xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยเผยข้อมูล โลกร้อนขึ้น-วันฝนตกมาก ทำไข้เลือดออกระบาดน้อยลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน ปิยมหาราชรำลึก เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 51 ซึ่งมีการบรรยายพิเศษเรื่อง การแพทย์ในอนาคต โดย 3 นายแพทย์จากจุฬาฯ และสภากาชาดไทย
นพ.ยง ชี้ภาวะโลกร้อนไม่ทำให้โรคติดเชื้อระบาดมากขึ้นในเขตร้อน แต่มีโอกาสแพร่กระจายสู่เขตหนาวมากขึ้น เพราะอากาศอุ่นขึ้น พร้อมเตือนให้ระวังโรคเก่าอุบัติซ้ำ และต้องเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน แนะให้มีสติ และอย่าตื่นตระหนกจนเกินไป

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการอภิปรายพิเศษเรื่อง "การแพทย์ในอนาคต" (Medicine in the Future) ในการจัดงาน "ปิยมหาราชรำลึก" เนื่องในโอกาสวันปิยมหาราช ณ ห้องประชุมเฉลิม พรมมาส ตึก อปร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์, ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ นพ.พิชิต ศิริวรรณ หัวหน้าฝ่ายบรรเทาทุกข์ สำนักงานบรรเทาทุกข์ สภากาชาดไทย

ศ.นพ.ยง กล่าวถึงภาวะโลกร้อนกับโรคติดเชื้อในอนาคตว่า โลกร้อนขึ้นจริง และมีผลต่อแมลง เช่น ยุง ที่เป็นพาหะของหลายโรค ทั้งไข้เลือดออก มาลาเรีย และไข้เหลือง ทั้งนี้เพราะระบบนิเวศน์เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางคนสันนิษฐานว่าโลกร้อนขึ้น ทำให้ยุงเพิ่มขึ้น จริงเท็จอย่างไร ยังไม่มีใครรู้ แต่จากการศึกษาเบื้องต้น โดยร่วมกับ ดร.พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พบว่าในช่วง 57 ปีที่ผ่านมา อุณภูมิสูงสุดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.79 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิต่ำสุดสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 3.75 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่าประเทศไทยไม่ได้ร้อนขึ้นมากเท่าไหร่ แต่ในขณะเดียวกันกลับหนาวน้อยลง

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น การระบาดของไข้เลือดออกจะลดลง และหากมีจำนวนวันที่ฝนตกมากขึ้น ไข้เลือดออกก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งอธิบายได้ว่า ยุงไม่ออกหากินในวันฝนตก และยุงน่าจะมีอุณหภูมิที่เหมาะสมในการแพร่พันธุ์ ที่ไม่หนาวและไม่ร้อนจนเกินไป

ส่วนการระบาดของไข้หวัดใหญ่ก็พบว่า ประเทศเขตหนาวทั้งซีกโลกใต้และซีกโลกเหนือ ไข้หวัดใหญ่จะระบาดเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ขณะที่ประเทศในเขตร้อนจะมีไข้หวัดใหญ่ระบาดตลอดทั้งปี
 
ฉะนั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน จะส่งผลกระทบกับประเทศเขตหนาวมากกว่า เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคจากเขตร้อนมีโอกาสแพร่กระจายไปยังเขตหนาวที่อุณหภูมิสูงขึ้นได้

"อย่างไรก็ตาม การที่ระบบนิเวศน์ถูกทำลายเนื่องจากภาวะโลกร้อน อาจทำให้โรคเก่าหวนกลับมาระบาดได้อีกครั้ง และที่น่าเป็นห่วงอีกคือโรคอุบัติใหม่ที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ เมื่อคนและสัตว์สัมผัสกันมากขึ้น ดังนั้นควรจะต้องมีเครือข่ายเฝ้าระวัง เมื่อไรก็ตามที่มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น จะต้องวินิจฉัยได้ทันท่วงที และควบคุมไม่ให้ระบาดได้" ศ.นพ.ยง กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ และเตือนประชาชนด้วยว่าอย่าเพิ่งวิตกกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดมากจนเกินไป แต่จะต้องมีสติและพร้อมรับมือเมื่อเกิดขึ้น

ด้าน ศ.นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า การสร้างนวัตกรรมสำหรับการแพทย์ในอนาคตนั้นจะต้องพิจารณาปัจจัยในขณะนี้ด้วย ทั้งผลจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว เกิดวิกฤตอาหาร พลังงาน โรคติดเชื้อ รวมถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมือง แต่คาดการณ์ได้ว่าการแพทย์ในอนาคต มีแนวโน้มไปสู่การแพทย์เฉพาะบุคคล โดยการตรวจจีโนมเพื่อวินิจฉัยโรคหรือการรักษาที่เหมาะสม และการวินิจฉัยโรคจากการตรวจหาโปรตีนหรือไบโอมาร์กเกอร์

รวมถึงนวัตกรรมการแพทย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ที่มีการศึกษาวิจัยการทำงานของสมอง โดยมีงานวิจัยหนึ่งพบว่า ลิงสามารถสั่งการให้มือกลเคลื่อนที่ไปหยิบกล้วยได้เพียงแค่นึกคิดว่าจะเอื้อมแขนไปหยิบกล้วย ซึ่งอาจนำไปใช้กับผู้พิการได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวเตือนด้วยว่า การเลือกใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในอนาคต ต้องพิจารณาด้วยว่าถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร เพื่อใคร และเราสามารถควบคุมไม่ให้เกิดผลเสียได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันมีหลายเทคโนโลยีที่ยังไม่สมบูรณ์พอ ก็มีการนำไปใช้หาประโยชน์ทางการค้ากันแล้ว

ส่วน นพ.พิชิต กล่าวถึงมหันตภัยทางธรรมชาติกับการแพทย์ในอนาคตว่า ความรุนแรงของภัยพิบัติไม่ได้ขึ้นกับธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับศักยภาพสังคมด้วย และการแพทย์ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเมื่อเกิดภัยพิบัต ก็จะเกิดปัญหาในด้านการแพทย์ฉุกเฉิน แลาตามมาด้วยปัญหาสาธารณสุขมูลฐานอีกมากมาย

ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น และจะควรมีการแก้ระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการทางการแพทย์ในยามเกิดภัยพิบัติ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ และ นพ.พิชิต ศิริวรรณ
ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา และ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้ดำเนินรายการ
กำลังโหลดความคิดเห็น