xs
xsm
sm
md
lg

"โค้ก" สังหารสเปิร์มพร้อมงานวิจัยค้าน ร่วมรับ "อิกโนเบล" 2008

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแสดงโอเปร่าเกี่ยวกับ ความซ้ำซ้อน (redundancy) ตามหัวข้อของการจัดงานประจำปีนี้ (ภาพเอพี)
ขำกันได้อีกกับงานวิจัยชวนขบขันเข้าขั้น "อิกโนเบล" ปีนี้ขนขบวนผลงานฮาๆ มาอีกแล้ว ทั้ง "โค้ก" คือยาพิษสังหารสเปิร์ม หรือการกินอร่อยขึ้นถ้าเสียงเคี้ยวฟังเข้าท่า แม้แต่นักฟิสิกส์ที่พบว่าอะไรก็ตามที่ยุ่งเหยิงก็จะยุ่งเหยิง และความพยายามพิสูจน์กว่า "หมัดน้องหมา"กระโดดได้ไกลกว่า "หมัดน้องเหมียว"

เป็นธรรมเนียมว่าก่อนประกาศรางวัลโนเบลในแต่ละปี เราต้องได้ "ฮา" กันก่อนกับงานวิจัยที่ไม่สามารถทำกันได้ง่ายๆ "อิกโนเบล" (IgNobel Prizes) ซึ่งมอบให้โดยคณะกรรมการวิจัยที่ไม่น่าจะลอกเลียนแบบได้ประจำปี (Annals of Improbable Research) เป็นประจำทุกปีมาได้ 18 ปีแล้ว

การมอบรางวัลประจำปี 2551 นี้ จัดพิธีขึ้นในเช้าวันที่ 3 ต.ค.ตามเวลาเมืองไทย ณ โรงละครแซนเดอร์ ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ที่ประจำสำหรับประกาศรางวัลงานวิจัย "แบบฮาๆ" โดยมีนักวิจัยระดับรางวัลโนเบล (ของจริง) เป็นผู้มอบรางวัล ท่ามกลางผู้เข้าร่วมพิธีที่จำกัดแค่ 1,200 คนเท่านั้น และผลงานชวนฮาประจำปีนี้ได้แก่...

@ "โค้ก" เครื่องดื่มสังหาร "สเปิร์ม" ได้ เอ๊ะ!...หรือว่าไม่?
เดบอราห์ แอนเดอร์สัน (Deborah Anderson) จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University Medical Center) สหรัฐฯ และคณะได้รับรางวัลในสาขาเคมี จากการพิสูจน์ว่าโคคา-โคลา (Coca-Cola) หรือโค้ก (Coke) ฆ่าสเปิร์มหรืออสุจิได้

เธอตีพิมพ์งานวิจัยดังกล่าวในวารสารนิวอิงแลนด์เจอร์นัลออฟเมดิซีน (New England Journal of Medicine) เมื่อปี 2528 โดยรายเตอร์บอกว่า เธอจริงจังกับการศึกษาผลของน้ำอัดลมนี้มาก เพราะเห็นว่าผู้หญิงส่วนหนึ่งใช้เครื่องดื่มนี้ไปในการฉีดล้างร่างกายเพื่อคุมกำเนิด และยังใช้เพื่อป้องกันตัวเองจากไวรัสเอดส์

"เห็นชัดเจนว่ามันไม่เวิร์คที่จะใช้เป็นยาคุมกำเนิดเพราะสเปิร์มว่ายได้เร็วมาก แต่โค้กที่มีน้ำตาลผสมอยู่นั้นฆ่าสเปิร์มได้ ซึ่งเป็นเช่นนี้อาจเพราะเจ้าตัวจิ๋วดูดซึมโค้กไว้ และเครื่องดื่มน้ำดำนี้ก็ยังฆ่าไวรัสเอดส์ได้ด้วย" แอนเดอร์สันสรุป

แต่รางวัลนี้ก็ยังมอบให้กับ ชวง-เย ฮง (Chuang-Ye Hong) ซี ซี เซียะ (C.C. Shieh) พี วู (P. Wu) และบี เอ็น เซียง (B.N. Chiang) จากมหาวิทยาลัยการแพทย์ไต้หวัน ที่พิสูจน์ว่าโค้กฆ่าสเปิร์มไม่ได้ ?!?

@ เคี้ยวให้ดัง "มันฝรั่งแผ่น" อร่อยขึ้นทันใด
คณะกรรมการอิกโนเบลมีมติให้รางวัลสาขาโภชนาการตกเป็นของ แมสซิมิเลียโน แซมปินี (Massimiliano Zampini) จากมหาวิทยาลัยเทรนโต (University of Trento) อิตาลี และชาร์ล สเปนซ์ (Charles Spence) จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด (Oxford University) แห่งอังกฤษ ซึ่งให้เคล็ดลับแก่คนกินมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบให้อร่อยว่า ต้องเคี้ยวให้ดัง เพราะช่วยให้คนกินอยู่รู้สึกอร่อยขึ้น และเชื่อว่ามันฝรั่งที่กินอยู่ "สด" และ "กรอบ" กว่าที่เป็นจริง - -"

@ เมื่อใจคาดหวัง-สมองก็สั่งการ
สาขาการแพทย์ตกเป็นของแดน อารีลีย์ (Dan Ariely) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดุค (Duke University) สหรัฐฯ ที่พบว่า ยาหลอกราคาแพงนั้นให้ผลดีกว่ายาหลอกราคาถูก โดยการทดสอบให้อาสาสมัครทดลองใช้ยาหลอกที่อ้างว่าเป็นยาแก้ปวด โดยยากลุ่มหนึ่งหลอกว่าเป็นยาราคาแพง ส่วนยาอีกกลุ่มหลอกว่าเป็นยาราคาถูก แต่ทั้งหมดได้รับการบำบัดด้วยวิธีนวดไฟฟ้า

"เมื่อคุณคาดหวังว่าบางสิ่งจะเกิดขึ้น สมองคุณก็จะทำให้มันเกิด" อารีลีย์กล่าว

นอกจากนี้ยังมีอิกโนเบลสาขาอื่นๆ ซึ่งปีนี้ไม่มีรางวัลสาขาอากาศยานเหมือนปีก่อน แต่มีสาขาโบราณคดี เพิ่มเข้ามา โดยมอบให้กับ เมลโล อารัวโจ (Mello Araujo) ศาสตราจารย์สถาปนิกพร้อมด้วยคณะ จากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล (University of Sao Paulo) บราซิล ซึ่งพบว่าตัวนิ่มสามารถเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุ ในบริเวณที่มีการขุดพบด้านโบราณคดีเป็นระยะทางหลายได้เมตร

สาขาชีววิทยาให้กับงานวิจัยของ 3 นักวิทยาศาสตร์แดนน้ำหอม มารี-คริสไทน์ คาดิเยกูส์ (Marie-Christine Cadiergues) คริสเทล จูเบิร์ต (Christel Joubert) มิเชล แฟรงก์ (Michel Franc) จากมหาวิทยาลัยสัตวแพทย์แห่งฝรั่งเศส (National Veterinary College) ในตูลูส ซึ่งพบว่า หมัดบนตัว "น้องหมา" กระโดดได้ไกลกว่าหมัดบนตัว "น้องแมวเหมียว" โดยเฉลี่ยถึง 20 เซนติเมตร

การค้นพบว่าอะไรที่ยุ่งเหยิงมักจะยุ่งเหยิงของ ดอเรียน เรย์เมอร์ (Dorian Raymer) และ ดักลาส สมิธ (Douglas Smith) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานดิเอโก (University of California at San Diego) สหรัฐฯ ทำให้คณะกรรมอิกโนเบลมอบรางวัลสาขาฟิสิกส์แก่ทั้งสอง

เรย์มอร์และสมิธใช้คณิตศาสตร์พิสูจน์ว่า กองเส้นเชือก เส้นผมหรือสิ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกันนี้ จะยุ่งเหยิงอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ และที่สุดจะพันกันจนกลายเป็นปม โดยมีชื่องานวิจัยที่เก๋ไก๋ว่า "เงื่อนธรรมชาติของเส้นเชือกที่ยุ่งเหยิง" (spontaneous knotting of an agitated string)

ยังมีอิกโนเบลในสาขาปริชานศาสตร์ ตกเป็นของโทชิยูกิ นากากากิ (Toshiyuki Nakagaki) ฮิโรยาซุ ยามาดะ (Hiroyasu Yamada) เรียว โกบายาชิ (Ryo Kobayashi) อาซูชิ เทโร (Atsushi Tero) อากิโอ อิชิกุโร (Akio Ishiguro) และอาโกตะ โทธ (Agota Toth) จากมาหวิทยาลัยฮอกไกโด (Hokkaido University) ญี่ปุ่น ที่ค้นพบว่า ราเมือก (slime mold) สามารถแก้ปัญหาที่ยากลำบากได้

สาขาสันติภาพมอบให้แก่ คณะกรรมการจริยธรรมสหพันธ์สวิสด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ (The Swiss Federal Ethics Committee on Non-Human Biotechnology) และพลเมืองในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งลงมติในหลักการทางกฎหมายว่าพืชก็มีคุณธรรมและศักดิ์ศรี (นะจ้ะ ^^)
ค้นหาคำอธิบายเรื่องนี้ได้ที่ http://www.ekah.admin.ch/en/topics/dignity-of-creation/index.html.

คณะกรรมการอิกโนเบลยังได้มอบรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ให้แก่ เจฟฟรีย์ มิลเลอร์ (Geoffrey Miller) โจชัว ไทเบอร์ (Joshua Tyber) และเบรนท์ จอร์แดน (Brent Jordan) จากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก (University Of New Mexico) นักเต้นจะมีรายได้มากเมื่ออยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และสาขาวรรณกรรมที่มอบให้กับ เดวิด ซิมส์ (David Sims) สำหรับการศึกษาเรื่อง "ไอ้สารเลว : เล่าขานการสำรวจประสบการณ์ความโกรธเกรี้ยวภายในองค์กร" (You Bastard: A Narrative Exploration of the Experience of Indignation within Organizations)

รางวัลอิกโนเบลตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 โดยมาร์ก อับราฮัมส์ (Marc Abrahams) บรรณาธิการนิตยสารทางวิทยาศาสตร์ เขาต้องการมอบรางวัลอิก โนเบลในแต่ละปีให้แก่ผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ “ไม่สามารถหรือไม่น่าจะลอกเลียนแบบได้” ซึ่งเป็นผลงานที่ตั้งใจวิจัยจริงๆ ไม่ใช่แค่ขำๆ ด้วยความตั้งใจว่า เราขำขันกับงานวิจัยแปลกๆ เพี้ยนๆ แล้วเราก็จะได้คิด

อีกทั้งอับราฮัมส์ตั้งรางวัลนี้ขึ้นมา เพื่อฉายแสงให้กับโครงการวิทยาศาสตร์แปลกๆ ประหลาดที่ถูกโยนทิ้งจากกองบรรณาธิการนิตยสารวิทยาศาสตร์ และงานวิจัยแปลกๆ เหล่านี้อาจสูญหายไปในอนาคต
วิลเลียม ลิปส์คอมบ์ (William Lipscomb) และ เบนอยท์ แมนเดลบรอท (Benoit Mandelbrot) เจ้าของรางวัลโนเบล (ของจริง) ดื่ม โค้ก ฉลองให้กับผู้ได้รับอิกโนเบลสาขาเคมีซึ่งค้นพบว่า โค้ก ฆ่าสเปิร์มได้และไม่ได้ (เอ๊ะ ?!?)
โทชิยูกิ นากากากิ และผองเพื่อนผู้ได้รับอิกโนเบลสาขาปริชานศาสตร์ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในเวอร์ชันร้องรำทำเพลง (ภาพเอพี)
แดน เมเยอร์ (Dan Meyer) เจ้าของอิกโนเบลปีก่อน ขึ้นแสดงกลืนดาบโชว์บนเวทีอีกครั้ง (ภาพเอพี)
น้องหมาก็ร่วมโชว์บนเวทีด้วย (ภาพเอพี)
โล่รางวัลอิกโนเบลปีนี้สอดรับหัวข้อความซับซ้อน ด้วยป้ายประกาศเกียรติคุณที่มีข้อความความหมายเดียวกันถึง 3 ป้าย (อิกโนเบล)
กำลังโหลดความคิดเห็น