชมแนวคิด “เหลิม” ริเริ่มใหม่ แต่คนพื้นที่อาจเบื่อหากเป็นแค่โยนหินถามทางเหมือน “คำขอโทษ” ของสุรยุทธ์ แนะหากนำเสนอต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของปัญหา รอบด้าน และฟังเสียงคนในพื้นที่ระบุผลวิจัยเห็นคล้อง “เขตปกครองพิเศษ” ขณะที่ “นิพนธ์” เซ็ง หวั่น มท.1 พูดไม่ได้คิดเท่าไหร่ ปชป. มี “เขตพัฒนาพิเศษ” เพราะห่วงอำนาจรัฐบาลกลาง ส่วน “นัจมุดดีน” ยังงง พรุ่งนี้นัด “เหลิม” เคลียร์ประเด็น

นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงแนวคิดเขตปกครองพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า หากรัฐบาลจะศึกษาและดำเนินนโยบายในแนวทางดังกล่าวก็ควรจะเริ่มต้นโดยการไม่เน้นไปเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ควรจะคำนึงถึงโมเดลทั้งระบบที่เริ่มจากความต้องการของคนในพื้นที่ ควรจะต้องพิจารณาทั้งด้านศาสนา ความหลากหลายทางวัฒนธรรม การศึกษา การบริหารจัดการ รวมทั้งการปกครองในระดับท้องถิ่น ซึ่งอาจจะศึกษาประสบการณ์จากต่างประเทศมาปรับ แต่ก็ต้องคำนึงถึงปัญหาเฉพาะของจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

“ถ้าจะปล่อยนโยบายนี้ออกมา ก็ต้องออกมาเป็นก้อนใหญ่ พร้อมๆ กัน จะเป็นโมเดลเดี่ยวๆ ไม่ได้ เพราะจะเคลื่อนไม่ออกและไปกดทับเอาปัญหาเดิมๆ ที่มีอยู่ ซึ่งไม่ได้ส่งผลให้ความรุนแรงลดลง”

อย่างไรก็ตาม อาจารย์รัฐศาสตร์รายนี้ที่กำลังทำสรุปงานวิจัย “รูปแบบการปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์” กล่าวด้วยว่า การส่งสัญญาณดังกล่าวอาจเป็นเพียงการโยนหินถามทาง ซึ่งในแง่หนึ่งก็มีจุดดีที่ว่าเป็นการริเริ่มของมิติใหม่ด้านนโยบาย แต่อาจต้องมีความชัดเจนในรายละเอียด และต้องมีส่วนร่วมจากข้างล่างมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นเพียงการโยนหินเฉยๆ โดยที่ไม่มีความจริงจัง ก็คงไม่ต่างกับการกล่าวขอโทษจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีมาตรการใดๆ ตามมา คนที่นี่ก็เริ่มเบื่อกับวิธีการของรัฐบาลในลักษณะอย่างนี้

เขากล่าวด้วยว่า ข้อสรุปในเบื้องต้นของงานวิจัยที่ผ่านการระดมความคิดเห็นของผู้นำศาสนาและผู้นำทางการเมืองในระดับพื้นที่ เช่น อบต.และ อบจ. ชี้ให้เห็นว่าคนในพื้นที่ต้องการผู้นำหรือผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง มีสภาของคนในพื้นที่ที่ประกอบด้วยผู้รู้ทางศาสนาและยังมีการจัดโซนนิ่งพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับความหลากหลายของผู้คน ในขณะที่ด้านกฎหมาย ก็ไม่ได้มีความต้องการถึงขั้นยกกฎหมายชารีอะห์ (กฎหมายอิสลาม) มาใช้ทั้งดุ้น หากแต่ต้องการโมเดลที่เคยใช้ในสมัยรัชการที่ 5 กล่าวคือ ในการพิจารณาคดีครอบครัวมรดกให้มีคณะลูกขุน หรือ “โต๊ะกาลี” เป็นผู้ชี้ขาด เป็นต้น

นายศรีสมภพ กล่าวด้วยว่า จริงๆ แล้วแนวคิดเขตปกครองพิเศษไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 1 ที่ระบุว่ารัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยวที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ แต่กลับสอดคล้องกับเนื้อหาที่ว่าด้วยการบริหารจัดการพิเศษในพื้นที่ทีมีความหลากหลายที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของมาตรา 1 ซึ่งจะแตกต่างกับรูปแบบสหพันธรัฐของเยอรมันที่จะให้อำนาจกับรัฐท้องถิ่นมากกว่า ในขณะที่รูปแบบของมณฑลซินเกียงที่เป็นเขตปกครองพิเศษก็แตกต่างตรงที่อยู่ภายใต้การนำของรัฐสังคมนิยมที่กลไกของพรรคคอมมิวนิสต์เข้าควบคุมได้ดี

ด้าน นายนิพนธ์ บุญญามณี กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่คนอย่างรัฐมนตรีมหาดไทยเสนอแนวคิดเขตปกครองพิเศษในชายแดนภาคใต้จะต้องมีความรอบคอบมากกว่านี้ รัฐมนตรีไม่ควรพูดก่อนที่จะได้ข้อยุติในเรื่องนโยบายรัฐบาลโดยรวม เพราะว่าหากจะพูดแล้วก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งบางเรื่องอาจจะก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม เป็นสิทธิของตัวรัฐมนตรีเองที่จะคิดได้ แต่ไม่ใช่คิดหรืออ่านตำรามาแล้วก็พูดเลย เพราะการบริหารบ้านเมืองไม่ใช่การทำข้อสอบข้อเขียนหรือทำวิทยานิพนธ์ที่อ่านมาแล้วตอบโจทย์ได้เลย

“การเสนอแนวคิดอย่างนี้หากผิดก็ผิดเลย เพราะฉะนั้นก่อนจะพูดอะไรต้องคิดให้ครบทั้งหมดก่อนที่จะพูดออกมาต้องคิดว่าเขตปกครองพิเศษมีรูปแบบอย่างไร แก้ไขได้หรือไม่ อะไรเป็นหลักประกันว่าฝ่ายที่กำลังก่อการจะยอมรับ จะนำข้อเสนอแบบนี้ไปคุยกับใครบ้าง ภาพรวมพื้นฐานเหล่านี้ก็ต้องรู้ก่อนที่จะพูด เพราะหากค่อยๆ คลำไป จะไปเพิ่มแรงกดดันต่อเจ้าหน้าที่ที่กำลังทำงานอยู่”

กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีข้อเสนอเรื่องเขตปกครองพิเศษ เพราะอาจมีปัญหาเรื่องรูปแบบและอำนาจของรัฐบาลกลาง แต่เสนอให้แก้ปัญหาโดยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้นและจัดให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาโดยเฉพาะทั้งด้านเศรษฐกิจและชุมชน เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุน มาตรการภาษีเฉพาะพื้นที่ เป็นต้น

นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า ต่อจากนี้รัฐมนตรีจะต้องยุติการพูดรายวันหรือนำเสนอนโยบายรายวัน รอให้มีการแถลงนโยบายก่อน หลังจากนั้นก็ทำการประเมินซึ่งก็ต้องใช้ ไม่ใช่เสนอแล้วรอประเมินผล 1 สัปดาห์แล้วก็เปลี่ยน หลังจากนี้จะต้องนิ่งมากกว่านี้

ในขณะที่นายนัจมุดดีน อูมา ส.ส.พรรคพลังประชาชน จ.นราธิวาส กล่าวว่า ตนยังไม่ได้พูดคุยประเด็นนี้กับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ได้นัดหมายที่จะเข้าหารือหลักการกว้างๆ ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.พ.) ที่กระทรวงฯ ก่อนที่จะมีการแถลงนโยบายของรัฐบาล ในขณะที่ตนก็จะนำแนวความคิดดังกล่าวไปรับฟังความเห็นจากผู้นำประชาชนในพื้นที่

“ส่วนตัวผมเห็นด้วย แต่ก็ต้องดูก่อนว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ผมคงต้องกลับไปฟังความเห็นของชาวบ้านในอาทิตย์หน้าก่อน แล้วค่อยว่าอีกที”
กำลังโหลดความคิดเห็น