xs
xsm
sm
md
lg

โพรแลคติน.. ฮอร์โมนอเนกประสงค์ ควบคุมสมดุลแคลเซียมในร่างกาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สกว. - โรคกระดูกพรุนเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายมีมวลกระดูกต่ำ และกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังประสบปัญหาจำนวนผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นเนื่องจากอายุเฉลี่ยของประชากรโลกยืนยาวขึ้น

นอกจากนี้ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตรก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากในระหว่างตั้งครรภ์ แม่จะสูญเสียแคลเซียมให้ลูกในครรภ์โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด และหลังคลอดแม่ก็ยังสูญเสียแคลเซียมทางน้ำนมอีก ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำนมที่ใช้เลี้ยงบุตรในแต่ละวัน โดยในช่วง 6 เดือนของการให้นมบุตร แม้จะสูญเสียแคลเซียมราว 6-8% ทำให้ร่างกายของแม่ต้องปรับตัวเพื่อหาแคลเซียมมาทดแทนแคลเซียมในเลือดที่เสียไปในน้ำนม โดยเพิ่มอัตราการดูดซึมแคลเซียมให้สูงขึ้น ลดการขับถ่ายแคลเซียมทางปัสสาวะ และที่สำคัญที่สุดคือกระตุ้นให้กระดูกปล่อยแคลเซียมออกมาในกระแสเลือด

ช่วงให้นมหลังคลอด “โพรแลคติน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า มีหน้าที่กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เต้านมในสตรีมีครรภ์และกระตุ้นการสร้างน้ำนมสำหรับเลี้ยงบุตรหลังคลอด เป็นฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงระดับในเลือดมากที่สุด โดยจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20 เท่าของระดับก่อนตั้งครรภ์ นอกจากนั้นการหลั่งโพรแลคตินจะถูกกระตุ้นเพิ่มขึ้นอีกทุกครั้งที่ลูกดูดนม ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาวิจัยว่าโพรแลคตินที่หลั่งเพิ่มตอนบุตรดูดนมนี้มีผลอย่างไรต่อสมดุลแคลเซียมในร่างกายของแม่

ศาสตราจารย์ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมนักวิจัยของเครือขายวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก ซึ่งประกอบด้วยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับกลไกการดูดซึมที่ลำไส้ การควบคุมวัฏจักรการสร้างและสลายกระดูก และกลไกของการนำแคลเซียมจากเลือดเข้าสู่เซลล์เต้านมเพื่อการขับหลั่งออกสู่น้ำนม จึงได้ตั้งสมมติฐานว่าโพรแลคตินอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับมวลกระดูกหรือโดยอ้อมจากผลของการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้

คณะนักวิจัยได้ทำการศึกษาอย่างเป็นระบบในหนูขาว เริ่มจากการมองภาพใหญ่ของสมดุลแคลเซียมของร่างกายทั้งระบบด้วยการศึกษาอวัยวะเป้าหมายของฮอร์โมน ได้แก่ ลำไส้ซึ่งเป็นอวัยวะที่นำแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายโดยดูดซึมจากอาหาร รวมทั้งไตที่เป็นอวัยวะในการขับถ่ายแคลเซียมส่วนเกิน เต้านมหรือกระดูกซึ่งเป็นแหล่งสะสมแคลเซียมทั้งในระดับอวัยวะ เนื้อเยื่อ เซลล์ และการสร้างโปรตีนในเซลล์ โดยใช้เทคนิควิจัยจากสาขาวิชาการต่างๆ เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับผลของโพรแลคตินที่อวัยวะนั้นๆ ตลอดจนกลไกการส่งสัญญาณของโพรแลคตินภายในเซลล์

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี คณะนักวิจัยภายใต้การนำของศาสตราจารย์ ดร.นทีทิพย์ ถือเป็นกลุ่มวิจัยกลุ่มแรกที่พบองค์ความรู้ใหม่ว่าโพรแลคตินทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนควบคุมแคลเซียม นอกเหนือจากเป็นฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างน้ำนม โดยทำหน้าที่เป็นตัวให้สัญญาณควบคุมการทำงานของอวัยวะเป้าหมายต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ร่างกายได้นำแคลเซียมที่ดูดซึมที่ลำไส้ไปสร้างหรือเก็บที่กระดูก เช่น ในสัตว์อายุน้อย ส่วนในสัตว์อายุมากหรือที่กำลังท้อง/ให้นมลูก ถึงแม้โพรแลคตินจะมีผลกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม แต่ก็มีผลลดการสร้างกระดูกและเพิ่มการสลายกระดูก เพื่อปล่อยแคลเซียมออกมาในเลือดสำหรับนำไปสร้างกระดูกของทารกในครรภ์และผลิตน้ำนมหลังคลอด จึงทำให้มวลกระดูกลดลง ดังนั้นภาวะโพรแลคตินในเลือดสูงมากกว่าปกติจึงมีผลต่อการสลายกระดูก จนทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้

คณะนักวิจัยคาดหวังว่า เมื่อทำการวิจัยศึกษาต่อไปให้ลึกซึ้งมากขึ้นถึงกลไกการออกฤทธิ์ของโพรแลคตินและตัวจับฮอร์โมน ตลอดจนการตอบสนองของเซลล์เป้าหมายต่างๆในร่างกาย องค์ความรู้นี้จะนำไปสู่การพัฒนายาเพื่อใช้กระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม กระตุ้นการสร้างกระดูกและยับยั้งการสลายกระดูก ซึ่งจะเป็นวิธีหนึ่งในการลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้ต่อไป ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นทีทิพย์ ได้แนะนำหลักการปฏิบัติตนเพื่อให้มวลกระดูกมีค่าสูง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีแคลเซียมสูง นอนหลับเพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ และใช้อุปกรณ์น้ำหนักเสริม รวมถึงการตากแดดบ้างเพื่อให้ได้วิตามินดีอย่างเพียงพอ ขณะที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็มีโพรแลคตินซึ่งช่วยประสานการเคลื่อนย้ายแคลเซียมระหว่างอวัยวะต่างๆให้สอดคล้องอย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่กระทบสมดุลแคลเซียมของแม่
กำลังโหลดความคิดเห็น