xs
xsm
sm
md
lg

คืนนี้มีฝนดาวตก "ลีโอนิดส์" แต่อาจเห็นไม่ชัดเพราะแสงจันทร์รบกวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลักษณะการเกิดฝนดาวตก (ภาพจากแฟ้ม)
สดร. ชวนชมฝนดาวตกลีโอนิดส์ในช่วงค่ำคืนวันที่ 17-18 พ.ย. 2551 นี้ แต่ให้เตรียมตัวเตรียมใจ เพราะอาจเห็นไม่ชัดเจน เนื่องจากถูกแสงจันทร์รบกวน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) แจ้งว่า ในคืนวันที่ 17-18 พ.ย. 2551 จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกสิงโตหรือฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงนี้ของทุกๆ ปี และสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ผู้ที่สนใจชมปรากฏการณ์ดังกล่าว สามารถเริ่มชมได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00 น. จนถึงฟ้าสาง

อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 วัน ดังกล่าว ตรงกับวันแรม 5 ค่ำ และ 6 ค่ำ ซึ่งดวงจันทร์จะสว่างมากจนอาจรบกวนการสังเกตฝนดาวตกลีโอนิดส์ได้ นอกจากนี้ดวงจันทร์ยังอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวสิงโตอันเป็นจุดศูนย์กลางการเกิดฝนดาวตกลีโอนิดส์อีกด้วย ซึ่งในเว็บไซต์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทยระบุไว้ว่าในประเทศไทยจะสามารถสังเกตเป็นฝนดาวตกลีโอนิดส์ในปีนี้ได้โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 15 ดวงต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เกิดจากเศษวัสดุ เช่น น้ำแข็ง หรือหิน ที่หลุดออกมาจากดาวหางเทมเพล เทตเทิล (Temple-Tuttle) ซึ่งโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ทุกๆ 33 ปี แต่ละครั้งที่เดินทางเข้ามาก็ทิ้งชิ้นส่วนเหล่านั้นไว้ตามรายทาง เมื่อโลกโคจรตัดผ่านหรือเข้าใกล้แนวเส้นทางของดาวหางดวงนี้ ก็จะดึงเอาเศษฝุ่นอวกาศเหล่านั้นตกสู่โลก ขณะที่พวกตกลงมาก็จะเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก ถูกเผาไหม้จนเกิดแสงสว่างลุกวาบดูเหมือนฝนลูกไฟ และนี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า “ฝนดาวตก” (Meteor shower)
กำลังโหลดความคิดเห็น