xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์แคนาดาทำเครื่องดักจับ CO2 ในอากาศ ติดตั้งได้ทุกที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดวิด เคธ กับเครื่องดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ซึ่งเขาและทีมงานพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนทางหนึ่งในการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ (Image courtesy of University of Calgary)
ทีมวิจัยแคนาดา สร้างเครื่องจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ หวังช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน สามารถติดตั้งและใช้ได้ทุกสถานที่ จับก๊าซเรือนกระจกเป้าหมาย ได้มากกว่าที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่นำมาใช้งานกับเครื่องถึง 10 เท่า

เดวิด เคธ (David Keith) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเคมีและปิโตรเลียม จากมหาวิทยาลัยคาลการี (University of Calgary) ประเทศแคนาดา นำทีมนักวิจัยร่วมกันประดิษฐ์เครื่องดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอากาศ ด้วยเทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยาก และสามารถทำให้เป็นจริงในเชิงพาณิชน์ได้

เคธกล่าวว่า ความคิดแรกเขามองว่า การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ ซึ่งมีความเข้มข้นอยู่เพียง 0.04% เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่น่าจะเป็นไปได้ พวกเขาจึงเริ่มจากการสร้างเครื่องดักจับ CO2 ที่มีประสิทธิภาพและราคาสูง  สำหรับใช้กับโรงไฟฟ้า ซึ่งปลดปล่อย CO2 ออกสู่บรรยากาศในระดับความเข้มข้นที่สูงกว่า 10%

ทว่าจากหลักทางเทอร์โมไดนามิกส์ (thermodynamics) การดักจับ CO2 จากอากาศ น่าจะยากกว่าการดักจับ CO2 จากโรงไฟฟ้าเพียงเล็กน้อย พวกเขาจึงพยายามทดลองทำให้เป็นจริงขึ้นมา

อีกทั้ง พวกเขามองว่าเทคโนโลยีนี้ จะเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยลดปริมาณของ CO2 ที่ถูกปล่อยมาจากภาคการขนส่ง และแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในบรรยากาศขณะนี้ได้ โดยจะต้องนำมาใช้ร่วมกันกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจะสามารถแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนให้เบาบางลงได้

เครื่องดักจับ CO2 จากอากาศที่เคธและทีมงานพัฒนาขึ้นนี้ แตกต่างจากเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือซีซีเอส (carbon capture and storage: CCS) ที่รัฐบาลหลายประเทศกำลังให้ความสนใจ ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาภาวะโลกร้อนโดยการกักเก็บ CO2 ที่เกิดจากโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรมเอาไว้ใต้ดิน แทนการปล่อยออกสู่บรรยากาศเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

แต่เคธทำให้เครื่องที่เขาพัฒนาขึ้นสามารถดักจับ CO2 จากอากาศได้โดยตรงในบริเวณที่ติดตั้งเครื่องนี้เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นที่ใดๆ ก็ตาม และจากการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องพบว่า เครื่องนี้สามารถดึงเอา CO2 ออกจากอากาศได้โดยใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 100 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่อ CO2 จำนวน 1 ตัน

"หมายความว่า ถ้าคุณใช้งานเครื่องดักจับ CO2 จากอากาศโดยใช้ไฟฟ้าที่ได้จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไฟฟ้าทุกๆ 1 หน่วยที่ใช้เดินเครื่อง จะทำให้เครื่องนี้ดึง CO2 ออกจากอากาศได้มากกว่า 10 เท่า ของปริมาณ CO2 ที่เกิดขึ้นจากการผลิตกระแสไฟฟ้าในปริมาณที่เรานำมาใช้กับเครื่องนี้" เคธอธิบายให้กระจ่างขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีของเขานี้มีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ด้วย

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้คิดค้นแนวทางที่จะช่วยลดการใช้พลังงานสำหรับเครื่องดักจับคาร์บอนนี้ โดยการประยุต์ใช้กระบวนการทางเคมี ซึ่งเป็นผลจากอุตสาหกรรมไม้และกระดาษ อย่างไรก็ตาม เคธระบุว่าเทคโนโลยีดังกล่าวยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น