xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกคนข่าวฯเหตุการณ์7ตุลา เห็นต่างกก.สิทธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (22 ธ.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ถนนสามเสน มีการเปิดตัวหนังสือพอคเก็ตบุค "บันทึกคนข่าว 7 ตุลา ข้อเท็จจริงที่แตกต่าง" ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมงานเขียนจากนักข่าว ช่างภาพ ทั้งไทย และต่างประเทศ 28 คน ที่ทำข่าวเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตย ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา จนมีผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
น.ส.นาตยา เชษฐโชติรส นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันที่เกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 มีโอกาส ได้สัมผัสและเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งไปเยี่ยมนักข่าว ผู้บาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งผู้ชุมนุมตามโรงพยาบาลต่างๆ ทางคณะทำงาน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการประชุม และได้มีมติในการจัดทำหนังสือ “บันทึกฅนข่าว 7 ตุลา ข้อเท็จจริงที่แตกต่าง” ออกมา ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีมากอีกเล่มหนึ่งถึงแม้จะไม่ดีที่สุด แต่ก็มีการจัดทำโดยไม่ได้ฝักใฝ่ ฝ่ายใด และทางสมาคมพร้อมน้อมรับคำติชม คำวิจารณ์เพื่อเป็นประโยชน์ต่องานหนังสือเล่มอื่นต่อไป
นายธีรเดช เอี่ยมสำราญ บรรณาธิการ หนังสือบันทึกฅนข่าว 7 ตุลา ข้อเท็จจริงที่แตกต่าง กล่าวว่า ก่อนที่จะมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ได้มีการคุยกันว่า จะปล่อยให้เหตุการณ์ 7 ตุลาฯ รางเลือนหายไปก็ไม่ถูกต้อง น่าจะมีการจับภาพ บันทึกเหตุการณ์ตรงนั้นไว้ หลังจากนั้นจะมีการฟอร์มทีม ซึ่งการฟอร์มทีมก็มีลักษณะที่โดดเด่น โดยจะมีการเลือกจากหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ ล็อคตัวนักข่าวว่า คนไหนอยู่ตรงไหน มีนักข่าวคนไหนอยู่ในที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ตัวนักข่าวที่ได้รับบาดเจ็บ ก็มีโอกาสได้เขียน และถ่ายทอดเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ด้วย
"จากการฟังคำแถลงของคณะกรรมการสิทธิฯ พูดเหมือนว่ามีความรุนแรงจากฝั่งกำลังเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ถ้าอ่านดีๆจากสายตาของนักข่าวบางทีความรุนแรงไม่ได้มาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายเดียว มีข้อเท็จจริงที่มองข้ามไปหมด ความรุนแรงบางทีก็มาจากฝ่ายพันธมิตรฯ มีแต่บันทึกด้านเดียว จริงๆ แล้วกรรมการสิทธิฯไม่ควรสรุปด้วยซ้ำตราบเท่าที่ยังไม่เห็นหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญ" นายธีรเดช กล่าว
นายสุนัย ผาสุข ตัวแทนกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวถึงหนังสือเล่มดังกล่าวว่า เป็นหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่นักข่าวแต่ละคนอยู่คนละจุดในที่เกิดเหตุ จึงทำให้เราเห็นภาพหลากหลายที่ร้อยเข้ากันได้ดี มีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกผสมเข้ามากับข้อเท็จจริง จึงทำให้งานเขียนนี้มีพลังและมีชีวิต
"และยังเป็นหนังสือที่สามารถถ่วงน้ำหนักสรุปรายงานสถานการณ์ดังกล่าว ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้อย่างดี และยังจะช่วยเติมเต็มรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯที่ยังเอียงด้วย" นายสุนัยกล่าว
นายกวี จงกิจถาวร บรรณาธิการข่าวเครือเนชั่น และที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวฯ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ เป็นงานเขียนเชิงวรรณกรรมแนวดราม่า ที่ทำให้มองเห็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนของไทยที่ยังเน้นที่จะได้ข่าวโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเอง ซึ่งต่างจากสื่อต่างชาติเป็นอย่างมากที่เขามีทั้งการอบรมในการทำข่าวมีความขัดแย้ง ซึ่งตนมีข้อเสนอ 4 ข้อ ให้กับวงการสื่อ คือ
1.นักข่าวจะต้องมีองค์ความรู้ โดยต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ เข้ามาให้รู้ในเรื่องของการชุมนุม 2.สมาคมนักข่าวฯต้องกำหนดเครื่องมือเครื่องไม้อะไรต่างๆ ให้เป็นมาตรฐาน เช่น หมวกกันน๊อค แว่นตา เสื้อ 3. ต้องมีการเยียวยาทางด้านจิตใจให้กับนักข่าวที่ทำข่าวเหตุการณ์หนักอย่างนี้ 4. ควรมีค่าชดใช้หากเกิดการสูญเสีย ที่มากกว่าประกันสังคมและประกันชีวิตที่แต่สำนักพิมพ์มีให้ เพราะสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น