ใกล้หมดยุคผู้ป่วยรอรับบริจาคหัวใจ เมื่อนักวิจัยแดนน้ำหอมพัฒนา "หัวใจเทียม" ประสิทธิภาพสูง ทำจากวัสดุธรรมชาติ ใส่เทคโนโลยีอวกาศเข้าไป ทดลองในสัตว์ ให้ผลการทำงานใกล้เคียงกับหัวใจแท้ หวังช่วยยืดอายุผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยไม่ต้องรอรับบริจาคแต่เพียงอย่างเดียว
ทีมนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสโชวผลงาน "หัวใจเทียมอัจฉริยะ" ที่พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีที่ใช้ในดาวเทียมและอากาศยาน ในระหว่างการแถลงข่าวในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเอพีรายงานว่านักวิจัยได้ทดสอบประสิทธิภาพของหัวใจเทียมดังกล่าวในสัตว์ทดลองแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการทดสอบในคน
"ใช้หลักการเดียวกับที่ใช้ในเครื่องบิน แต่เรานำมาใช้ในร่างกายมนุษย์" คำกล่าวของ แพทริค โคลอมเบีย (Patrick Coulombier) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทคาร์แมต (Carmat) ผู้พัฒนาหัวใจเทียมด้วยเทคโนโลยีอากาศยาน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก บริษัท ยูโรเปียน แอโรนอติก ดีเฟนซ์ แอนด์ สเปซ (European Aeronautic Defense and Space Co.: EADS.) ผู้ผลิตเครื่องบินแอร์บัส (Airbus)
นักวิจัยอธิบายว่า พวกเขานำเซ็นเซอร์ขนาดเล็ก แบบเดียวกับที่ใช้กับเครื่องบินสำหรับวัดความดันอากาศและระดับความสูงเหนือพื้นดิน มาใส่ให้กับหัวใจเทียม เพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการไหลของเลือดได้โดยอัตโนมัติ และใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ทำให้สามารถตอบสนองกับความต้องการในร่างกายของผู้ป่วยได้อย่างทันทีทันใด ในยามที่ต้องการเลือดไปเลี้ยงร่างกายมากขึ้นหรือน้อยลง
ข้อดีเด่นอีกอย่างคือมีปั๊มสูบฉีดโลหิต 2 ปั๊ม สำหรับสูบฉีดเลือดไปยังปอด และไปยังร่างกาย ขณะที่หัวใจเทียมแบบเดิมจะมีเพียง 1 ปั๊มเท่านั้น และนอกจากนี้ หัวใจเทียมยังทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น พอลิเมอร์ธรรมชาติ และเนื้อเยื่อหมู ซึ่งเคยมีการนำปลูกถ่ายเป็นลิ้นหัวใจในผู้ป่วยมาแล้ว จึงไม่เป็นปัญหาเรื่องการปฏิเสธของร่างกาย ซึ่งมักเกิดขึ้นกับหัวใจเทียมและอุปกรณ์ที่ใช้ปลูกถ่ายในร่างกาย
นักวิจัยได้ทดลองนำหัวใจเทียมไปปลูกถ่ายในแกะ เพื่อศึกษาการปรับตัวของร่างกายให้เข้ากับอวัยวะเทียมนี้ ก็ได้ผลน่าพอใจ และยังศึกษาอีกหลายกรณี เช่น กรณีที่ผู้ป่วยออกกำลังกายและร่างกายต้องการเลือดมากขึ้นอย่างกระทันหัน
ขณะนี้ พวกเขากำลังพัฒนาหัวใจเทียมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อนำไปทดสอบในระดับคลินิกต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบในคนได้ภายใน 2 ปีนี้ และหวังว่าจะสามารถนำไปใช้ได้จริงในเร็ววัน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีราคาประมาณ 150,000 ยูโร (ประมาณ 6-7 ล้านบาท)
ทั้งนี้ โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรโลกเป็นอันดับต้นๆ โดยข้อมูลของสมาคมโรคหัวใจอเมริกัน (American Heart Association) ระบุว่าในปี 2549 มีผู้ป่วยโรคหัวใจในสหรัฐฯ ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจใหม่เพียง 2,200 คนเท่านั้น และยังมีผู้ป่วยที่รอคิวผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจอยู่อีกมากมาย
อย่างไรก็ดี มีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจหลายคนออกมาแสดงความกังวลและเตือนว่า สิ่งประดิษฐ์ทุกชนิดสำหรับปลูกถ่ายในร่างกาย ไม่ว่าจะออกแบบมาดีเลิศปานใด ก็อาจเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดขึ้นภายหลังได้ และสำหรับหัวใจเทียมนี้น่าจะช่วยได้บ้างในเรื่องลดการขาดแคลนผู้บริจาคหัวใจ เพราะว่ายังมีราคาแพงมาก และยังต้องอาศัยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเป็นหลัก.