ไบโอเทคจับมือเอกชน เจ้าของสวนปาล์ม ร่วมวิจัยใช้เทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และตรวจหาเครื่องหมายพันธุกรรม เพาะขยายปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี ที่ให้ผลผลิตสูงแม้ในพื้นที่ไม่เหมาะสม ตั้งเป้าอีก 2 ปี มีกล้าปาล์มพันธุ์ดีพร้อมแจกจ่ายให้เกษตรกร หวังช่วยเพิ่มผลผลิตโดยไม่ต้องเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สวนปาล์มน้ำมันสั่งศรีสุข อบต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ พัฒนาสายพันธุ์ปาล์มลูกผสมให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกในไทย โดยใช้เครื่องหมายพันธุกรรมคัดเลือกต้นปาล์มที่มีลักษณะดี และเพาะขยายพันธุ์ ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้อวัยวะส่วนยอด เพื่อลดการกลายพันธุ์ ซึ่งได้เปิดเผยขณะพาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมสวนปาล์มน้ำมันสั่งศรีสุขเมื่อวันที่ 10 พ.ย.51 ที่ผ่านมา
ดร.เฉลิมผล เกิดมณี นักวิจัยไบโอเทค ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการดังกล่าว กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมดราว 2 ล้านไร่ โดยมี 60% ของพื้นที่เพาะปลูกที่ยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตสูง และให้ผลผลิตต่ำ เนื่องจากสายพันธุ์ปาล์มที่ใช้ยังไม่ดีพอและไม่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น เพราะส่วนใหญ่นำเข้าพันธุ์ปาล์มจากต่างประเทศ และไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้ จึงต้องหาวิธีพัฒนาสายพันธุ์ปาล์มให้เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกในไทยมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี สวนปาล์มน้ำมันสั่งศรีสุขที่มีพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้นำเข้ากล้าปาล์มพันธุ์เทอเนอร่าจากหลายประเทศกว่า 20,000 ต้น เข้ามาเพาะปลูกนานกว่า 25 ปี พบว่าปาล์มพันธุ์เทอเนอร่าที่นำเข้าจากมาลาเซียมีคุณสมบัติโดดเด่นกว่าพันธุ์ที่นำมาจากแหล่งอื่น โดยสามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ให้ผลผลิตสม่ำเสมอและสูงถึง 450-500 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี ซึ่งมากกว่าปกติราว 3 เท่า
เริ่มต้นนักวิจัยคัดเลือกต้นปาล์มแม่พันธุ์ดีได้ 95 ต้น โดยดูจากผลผลิตต่อปี จากนั้นพิจารณาลักษณะทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต เช่น อัตราการสังเคราะห์แสง และอัตราการใช้น้ำ เป็นต้น เพื่อคัดเลือกแม่พันธุ์ดีให้เหลือเพียง 10 ต้น แล้วนำมาผสมกันเองเพื่อผลิตต้นกล้าปาล์มพันธุ์เทอเนอร่า
ทั้งนี้ ปาล์มเทอเนอร่าเป็นพันธุ์ลูกผสมจากแม่พันธุ์ดูร่า (Dura) และพ่อพันธุ์พิสิเฟอร่า (Pisifera) เมื่อเทอเนอร่าผสมกันเองจะมีโอกาสได้ลูกที่เป็นเทอเนอร่าแท้ๆ ครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะเหมือนดูร่าหรือพิสิเฟอร่า
จากนั้นนักวิจัยจึงใช้เทคนิคการตรวจหาเครื่องหมายพันธุกรรม (DNA marker) เพื่อคัดเลือกเอาเฉพาะปาล์มลูกผสมพันธุ์เทอเนอร่าที่มีลักษณะตรงตามต้นแม่พันธุ์เท่านั้น แล้วจึงนำต้นกล้าที่คัดได้ไปเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากอวัยวะ (organogenesis) โดยใช้เนื้อเยื่ออวัยวะส่วนปลายยอดมาเพาะเลี้ยงให้ได้กล้าปาล์มพันธุ์ดีต้นใหม่จำนวนมาก
"การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยอวัยวะจะช่วยลดการกลายพันธุ์เหลือเพียง 0.01% ขณะที่การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยทั่วไปที่ใช้เซลล์พืชจะมีโอกาสกลายพันธุ์สูงถึง 30% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เรานำวิธีนี้มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน โดยขณะนี้ได้ยื่นจดสิทธิบัตรกระบวนการนี้เรียบร้อยแล้ว และการใช้เครื่องหมายพันธุรรมในการคัดเลือกต้นกล้าปาล์มช่วยลดระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มจากเดิมที่ต้องใช้เวลา 12-15 ปี ให้เหลือเพียง 2-3 ปีเท่านั้น" ดร.เฉลิมพล กล่าว
โครงการวิจัยนี้คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกทดสอบอีกราว 2 ปี เพื่อให้ได้กล้าปาล์มพันธุ์ดีจำนวน 2,000 ต้น ที่จะนำไปเป็นต้นแบบสำหรับเพาะขยายพันธุ์เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรต่อไป โดยหวังว่าสายพันธุ์ปาล์มที่พัฒนาขึ้นนี้ จะเข้าไปช่วยเพิ่มผลผลิตในพื้นที่เพาะปลูกส่วนที่ขาดแคลนกล้าปาล์มพันธุ์ดีได้ และในอนาคตอาจเป็นประโยชน์ต่อการขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน
เพราะความต้องการน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตพลังงานทดแทนมากขึ้น และสายพันธุ์ดังกล่าวสามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งมีฝนตกน้อยกว่าและไม่เหมาะแก่การทำสวนปาล์เท่ากับพื้นที่ทางภาคใต้ตอนล่าง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาให้สามารถเพาะปลูกในพื้นที่ฝนน้อยกว่านี้ได้อีก.