xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นขาดกำลังคนสมองกลฝังตัว โอกาสยกระดับวิศวกรไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.อภิเนตร อูนากูล
ตลาดเทคโนโลยีสมองกลฝังตัวขาดกำลังคน ชี้เป็นโอกาสไทยร่วมงานญี่ปุ่น ยกระดับจากผู้ใช้แรงงาน สู่ผู้ใช้สมอง แจงวิศวกรไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพ์พิวเตอร์เหมาะต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว พร้อมส่งวิศวกรไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น

ผศ.อภิเนตร อูนากูล ประธาน สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (Thai Embedded Systems Association: TESA) กล่าวภายในกิจกรรมเสวนา "ทีซา ที ทอล์ค” (Tesa Tea Talk) ณ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าปัจจุบันญี่ปุ่นขาดแคลนกำลังคนทางด้านสมองกลฝังตัว โดยปี 2551 ที่ผ่านมาขาดแคลนกำลังคนด้านนี้ราว 100,000 คน จึงเปิดโอกาสให้คนไทยได้ก้าวสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความสามารถทางความคิดนี้

“เรากำลังก้าวสู่ยุคอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ ที่ต้องอาศัยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตัวเล็กๆ ฝังในเครื่องใช้ไฟฟ้า เทคโนโลยีนี้ก้าวขึ้นไปเร็วและความต้องการกำลังคนก็เพิ่มขึ้น แต่ปี 2550 ญี่ปุ่นซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขาดแคลนกำลังคนอยู่ 90,000 คน ขณะที่ประเทศอื่นซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีเดียวกันนี้มองกำลังคนจากอินเดีย จีน และเลยไปถึงเวียดนาม แต่ญี่ปุ่นยังคงมองไทยเป็นเป้าหมาย เพราะมีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมฐานการผลิตอยู่มาก" ผศ.อภิเนตร กล่าว

ทั้งนี้ ผศ.อภิเนตรระบุว่า ปกติการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมฝังตัวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้สมองนั้น ญี่ปุ่นจะทำเองทั้งหมด แต่เนื่องจากปัญหาคนไม่พอจึงเป็นโอกาสให้วิศวกรของไทย ซึ่งเดิมทำงานในลักษณะใช้แรงงานในด้านผลิต ยกระดับขึ้นไปทำงานที่ต้องความคิดในอุตสาหกรรมสมองกลฝังตัว ซึ่งเน้นการใช้สมองเพื่อออกแบบอุปกรณ์ อีกทั้งการออกแบบระบบสมองกลฝังตัวจากญี่ปุ่นยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้ต้องเสียเวลาในการเดินทาง หากเกิดปัญหาขึ้น

“ที่ผ่านมาไทยผลิตกำลังคนเข้าโรงงานเสริมการผลิต เราผลิตวิศวกรไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซึ่งเหมาะสมกับการทำงานในอุตสาหกรรมสมองกลฝังตัวออกมาไม่น้อย แต่ถูกดึงไปใช้ในอุตสาหกรรมใช้แรงงานเพื่อดูการผลิต ไม่ได้ใช้ในอุตสาหกรรมที่ใช้สมองสำหรับออกแบบผลิตภัณฑ์สมองกลฝังตัว ซึ่งต้องคิดว่าจะออกแบบซอฟต์แวร์และผลิตภัณฑ์อย่างไร" ผศ.อภิเนตรกล่าว

อีกทั้งการที่คนไทยสามารถทำงานกับคนญี่ปุ่นได้ดี ทำให้ญี่ปุ่นไม่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีแรงงานถูก อย่างจีน อินเดีย และเวียดนาม รวมถึงเหตุผลว่า การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมฝังตัวซึ่งเปรียบเสมือนความลับของบริษัทนั้น ต้องอาศัยความไว้ใจกันอย่างมาก ซึ่ง ผศ.อภิเนตรระบุว่า ญี่ปุ่นยอมรับไทยในจุดนี้มากกว่าประเทศอื่นๆ

“ถ้าฐานการผลิตในไทยไม่เป็นที่ยอมรับ เขาย้ายฐานการผลิตไปจีนนานแล้ว ถึงแม้ค่าแรงเขาจะถูกกว่า แต่เราได้พิสูจน์แล้วว่า เราทำงานกับคนญี่ปุ่นได้” ผศ.อภิเนตรกล่าว และยังบอกด้วยว่า หากแข่งขันทางด้านแรงงาน อย่างไรไทยก็แพ้ประเทศอื่น จึงจำเป็นต้องยกระดับตัวเองด้วยการสร้างคนที่มีคุณภาพและปริมาณมาก รวมถึงส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ความยากในการพัฒนากำลังคนสู่อุตสาหกรรมสมองกลฝังตัว ตามที่ ผศ.อภิเนตรระบุคือ อุตสาหกรรมนี้ต้องการคนที่มีคุณภาพสูงและได้รับการฝึกมาตรงตามความต้องการ และซอฟต์แวร์สำหรับอุตสาหกรรมสมองกลฝังตัวก็มีความเฉพาะเจาะจงมาก จึงพัฒนาคนให้ตรงความต้องการได้ยาก

เพื่อเพิ่มกำลังคนทางด้านสมองกลฝังตัว ทางสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) แผนกทรัพย์สินทางปัญญาประจำองค์การส่งเสริมการค้าญี่ปุ่น (JETRO) และสมาคมสมองกลฝังตัวไทย ได้มอบทุนให้กับผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรไปฝึกงานกับบริษัทเอกชนญี่ปุ่นปีละ 14 ทุน เป็นเวลาร่วม 2 ปีแล้ว ซึ่ง ผศ.อภิเนตร คาดหวังว่าวิศวกรที่ได้รับทุนเหล่านี้จะได้รับการฝึกทักษะทางด้านสมองกลฝังตัว และมีความเชี่ยวชาญจนสามารถทำธุรกิจทางด้านสมองกลฝังตัวได้

“ตอนนี้ยังต้องช่วยกันทำงานกับเขาให้เป็น ซึ่งขณะนี้ยังมีคนที่ต่อท่อทำงานกับเขา (ญี่ปุ่น) ให้เป็นได้น้อย" ผศ.อภิเนตรกล่าว และระบุว่าทางสมาคมได้สร้างเครือข่ายกับคณะวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยไทยร่วม 20 แห่งทั่วประเทศ และได้จัดเสวนา "ทีทอล์ค” ซึ่งจะให้ความรู้เกี่ยวกับสมองกลฝังตัวตามหัวข้อที่แต่ละสถาบันให้ความสนใจ และขณะนี้มีหลายมหาวิทยาลัยติดต่อให้จัดกิจกรรมดังกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น