xs
xsm
sm
md
lg

"จาค ปิการ์" นักสำรวจทะเลชื่อดังชาวสวิส เสียชีวิตแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จาค ปิการ์ ในปี 2542 ถ่ายภาพกับเรือดำน้ำลำหนึ่งในกรุงเจนีวา ซึ่งปิกการ์เป็นนักสำรวจใต้ทะเลที่บุกเบิกเส้นทางการสำรวจลงไปถึงส่วนที่ลึกที่สุดในโลกบริเวณร่องมหาสมุทรมาเรียนาเมื่อปี 2503 (เอพี)
"จาค ปิการ์" นักผจญภัยและนักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ผู้เปิดตำนานการเดินทางสู่ก้นเหวมหาสมุทรที่ลึกที่สุดในโลก ลาโลกแล้วอย่างสงบด้วยวัย 86 ปี ที่บ้านพักในสวิส ทิ้งไว้แต่ผลงานการสำรวจได้ทะเลลึกไว้เป็นอนุสรณ์

เอพีและเอเอฟพีต่างรายงานการเสียชีวิตของ จาค ปิการ์ (Jacques Piccard) นักวิทยาศาสตร์ผู้หลงใหลการสำรวจโลกใต้ทะเล และเคยดำดิ่งลงไปถึงก้นมหาสมุทรที่ลึกที่สุดในโลก ได้เสียชีวิตลงแล้วอย่างสงบด้วยวัย 86 ปี เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ในบ้านพักของเขา ใกล้กับทะเลสาบเจนีวา (Lake Geneva) กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

ปิการ์ เกิดในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อปี 2465 ครอบครัวของเขามีสายเลือดนักผจญภัยอย่างเข้มข้น เพราะบิดาของเขา ออกุสเต ปิการ์ (Auguste Piccard) ก็เป็นนักผจญภัยที่มีชื่อเสียง โดยเป็นบุคคลแรกที่เดินทางด้วยบอลลูนขึ้นไปจนถึงบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ (stratosphere) ส่วนลูกชายของเขาแบร์ทรองด์ ปิการ์ (Bertrand Piccard) ก็เป็นบุคคลแรกที่ประสบความสำเร็จในการเดินทางรอบโลกด้วยบอลลูนโดยไม่มีการหยุดพักเมื่อเดือน เม.ย. 2542

ปิการ์สำเร็จการศึกษาในสวิตเซอร์แลนด์ และเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยา โดยสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่เขาก็หันหลังให้กับอาชีพนี้เพื่อมาช่วยพ่อของเขาสร้างเรือดำน้ำ

กระทั่งวันที่ 23 ม.ค. 2503 ปิการ์นำคณะนักสำรวจดำดิ่งลงไปถึงก้นเหวของร่องมหาสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench) ในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยเรื่องเรือดำน้ำที่เขาและพ่อช่วยกันประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีความลึกถึง 10,916 เมตร และเป็นส่วนที่ลึกที่สุดของใต้มหาสมุทร พร้อมทั้งได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตหลากหลายในบริเวณนั้น ซึ่งการค้นพบของเขาในครั้งนั้นนำไปสู่การต่อต้านการทิ้งขยะกัมมันตรังสีลงสู่ก้นมหาสมุทรในเวลาต่อมา

หลังจากการเดินทางสำรวจโลกใต้ทะเลครั้งนั้น ปิการ์ก็มุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับทะเลลึก และทำงานให้กับองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และนอกจากนั้นปิการ์ยังได้สร้างเรือดำน้ำอีก 4 ลำ รวมถึงเรือดำน้ำท่องเที่ยวลำแรกด้วย

ทั้งนี้ เอพีและเอเอฟพีระบุว่าในปี 2507 ปิการ์ได้เรือดำนำท่องเที่ยวลำแรกที่เขาสร้างขึ้นมาจัดแสดงในงานแสดงนิทรรศการแห่งชาติของสวิสเซอร์แลนด์ (Swiss National Exhibition) พร้อมนำผู้โดยสาร 33,000 คน เดินทางท่องใต้ทะเลสาบเจนีวาที่ระดับความลึก 60 เมตร โดยเรือดำน้ำท่องเที่ยวลำดังกล่าว

ส่วนปิการ์นั้นก็ทำงานด้านการสำรวจใต้ทะเลลึกอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุ 82 ปี จึงเกษียณตัวเอง กระทั่งเสียชีวิตลงในวัย 86 ปีดังกล่าว

"การจากไปของพ่อ ทำให้ผมรับรู้ได้ถึงปรากฏการณ์แปลกใหม่ นั่นคือการไม่เชื่อในกฏเกณฑ์และข้อสมมติฐานโดยทั่วไป แต่เชื่อในความสมัครใจและความมั่นใจในการเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน" คำกล่าวของปิการ์ผู้ลูก

อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2549 หนึ่งในทีมงานผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้มีโอกาสเดินทางเพื่อ “ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในหลวง ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์” ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยระหว่างการเดินทางครั้งนั้น คณะส่วนหนึ่งได้มีโอกาสพบเข้ากับ "จาค ปิการ์" โดยบังเอิญ ซึ่งปิการ์ผู้นี้เป็นพระสหายรุ่นพี่ของในหลวง ที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.โลซานน์

"ปิการ์" พระสหายวัย 84 ปี ในยามนั้น เมื่อทราบว่าทีมงานเดินทางมาชื่นชมพระบารมีของในหลวง ก็มีความยินดีให้ถ่ายภาพ ทว่าเขาเพิ่งผ่านการผ่าตัดลำคอมาจึงสนทนาได้ไม่มากนัก แต่ก็ได้ฝากความระลึกถึงไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "เรามีความระลึกถึงพระองค์อย่างมาก" นับเป็นถ้อยคำจากพระสหายร่วมคณะ และนักสำรวจคนสำคัญแห่งศตวรรษฝากไว้ ให้ทีมงานได้นึกถึงชายผู้นี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม...ท่อง “โลซานน์” ตามรอยพระบาท “พ่อหลวง”
จาค ปิการ์ (ซ้าย) กับเรือดำน้ำขนาดเล็ก F.A Forelon ในทะเลสาบเจนีวา ในปี 2538 (เอเอฟพี)
สองพ่อลูกนักผจญภัย ออกุสเต ปิการ์ (ซ้าย) และจาค ปิการ์ (ขวา) (เอเอฟพี)
จาค ปิการ์ (ซ้าย) อวยพรลูกชายของเขา แบร์ทรองด์ ปิการ์ ก่อนออกเดินทางรอบโลกด้วยบอลลูนในปี 2541 (เอเอฟพี)
ภาพปิการ์เมื่อปี 2549 ที่พบโดยบังเอิญ ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองโลซานน์
กำลังโหลดความคิดเห็น