อาจารย์ ม.รามฯ ใช้เทคนิคปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี ของสารเคอร์คิวมินอยด์ในขมิ้นชัน หวังใช้รักษาโรคเหงาหลับที่ระบาดในหมู่ประชากรแอฟริกา ได้สารออกฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพ ต้านเชื้อก่อโรคในหลอดทดลองดีกว่ายาเดิม ทั้งยังพบว่า สารโครงสร้างใหม่ที่ได้ดัดแปลงมาจากเคอร์คูมินอยด์ มีโครงสร้างตรงกับสารที่พบในขิง และเตรียมศึกษาเพิ่มเติม หวังใช้สมุนไพรไทยช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศยากจน
ศ.ดร.อภิชาติ สุขสำราญ นักวิจัยและอาจารย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ภายหลังบรรยายพิเศษทางด้านเภสัชวิทยา ภายในงานประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธีวิจัยอาวุโส" ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระหว่างวันที่ 16-18 ต.ค.51 ที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ รีสอร์ท รีเจนท์ บีช ชะอำ จ.เพชรบุรี
"โรคเหงาหลับ (sleeping sickness) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโปโตซัวชนิดไทรพาโนโซมา บรูเซีย (Trypanosoma brucei) มีแมลงวันเป็นพาหะ ซึ่งระบาดมากในทวีปแอฟริกา และชนิด ไทรพาโนโซมา ครูซี (Trypanosoma cruzi) อเมริกาใต้ แต่ไม่พบในไทย" ศ.ดร.อภิชาติกล่าว
"ผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไป ร่างกายจะเริ่มอ่อนแอลง และเกิดอาการเจ็บป่วยอื่นๆ เช่น เลือดจาง ระบบทางเดินหายใจผิดปรกติ ไตล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุดหากไม่ได้รับยารักษาทันท่วงที แต่เนื่องจากโรคนี้เกิดในกลุ่มประเทศยากจน บริษัทยาจึงไม่สนใจ ประกอบกับเชื้อมีการดื้อยา ทำให้ยาเดิมใช้ไม่ได้ผล" ศ.ดร.อภิชาติอธิบาย
เนื่องจากยาเดิม ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเหงาหลับมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับสารเคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoids) ในขมิ้นชัน จึงนำสารดังกล่าวมาศึกษาว่าจะนำมาใช้เป็นยาได้หรือไม่ ผลการทดสอบสารเคอร์คิวมินอยด์ที่สกัดจากขมิ้นชันมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้ออยู่ในระดับต่ำมาก จึงใช้เทคนิคทางเคมีปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเคอร์คิวมินอยด์ จนได้สารที่มีฤทธิ์ด้านเชื้อดังกล่าวได้ดีกว่ายาเดิม รวมทั้งเชื้อที่ดื้อยาก็ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการที่จะนำมาทำเป็นยาแผนปัจจุบัน จะต้องผ่านกฏเกณฑ์ต่างๆ และต้องทดสอบอีกหลายขึ้นตอน ซึ่งขณะนี้ก็ได้ร่วมมือกับนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ (University of Glasgow) สกอตแลนด์ ทดสอบสารเหล่านี้ในสัตว์ทดลอง เบื้องต้นพบว่าระดับความเป็นพิษต่ำ และกำลังขอทุนวิจัยจากองค์การอนามัยโลกเพื่อทดสอบในระดับต่อไป
ยิ่งกว่านั้น เรายังพบว่าสารเคอร์คิวมินอยด์ที่ดัดแปลงโครงสร้าง แล้วมีประสิทธิภาพต้านเชื้อโรคเหงาหลับได้ดีที่สุด กลับมีโครงสร้างทางเคมีตรงกับสารที่พบในขิง ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ทางอ้อมได้ว่าสารเหล่านี้จะไม่เป็นพิษต่อร่างกาย และที่สำคัญ ขมิ้นชันและขิงเป็นพืชล้มลุกที่ปลูกได้ง่าย โดยเฉพาะขิงเป็นพืชที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์แพร่หลายมากกว่าขมิ้นชัน ซึ่งนักวิจัยก็หวังว่าในขิงจะมีสารดังกล่าวในปริมาณมากเช่นเดียวกับที่ขมิ้นชันมีเคอร์คิวมินอยด์ในปริมาณสูง
"ขั้นต่อไปจะทดสอบสารออกฤทธิ์ในขิง โดยจะทดสอบทั้งในรูปของสารสกัดจากขิง และสารบริสุทธิ์ที่สกัดแยกออกมา ถ้าผลทดสอบการต้านเชื้อโรคเหงาหลับโดยสารสกัดจากขิงให้ผลดี ก็เป็นไปได้ว่าจะนำสารสกัดจากขิงมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคเหงาหลับในรูปแบบของยาสมุนไพร ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นยาแผนปัจจุบันลงได้" ศ.ดร.อภิชาติกล่าว.