เภสัชกร ม.อุบลฯ พัฒนาระบบนำส่งวัคซีนชนิดรับประทาน หลีกเลี่ยงการเสี่ยงติดเชื้อจากเข็มฉีดยา แก้ปัญหาเด็กกลัวเข็มฉีดยา ทดลองในแล็บได้ผลดี วัคซีนคงสภาพได้มากกว่าผลวิจัยต่างชาติถึง 3 เท่า เตรียมทดลองในสัตว์ต่อ
ภก.เชาวลิต มณฑล เภสัชกร และนักศึกษาปริญาโท คณะเภสัชศาสตร์ ม.อุบลราชธานี เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ได้ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบนำส่งวัคซีนที่ให้โดยการรับประทาน ซึ่งผลการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า วัคซีนสามารถคงทนต่อกรดในกระเพาะอาหารได้ดี และเมื่ออยู่ในลำไส้ก็สามารถปลดปล่อยตัวยาสู่กระแสเลือดได้เกือบทั้งหมดภายในเวลา 1 ชั่วโมง
"ปัจจุบันการให้วัคซีนส่วนใหญ่ ใช้วิธีฉีดเข้าสู่เส้นเลือดโดยตรง ยกเว้นวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอเท่านั้นที่ให้โดยการรับประทาน ซึ่งวิธีฉีดอาจทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนอาจมีอาการเจ็บป่วยข้างเคียง หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ นอกจากนี้เข็มฉีดยาที่ค่อนข้างราคาแพง ทำให้สถานพยาบาลบางแห่งจำเป็นต้องนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสการติดเชื้อจากเข็มฉีดยามากยิ่งขึ้น" ภก.เชาวลิต แจงและให้ข้อมูลต่อว่า
นักวิจัยหลายประเทศ จึงพยายามพัฒนาระบบการนำส่งวัคซีนโดยการรับประทาน เพื่อให้วัคซีนคงสภาพอยู่ในร่างกายได้นานเพียงพอจนไปถูกดูดซึมที่สำไส้ โดยไม่ถูกทำลายจากกรดในกระเพาะอาหารเสียก่อน
ในงานวิจัยของตนเอง เริ่มจากพัฒนาอนุภาคของยาแกน โดยใช้พอลิเมอร์ชนิดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้ได้ในวัคซีนแบบฉีดอยู่แล้ว นำมาผสมกับไขมันอีก 2 ชนิด ที่จัดอยู่ในเกรดของอาหาร จึงรับประทานได้ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
จากนั้นเคลือบด้วยไคโตซาน ที่สกัดได้จากเปลือกกุ้งเปลือกปู ซึ่งไคโตซานนี้จะเป็นสารที่ยึดเกาะกับวัคซีน โดยจะมีวัคซีนบางส่วนแทรกเข้าไปอยู่ในอนุภาคของยาแกน ทั้งนี้เพื่อให้ยาแกนแต่ละอนุภาคสามารถยึดเกาะกับวัคซีนได้มากที่สุด และค่อยๆ ปลดปล่อยออกมาในลำไส้ในปริมาณที่เหมาะสม
ในการทดลอง นักวิจัยใช้โปรตีนอัลบูมินเป็นตัวแทนของวัคซีน ซึ่งอัลบูมินเป็นโปรตีนในไข่ขาว และถูกนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาวัคซีนอยู่แล้ว เพราะมีขนาด และคุณสมบัติ ใกล้เคียงกับวัคซีนทั่วไป ทั้งยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เช่นเดียวกัน
นักวิจัยทดสอบประสิทธิภาพของระบบนำส่งวัคซีนชนิดรับประทานในหลอดทดลอง โดยจำลองสภาวะให้เหมือนในกระเพาะอาหาร พบว่าวัคซีนสามารถทนต่อกรดในกระเพาะอาหารได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับงานวิจัยของต่างชาติที่เคยมีมาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เหลือปริมาณของวัคซีนที่ผ่านกระเพาะอาหารจนไปถึงลำไส้ได้เพียง 10% เท่านั้น ขณะที่ระบบนำส่งวัคซีนที่พัฒนาขึ้น วัคซีนสามารถผ่านไปจนถึงลำไส้ได้ถึง 30%
ส่วนผลการทดสอบการปลดปล่อยวัคซีนในลำไส้ภายในหลอดทดลอง ภายใน 1 ชั่วโมง วัคซีนจะค่อยๆ ถูกปลดปล่อยออกมาจากอนุภาคของยาแกนและถูกดูดซึมได้เกือบทั้งหมด ดังนั้นเมื่อวัคซีนสามารถคงสภาพอยู่ในกรดในกระเพาะอาหารได้มาก และถูกดูดซึมได้ดีในเวลาที่เหมาะสม ปริมาณวัคซีนที่จะให้กับผู้ป่วยก็น้อยลง จึงไม่เป็นการสิ้นเปลือง
ภก.เชาวลิต กล่าวต่อว่า ขณะนี้กำลังยื่นขอจดสิทธิบัตรวิธีการดังกล่าว และอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อขอศึกษาในสัตว์ทดลองต่อ รวมทั้งพัฒนาระบบนำส่งวัคซีนให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นจนสามารถผลิตวัคซีนชนิดรับประทานขึ้นมาใช้ได้จริง ซึ่งการวิจัยวัคซีนหรือยาแต่ละชนิดต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี จึงจะสามารถนำมาใช้จริงกับคนไข้ได้
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการได้รับวัคซีน เพราะผู้ป่วยบางรายอาจกลัวเข็มฉีดยา กลัวเจ็บ โดยเฉพาะเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 12 ปี ที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหลายชนิด และวัคซีนบางชนิดต้องฉีดหลายเข็ม.