หากเอ่ยถึงตระกูล “เธียรประสิทธิ์” แล้ว เชื่อว่า ในแวดวงสังคมคงคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี ขณะที่ในแวดวงการศึกษาเองก็เป็นที่รู้จักไม่ใช่น้อย เนื่องจากครอบครัวได้เปิดโรงเรียนมานานพอสมควร นั่นคือโรงเรียนอนุบาลเปล่งประสิทธิ์ 3 สาขาที่ซอยสายลม ศรีนครินทร์และสีลม รวมทั้งเปิดโรงเรียนนานาชาติมาแล้วในระยะหนึ่งในชื่อ “แมรี่ปอปปิน” ภายในโรงเรียนอนุบาลเปล่งประสิทธิ์สาขาสีลม
ล่าสุด ตระกูลนี้ก็ได้เปิดโรงเรียนนานาชาติเต็มรูปแบบในพื้นที่ 25 ไร่ ด้วยเม็ดเงินลงทุนถึงเกือบ 400 ล้านบาท ในย่านถนนเฉลิมพระเกียรติ สวนหลวง ร.9 ในชื่อว่า ชาร์เตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล สกูล
นายเมธา เธียรประสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารธุรกิจโรงเรียนนานาชาติชาร์เตอร์ ให้ข้อมูลว่า ความจริงทางโรงเรียนเปิดให้บริการมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ปี 2547 โดยเปิดอยู่แถวๆ เสรีเซ็นเตอร์ อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยพื้นที่ของโรงเรียนจำกัด จึงได้ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่ใหม่ได้ประมาณ 1 ปีการศึกษาที่ผ่านมา โดยเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่เนิร์สเซอรี่จนถึง Year 6
สำหรับเด็กนักเรียนในขณะนี้มีประมาณ 100 คน โดยส่วนใหญ่จะเป็นลูกครึ่ง และที่เหลือก็เป็นเด็กต่างชาติและคนไทย
“ถามว่า จุดเด่นของโรงเรียนคืออะไร คงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเรื่องหลักสูตร โรงเรียนใช้ระบบการเรียนการสอนของอังกฤษ ซึ่งเป็นระบบที่มีมาตรฐานสูง พร้อมทั้งเน้นในเรื่องของสุขภาพร่างกายของเด็กๆ ให้แข็งแรงโดยจัดให้มีสถานที่ออกกำลังกายอย่างสมบูรณ์แบบทั้งสนามเด็กเล่น สนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ ขณะที่ครูผู้สอน เรามีนโยบายชัดเจนที่จะรับครูจากอังกฤษเป็นหลัก เพราะจะได้เข้าใจในระบบการเรียนการสอนของโรงเรียน และจะต้องจบด้านการศึกษาโดยตรง รวมทั้งมีประสบการณ์ในการสอนไม่ต่ำกว่า 3 ปี อีกส่วนหนึ่งที่เราเน้นก็คือ เราให้ความสำคัญกับเรื่องวัฒนธรรมไทย ภาษาไทย เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่า เด็กที่นี่จะไม่เป็นฝรั่งจ๋า แต่จะรู้เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยเป็นอย่างดี”
“ที่สำคัญคือ เรามีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะผลิตนักเรียนของเราให้มีความเป็นสากล เราไม่ได้พัฒนานักเรียนเพียงแค่ให้ทำงานในเมืองไทยอย่างเดียวเท่านั้น แต่เด็กๆ ของเราจะต้องมีศักยภาพสูง มีความสามารถที่จะไปไหนหรือทำงานที่ไหนในโลกก็ได้ โดยขณะนี้โรงเรียนกำลังยื่นขอรับรองวิทยฐานะในระดับนานาชาติ มาตรฐาน CIS ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยปัจจุบันมีประมาณ 20 โรงเรียนในเอเชียที่ได้รับ CIS และเรามั่นใจว่าเราจะได้รับการรับรองไม่เกินปี 2552”
นายเมธา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังได้ลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ เกี่ยวกับวิชาการในอีกหลายด้าน เช่น การสร้างห้องแล็บคอมพิวเตอร์ ห้องแล็บภาษา และห้องแล็บวิทยาศาสตร์
สำหรับเรื่องการขยาย ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทั้งในเรื่องของสถานที่และครูผู้สอนที่วางเอาไว้ทำให้โรงเรียนสามารถรองรับนักเรียนได้เป็นจำนวนมากถึงประมาณ 1,000 คน ซึ่งขณะนี้เนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มต้นและนักเรียนยังไม่มากนัก อัตราส่วนครูต่อนักเรียนอยู่ที่ 4 ต่อ 1 เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนกำหนดเป้าหมายเอาไว้ว่า จะเปิดเพิ่มไปจนถึง Year 11 โดยเมื่อจบแล้วทางโรงเรียนจะส่งนักเรียนให้ไปทดสอบ ITCSE ซึ่งถ้าหากสอบผ่าน ก็จะสามารถใช้เป็นหลักฐานในการสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไทยได้ทันที
ส่วนเรื่องค่าเล่าเรียนก็อยู่ในระดับที่ไม่แพงในมาตรฐานของโรงเรียนนานาชาติ กล่าวคือตกอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาทต่อปี หรือเทอมละประมาณ 100,000 บาท