xs
xsm
sm
md
lg

ชุดป้องกันสะเก็ดระเบิด-ฟาร์มเป๋าฮื้อ คว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรมแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพงศ์สิริ ทองแผ่ และพล.ต.จิระชัย เกียรติประจักษ์ กับ ชุดลดอันตรายจากการเก็บกู้ระเบิดสังหารบุคคล ฝีมือคนไทย
กระทรวงกลาโหมจับมือสองบริษัทเอกชน พัฒนาชุดป้องกันสะเก็ดระเบิดประสิทธิภาพสูง ช่วยทหารไทยชายแดนใต้ จนสามารถคว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคม ปีนี้ไปครองได้สำเร็จ ส่วนฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อครบวงจร หนึ่งเดียวในอาเซียนของภาคเอกชนจากภูเก็ต ได้ชนะเลิศด้านเศรษฐกิจ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) แถลงข่าวการประกาศผล การประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2551 โดยมีนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัตน์ ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ และ ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัด วท. เป็นประธานในพิธี และมีผู้สื่อข่าวจากหลายแห่งให้ความสนใจมาร่วมงานมากมาย

ดร.ศุภชัย หล่อโลหะการ ผอ.สนช. กล่าวว่า การประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 แล้ว เพื่อเป็นการกระตุ้นคนไทยให้เกิดความตื่นตัวและความใฝ่รู้ต้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทั้งยังเป็นการประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลความสำเร็จด้านนวัตกรรมภายในประเทศให้แก่ผู้ที่คิดค้นและผลักดันนวัตกรรมจนบรรลุผล ซึ่งทำให้นวัตกรรมเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ส่วนเกณฑ์การตัดสินรางวัล คณะกรรมการจะพิจารณาจากระดับความใหม่ของเทคโนโลยีหรือผลงาน กระบวนบริหารจัดการ และผลประโยชน์ที่ได้รับจากนวัตกรรมนั้น โดยในปีนี้มีผู้สนใจทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 407 ผลงาน แบ่งเป็นด้านเศรษฐกิจ จำนวน 321 ผลงาน และด้านสังคม จำนวน 86 ผลงาน

ผลการตัดสินรางวัลปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศ ด้านสังคม ได้แก่ "ชุดลดอันตรายจากการเก็บกู้ระเบิดสังหารบุคคล" ของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (สวท.กห.) ที่ร่วมกับ บริษัท ยูไนเต็ด อาร์เมอร์ จำกัด และ บริษัท คอบร้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ขลุบหมุนติดพ่วงท้ายรถไถเดินตาม ของนายยุทธนา เครือหาญชาญพงค์ วิศวกรการเกษตรจากสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ สื่อการสอนเทคโนโลยีมิกซ์เรียลลิตี้ ผลงานของบริษัท ลานเกียร์เทคโนโลยี จำกัด

รางวัลชนะเลิศ ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ระบบการเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อครบวงจร ของบริษัท ภูเก็ตเป๋าฮื้อฟาร์ม จำกัด, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ระบบสร้างพลังงานความร้อนร่วมจากระบบก๊าซชีวภาพ โดยบริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด,

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทัชซิม-ซิมมือถือและระบบอาร์เอฟไอดี (RFID) สำหรับบริการอีคอมเมิร์ซ ผลงานของบริษัท ทรู มันนี่ จำกัด และรางวัลชมเชย ได้แก่ การผลิตดีเอชเอ (DHA) สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในการเพาะเลี้ยงกุ้ง โดยบริษัท เมษา คอร์ปอเรชั่น จำกัด

พล.ต.จิระชัย เกียรติประจักษ์ นักวิชาการพิเศษของ สวท.กห. และ นายพงศ์สิริ ทองแผ่ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูไนเต็ด อาร์เมอร์ จำกัด เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ชุดลดอันตรายจากการเก็บกู้ระเบิดสังหารบุคคล ผลิตขึ้นจากแผ่นทวารอน (TWARON) และเส้นใยสังเคราะห์ชนิดโพลิเอทิลีนที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูงเป็นพิเศษ (Ultra High Molecular Weight Poly Ethylene: UHMWPE) ซึ่งเส้นไยดังกล่าวเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นและสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ

"เดิมทีประเทศไทยนำเข้าชุดป้องกันสะเก็ดระเบิดจากสหรัฐฯ ซึ่งมีราคาสูงมาก ชุดละประมาณ 2 ล้านบาท และหนักประมาณ 30 กิโลกรัม ทั้งยังมีขนาดไม่เหมาะสมกับสรีระคนไทย แต่เราสามารถผลิตชุดลดอันตรายจากสะเก็ดระเบิดที่มีประสิทธิภาพเพื่อใช้งานภายในประเทศได้ในราคาเพียง 80,000 - 100,000 บาท ซึ่งช่วยให้ประหยัดงบประมาณจากการนำเข้าได้เป็นอย่างมาก และมีน้ำหนักเพียง 12 กิโลกกรัม เท่านั้น" พล.ต.จิระชัย กล่าว

จากการทดสอบประสิทธิภาพในขั้นแรกด้วยการรองรับกระสุนปืนขนาด .22 มม. ในระยะ 5 เมตร และมีความเร็วต้น 325 เมตรต่อวินาที พบว่าสามารถป้องกันกระสุนปืนดังกล่าวไม่ให้ทะลุผ่านไปได้ จึงทำให้แน่ใจได้ว่าจะสามารถป้องกันสะเก็ดระเบิดได้ เนื่องจากสะเก็ดระเบิดมีความเร็วน้อยกว่ากระสุนปืนอยู่แล้ว

เมื่อนำไปทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันสะเก็ดระเบิด โดยใช้ระเบิดแสงเครื่องชนิดเคโม ทดสอบในระยะ 3 เมตร ผลปรากฏว่า สะเก็ดระเบิดพุ่งเข้าใส่ชุดป้องกันสะเก็ดอย่างเต็มที่ แต่ไม่พบว่ามีสะเก็ดระเบิดทะลุผ่านชุดเข้าไปได้

ทั้งนี้ ชุดป้องกันสะเก็ดระเบิดดังกล่าว ได้ส่งมอบให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จำนวน 15 ชุด เพื่อนำไปใช้จริง ในการเก็บกู้วัตถุระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทีมวิจัยก็มีโครงการผลิตเพิ่มให้เพียงพอต่อความต้องการ และพัฒนาต่อยอดให้มีน้ำหนักเบาขึ้น พร้อมทั้งให้มีอุปกรณ์วิทยุสื่อสารติดตั้งตรงส่วนที่เป็นหมวกเพื่อการติดต่อกับศูนย์ควบคุมได้อย่างสะดวก

ด้าน น.สพ.สิทธิศักดิ์ เหมืองสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภูเก็ตเป๋าฮื้อฟาร์ม จำกัด เปิดเผยว่า ทางฟาร์มได้จัดทำระบบการเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ ด้วยวิธีการควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมโรค และใช้ระบบหมุนเวียนน้ำ เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ โดยเปลี่ยนของเสีย ที่อยู่ในรูปสารประกอบไนโตรเจนต่างๆ ในน้ำ ให้กลายเป็นก๊าซไนโตรเจนออกสู่บรรยากาศ แล้วนำน้ำนั้นไหลเวียนกลับเข้าสู่ฟาร์มเพาะเลี้ยง ซึ่งเป็นระบบหมุนเวียนน้ำแบบปิดครบวงจรรายเดียวในอาเซียน และมีการแปรรูปหอยเป๋าฮื้อ โดยการบรรจุในถุงรีทอร์ทเพาช์ (Retort Pouch) ทำให้สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 2 ปี ที่อุณหภูมิห้อง

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิจัยและแปรรูปหอยเป๋าฮื้อ เพื่อนำมาผลิตเครื่องสำอางบำรุงผิว ซึ่ง น.สพ.สิทธิศักดิ์ เผยว่า เนื้อหอยเป๋าฮื้อมีไกลโคอะมิโนไกลแคน หรือจีเอจี (Glycoaminoglycan: GAG) เป็นองค์ประกอบอยู่มาก ซึ่งสารชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวพรรณ ทำให้ผิวพรรณเต่งตึงได้ จึงได้สกัดสารดังกล่าวออกมา เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวภาย และที่สำคัญสารจีเอจียังเป็นองค์ประกอบสำคัญในน้ำหล่อเลี้ยงข้อ จึงสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ ซึ่งขณะนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย

ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2551 จะมีขึ้นในวันนวัตกรรมแห่งชาติ วันที่ 5 ต.ค.51 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละสาขา จะได้รับพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" พร้อมเงินรางวัลจำนวน 200,000 บาท และโอกาสไปศึกษาดูงานด้านนวัตกรรมที่ประเทศเยอรมนี.
(จากซ้าย) ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ, ดร.สุจินดา โชติพานิช และนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัตน์
ชุดลดอันตรายจากการเก็บกู้ระเบิดสังหารบุคคล นวัตกรรมของคนไทยช่วยคนไทย
น.สพ.สิทธิศักดิ์ เหมืองสิน กับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหอยเป๋าฮื้อที่ผลิตจากฟาร์มเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อแบบครบวงจร
ขลุบหมุนติดพ่วงท้ายรถไถเดินตาม (ภาพจาก สนช.)
สื่อการสอนเทคโนโลยีมิกซ์เรียลลิตี้
ระบบสร้างพลังงานความร้อนร่วมจาก นำมาใช้เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ลูกหมูเกิดใหม่ในฟาร์มเลี้ยงหมูทดแทนระบบเดิมที่ใช้ไฟฟ้า (ภาพจาก สนช.)
นายฐานพล มานะวุฒิเวช บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด นวัตกรเจ้าของผลงาน ทัชซิม-ซิมมือถือและระบบอาร์เอฟไอดี (RFID) สำหรับบริการอีคอมเมิร์ซ (ภาพจาก สนช.)
นายชัชวาลย์ จรัสวศินกุล กับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร DHA สำหรับการเลี้ยงกุ้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น