อพวช. - “เดอะ มัชรูม” จากโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ คว้าอันดับหนึ่งไปครองได้สำเร็จ สามารถถ่ายทอดความคิดผ่านตัวอักษร เขียนเป็นข่าวทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อรณรงค์ให้รู้จักรักษาสิ่งแวดล้อมในกิจกรรมค่าย “นักข่าววิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์”
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ บริติช เคานซิล ประเทศไทย และหนังสือพิมพ์เนชั่น จูเนียร์ จัดพิธีปิดค่าย “นักข่าววิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Thai Science Journalist Camp,YTSJ 2008)” พร้อมประกาศผลทีมที่ได้รับรางวัลในการประกวดทำหนังสือพิมพ์เพื่อสิ่งแวดล้อมสองภาษา โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ คือ ทีม “เดอะ มัชรูม” จากโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ที่มีสมาชิกในทีมประกอบไปด้วย นางสาวดวงหทัย โสตถิเสาวภาคย์, นางสาวจินตภา เตชะธนะกิจ,นางสาวรดา กีรติรักษ์, นางสาวณัทชิสา เหลืองสุรงค์, นางสาวธันยธรณ์ ชัยวงศ์ขจร
นางกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการกองข้อมูลและวิเทศสัมพันธ์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า “รู้สึกยินดีกับน้อง ๆ จากทีม เดอะ มัชรูม ที่ได้รับรางวัล ส่วนทีมที่เหลืออีก 5 ทีมก็เก่งไม่แพ้กัน เพราะว่ากว่าน้อง ๆ จะก้าวเข้ามาสู่จุดนี้ได้ ต้องผ่านการคัดเลือกจากทีมอื่นที่ส่งหนังสือพิมพ์เข้าประกวดกว่า 45 ฉบับ แต่มีเพียง 6 กลุ่ม จำนวน 26 คนเท่านั้น ที่ผ่านการคัดเลือกให้มาร่วมเข้าค่ายนักข่าววิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Thai Science Journalist Camp,YTSJ 2008) ในครั้งนี้ ซึ่งทาง อพวช. มุ่งหวังว่าการมาเข้าค่ายนี้จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่พร้อมจะมอบโอกาสการเรียนรู้จากคนในวงการทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และสื่อสิ่งพิมพ์ให้กับน้องๆ เป็นพิเศษ ”
ด้าน นางเพ็ญรพี รามอินทรา ผู้จัดการโครงการวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า “แม้โครงการค่ายนักข่าววิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Thai Science Journalist Camp,YTSJ 2008) มอบความรู้และรางวัลให้กับน้องๆ แต่รางวัลที่น้อง ๆ ได้รับอาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียนรู้การสื่อสารเรื่องภาวะโลกร้อน การฝึกเป็นนักข่าวสิ่งแวดล้อมต่างหากที่สำคัญยิ่งกว่า ”
นางสาวรดา กีรติรักษ์ หรือน้องไหม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ หนึ่งในสมาชิกทีมหนังสือพิมพ์ “เดอะ มัชรูม“ ที่คว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง กล่าวว่า “หนังสือพิมพ์ที่ทำเป็นแบบสองภาษา คือ ไทยและอังกฤษ ซึ่งทีมเรามีด้วยกัน 6 คน แบ่งหน้าที่ไปตามความถนัด และเขียนคอลัมน์กันเอง โดยพยายามเขียนให้คนอ่านเข้าใจง่าย ไม่ใช้ศัพท์ทางการที่ยากเกินไป ยิ่งข่าวเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยความรู้ค่อนข้างมาก การได้มีโอกาสมาเข้าค่ายนักข่าววิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ครั้งนี้ ทำให้ได้ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม และประทับใจหลายอย่าง โดยเฉพาะการได้ไปดูงานที่เนชั่น จูเนียร์ ทำให้เห็นเบื้องหลังการทำงาน ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ เพราะหลายคนในกลุ่มอยากเป็นนักข่าว แล้วก็รู้ว่าการจะเป็นนักข่าวได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ซึ่งไม่ง่ายเลย ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเองให้มากกว่านี้
สำหรับกิจกรรมภายในค่ายครั้งนี้ น้อง ๆ ต่างได้รับโอกาสสำคัญในการรับฟังบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้เชี่ยวในด้านต่าง ๆ ทั้งนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักวิจัย และนักวิชาการ ในหัวข้อที่น้อง ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเขียน ไม่ว่าจะเป็น “กว่าจะได้เป็นข่าว”, “หนังสือพิมพ์ที่น่าอ่าน” และชมเบื้องหลังการผลิตหนังสือพิมพ์ โดย เนชั่น จูเนียร์ การบรรยาย “การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์” กิจกรรม “สืบสาวราวเรื่อง” และการเสวนาทางวิทยาศาสตร์กับ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิจัยและนักเขียนชื่อดังจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการทดลองพิสูจน์ความจริงเรื่องโลกร้อน ตลอดจนการปฏิบัติงานกลุ่ม Student Conference ที่ทำให้น้อง ๆ ได้ร่วมมือกันคิดหาทางแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีการที่ท้าทายและสร้างสรรค์อีกด้วย
ทั้งนี้ ผลงานหนังสือพิมพ์ของน้องจะได้นำไปตีพิมพ์ เพื่อเผยแพร่แก่สาธารณะชน ในหนังสือพิมพ์ เนชั่น จูเนียร์ ซึ่งตีพิมพ์กว่าแสนฉบับทั่วประเทศ