xs
xsm
sm
md
lg

สุดมหัศจรรย์ พลังแห่งดาวเคราะห์สีน้ำเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก่อนจะเป็นดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงสวยงามที่เห็นเช่นทุกวันนี้ โลกใบนี้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมายาวนานนับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อกว่า 4 พันล้านปีก่อน (บีบีซี)
ปริศนาแห่งการก่อกำเนิดดาวเคราะห์สีน้ำเงิน และวิวัฒนาการของสรรพชีวิตบนโลก เป็นเรื่องที่น่าค้นหาและท้าทายให้นักวิทยาศาสตร์พยายามไขกุญแจแห่งความลับนี้มาอย่างยาวนาน และหลายต่อหลายคนก็อยากรู้เรื่องราวความเป็นมาของโลกตั้งแต่อดีตกาลอันไกลโพ้นด้วยเช่นกัน "โทมัส ไรเทอร์" นักบินอวกาศชาวเยอรมัน ขันอาสาพาเราค้นหาปริศนาแห่งโลก

ใต้ผืนโลกยังคงคุกรุ่นด้วยพลังงานอันมหาศาลมานานกว่า 4 พันล้านปี และส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกมานับครั้งไม่ถ้วน เป็นพลังที่ทรงอานุภาพจนสามารถทำลายล้างทุกชีวิตบนโลกได้ แต่ขณะเดียวกันก็คอยช่วยปกป้องสรรพชีวิตไม่ให้สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ได้เช่นกัน ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ขอพาคุณผู้อ่านไปรู้จักพลังที่ว่าผ่านภาพยนตร์ร่วมสร้างระหว่างบีบีซี (BBC) และซีดีเอฟ (ZDF) "พลังแห่งดาวเคราะห์สีน้ำเงิน" ในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 4 โดยมีโทมัส ไรเทอร์ นักบินอวกาศชาวเยอรมัน เป็นผู้นำทาง

จากการเดินทางท่องไปยังที่ต่างๆ เพื่อค้นหาว่าดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ใช้พลังงานส่วนไหนก่อร่างสร้างตัวเองขึ้นมาผ่านกาลเวลาอันยาวนาน กระทั่งเป็นดาวเคราะห์ดวงสวยงามเช่นทุกวันนี้ ไรเทอร์ก็ตามรอยจนพบเบาะแสบางอย่าง

นั่นคือควันกำมะถันและบ่อน้ำพุร้อนขนาดใหญ่ที่พวยพุ่งออกมาจากใต้ดินบนเกาะไอซ์แลนด์ ซึ่งเป็นหลักฐานชี้ว่าใต้พิภพของเรามีพลังงานมหาศาลซ่อนอยู่ พลังงานที่อยู่ใต้พิภพนี้เป็นความร้อนมหาศาลที่ทำให้หินหลอมละลายเป็นของเหลวไหลเวียนอยู่ใต้โลก และอาจปรากฏให้เราเห็นได้เมื่อไหลออกมาเป็นลาวาจากภูเขาไฟ

เขาเดินทางต่อไปยังหน้าผายักษ์ที่เป็นพรมแดนระหว่างแผ่นดินยูเรเชียและอเมริกาเหนือ เมื่อเรายืนอยู่บนหน้าผาที่เป็นเขตสิ้นสุดของ 2 ทวีป เราอาจรู้สึกอัศจรรย์ใจในความยิ่งใหญ่ของหินผาแห่งนั้น ทว่าเราต้องอัศจรรย์ในยิ่งกว่า หากมองลงมาจากอวกาศเบื้องบน จะเห็นว่าหน้าผานั้นทอดยาวลงไปทางใต้เป็นระยะทางยาวสุดกู่ ซึ่งเป็นหนึ่งในขอบเขตที่แบ่งผิวเปลือกโลกออกเป็น 7 ส่วน

ในอดีตแผ่นดินยูเรเชียและอเมริกาเคยเป็นผืนเดียวกัน แต่เพราะธารหินร้อนใต้พิภพที่เคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นพลังงานที่ผลักดันให้แผ่นเปลือกโลกทั้ง 7 ส่วนเคลื่อนเข้าหากันหรือหนีห่างออกจากกัน บริเวณที่เคลื่อนห่างออกจากกันจะปรากฏเป็นรอยแยกบนแผ่นดินเหมือนกับหุบผารอยต่อระหว่างยูเรเชียและอเมริกาเหนือ และนักวิทยาศาสตร์ศึกษาแล้วพบว่าแผ่นดิน 2 ทวีปนี้ค่อยๆ เคลื่อนออกจากกันปีละประมาณ 2 เซนติเมตร ซึ่งอาจมองไม่เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนในช่วงชีวิตเรา

ส่วนที่เคลื่อนที่เบียดเข้าหากัน ก่อให้เกิดการยกตัวของแผ่นดินเป็นภูเขาสูงใหญ่ เช่น เทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาแอนดีส และเทือกเขาอัลไพน์ แต่ไม่ว่าภูผาจะแข็งแกร่งปานใด ก็ยังต้องพ่ายแพ้ให้กับพลังแห่งน้ำที่กัดเซาะหินผาให้ผุกร่อนลงได้ และจากการวิจัยก็ได้ข้อมูลว่าในแต่ละปีมีดินตะกอนจากเทือกเขาแอนดีสที่ถูกกระแสน้ำพัดพาลงมหาสมุทรนับหลายล้านตัน ซึ่งพลังแห่งน้ำเหนือพื้นพิภพและพลังแห่งไฟใต้พิภพนี้เป็น 2 พลังยิ่งใหญ่ที่ถ่วงดุลกันและทำสงครามกันมาอย่างยาวนาน

เมื่อราว 4 พันกว่าล้านปีก่อน สภาพบนผิวโลกร้อนระอุ แห้งแล้ง และเต็มไปด้วยอันตรายจากภูเขาไฟและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นสภาพที่ไม่เอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตไหนดำรงอยู่ได้เลย แต่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายแบบนี้นี่เองที่บ่มเพาะให้ชีวิตแรกเกิดขึ้นบนโลก และฟูมฟักเลี้ยงดูจนเติบใหญ่และมีวิวัฒนาการหลากหลายผ่านกาลเวลายาวนานนับพันล้านปี ซึ่งสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวในยุคแรกเริ่มที่เป็นเหมือนมงกุฎแห่งประวัติศาสตร์การสร้างโลก ได้อาศัยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกำมะถันที่ออกมาจากภูเขาไฟใต้ทะเลเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีพ

ทว่าชีวิตน้อยๆ เหล่านั้นเกือบหมดโอกาสวิวัฒนาการและอาจต้องสูญสิ้นไป เพราะนักธรณีวิทยาพบหลักฐานบางอย่างในแอฟริกา ที่บ่งชี้ว่าเมื่อประมาณ 700 ล้านปีก่อน โลกของเราถูกปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งและตกอยู่ในความหนาวเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็งนานนับร้อยล้านปี หลักฐานที่ว่าเป็นก้อนหินจำนวนมากที่พบอยู่ในชั้นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก แต่มาอยู่ผิดที่ผิดทาง โดยฝังตัวอยู่ในชั้นหินที่ในอดีตบริเวณนั้นเคยเป็นดินตะกอนใต้ทะเลมาก่อน จึงสันนิษฐานว่าอาจมาพร้อมกับธารน้ำแข็งจากขั้วโลก และเมื่อน้ำแข็งละลายลง ก้อนหินเหล่านี้ก็จมลงสู่ก้นทะเล

ทว่าน้ำแข็งจากขั้วโลกเดินทางมาถึงเขตศูนย์สูตรได้อย่างไรกันโดยที่ไม่ละลายไปจนหมด และกรณีที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นได้ บริเวณเขตศูนย์สูตรก็ต้องหนาวเย็นจนเป็นน้ำแข็งด้วยเหมือนกัน และเหตุปัจจัยในยุคนั้นก็ส่งให้เรื่องนี้มีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง อะไรจึงทำให้น้ำแข็งที่ปกคลุมโลกเกินขอบเขตขั้วโลกละลายหายไป

เมื่อปี 2547 เหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดในไอซ์แลนด์สามารถทำลายชั้นน้ำแข็งได้ จึงสันนิษฐานว่าเหตุการณ์แบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นในยุคนั้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากที่ออกมาจากภูเขาไฟก็ช่วยให้ความอบอุ่นแก่โลก และทำให้ชั้นน้ำแข็งที่อยู่ผิดที่ผิดทางหลอมละลายลงจนหมดสิ้น และเข้าสู่ยุคทองของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ ผ่านช่วงเวลาวิวัมนาการยาวนานจนมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้
ทะเลแมกมาที่ร้อนระอุจนทำให้หินใต้พิภพหลอมละลายได้ (บีบีซี)
น้ำพุร้อนที่พวยพุ่งขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นเครื่องชี้ว่าใต้พิภพโลกซ่อนพลังงานมหาศาลเอาไว้ (บีบีซี)
ความร้อนใต้พิภพทำให้เกิดธารหินไหลเวียนอยู่ใต้แผ่นดิน และเป็นพลังที่ขยับให้แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ (บีบีซี)
ในอดีตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกำมะถันที่ออกมาจากภูเขาไฟเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ทำให้ก่อเกิดชีวิตแรกบนโลก (บีบีซี)
พลังแห่งดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่แอบซ่อนตัวอยู่ใจกลางโลกและพร้อมแสดงพลานุภาพออกมาได้ทุกเมื่อ (บีบีซี)
กำลังโหลดความคิดเห็น