xs
xsm
sm
md
lg

ระบบควบคุมจ่ายไฟฝีมือไทย-ไฟดับไม่เกินวินาที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติพงศ์ สังฆรักษ์ กับการจำลองจ่ายไฟฟ้าให้กับที่พักอาศัย โดยใช้ระบบควบคุมระบบจ่ายไฟฟ้าอัตโนมัติที่พัฒนาร่วมกับ กฟน.
เนคเทคจับมือการไฟฟ้านครหลวง พัฒนาระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้า ลดนำเข้าต่างประเทศ ผลิตระบบได้ตรงตามความต้องการ ได้องค์ความรู้และรับประกันไฟดับไม่เกินวินาที

หน่วยปฏิบัติการวิจัยพัฒนาการควบคุมและระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม (ไอซีเอ) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พัฒนาระบบควบคุมระบบจำหน่ายไฟฟ้าอัตโนมัติ (Distribution Automation System: DAS) และอยู่ระหว่างทดสอบระบบที่เขตการไฟฟ้าคลองเตย

นายกิตติพงศ์ สังฆรักษ์ ผู้ช่วยนักวิจัย หน่วยปฏิบัติการไอซีเอ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (เนคเทค) อธิบายกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์วา ระบบดังกล่าวสามารถควบคุมการจ่ายไฟฟ้าจากเซิร์ฟเวอร์ของส่วนกลาง และเมื่อเกิดเหตุขัดข้องจนป็นเหตุให้ไฟดับ ก็ทราบได้ทันทีว่าจุดเกิดเหตุอยู่ตรงไหน จากนั้นก็สามารถระงับการจ่ายไฟฟ้าเฉพาะในส่วนที่เสียหาย และนำไฟฟ้าจากส่วนอื่นจ่ายให้กับบริเวณที่ใกล้เคียง

“ระบบนี้ทำให้เวลาการตัดไฟน้อยลง จากเดิมที่ต้องส่งไปตรวจยังที่เกิดเหตุ ซึ่งใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่ระบบนี้สามารถจ่ายไฟเมื่อเกิดเหตุขัดข้องในเวลาแค่ 2-3 วินาที” นายกิตติพงศ์อธิบาย และกล่าวด้วยว่า ระบบสามารถรายงานจุดเกิดเหตุได้อัตโนมัติ แต่การสั่งระงับจ่ายไฟหรือเลือกแหล่งจ่ายไฟอื่นให้กับบริเวณใกล้เคียง ยังต้องอาศัยการติดสินใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ดี นายกิตติพงศ์ระบุว่า กฟน.มีระบบนี้อยู่แล้ว แต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศด้วยราคาแพง เฉพาะเซิร์ฟเวอร์ก็มีมูลค่าหลายล้าน ขณะที่ต้นทุนการพัฒนาระบบควบคุมระบบการจ่ายไฟฟ้าครั้งนี้คือ 20 ล้านบาท โดยเนคเทคได้เริ่มพัฒนามา 4-5 ปีแล้ว และได้ติดต่อกับ กฟน.ภายหลัง จนได้ร่วมกันวิจัยมา 3 ปี

“ที่เนคเทคทำก็เหมือนของที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่เราได้พัฒนาส่วนที่การไฟฟ้าต้องการเพิ่มเติมด้วย ส่วนบางอย่างที่ไม่ใช้ก็ตัดออก ข้อดีของการพัฒนาเอง คือ ความรู้ที่ได้เป็นของเนคเทคเอง สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้ ลดการนำเข้า ราคาถูกกว่า และรองรับความต้องการจริงๆ และระบบของเรายังเก็บรูปคลื่นกระแสไฟฟ้าที่ส่งไป เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าไฟฟ้าที่ส่งไปนั้นเสถียรแค่ไหน และเวลาขัดข้องเกิดรูปคลื่นแบบใด” นายกิตติพงศ์กล่าว

สำหรับความร่วมมือต่อไป นายกิตติพงศ์ระบุว่า ขึ้นอยู่กับทาง กฟน. โดยคาดว่าจะทำต่อที่เขตยานนาวา แต่ทั้งนี้ความร่วมมือในขั้นต่อไปยังชะลอไว้ก่อน.
อุปกรณ์สำหรับควบคุมการจ่ายไฟและตัวอย่างโปรแกรมแสดงการควบคุมจากส่วนกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น