xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด ก.วิทย์เชื่อ "นิวเคลียร์" มาแน่แก้วิกฤตพลังงาน-โลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตรร์ฯ ในพิธีเปิดประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์ (ภาพจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ)
ปิดประชุม "สมัชชาวิทย์" ปลัดกระทรวงวิทย์แจงแนวทางแก้โลกร้อน 4 ภูมิภาค เหนือ ใต้ กลาง อีสาน ชี้การใช้พลังงานเป็นปัญหาหลักของภาคกลาง เชื่ออนาคต "นิวเคลียร์" เป็นทางแก้ เพราะสะอาดและยั่งยืน

การประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา ครั้งที่ 7 ภายใต้หัวข้อ "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับภาวะโลกร้อน" ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 17 ก.ย.51 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ได้ปิดฉากลง

ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประธานการประชุม ได้กล่าวสรุปผลการประชุมกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้จัดการประชุมระดับภูมิภาค 3 ครั้ง ได้แก่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 25 ก.ค.51 จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.51 และ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 29 ส.ค.51

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ระบุว่า ในภาวะโลกร้อนภาคใต้มีปัญหาในเรื่องชายฝั่งและป่าชายเลน แต่มีโอกาสในการปลูกปาล์ม ซึ่งนำมาผลิตพลังงานชีวภาพได้ เนื่องจากเป็นพืชพลังงาน และวิทยาศาสตร์จะช่วยเหลือตรงนี้ได้ด้วยการพัฒนาพันธุ์ปาล์มให้ไดเผลผลิตสูง

สำหรับภาคเหนือ เป็นการประชุมในเรื่องการใช้ประโยชน์ป่าเศรษฐกิจ ที่ต้องส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ แต่ป่าประเภทนี้จะต้องปลูกแล้วตัด เป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ ซึ่งต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาพันธุ์ให้ได้ผลผลิตมาก ส่วนอีสานมีความแห้งแล้ง ก็ต้องช่วยพัฒนาพืชที่ทนสภาพแห้งแล้ง น้ำท่วมและดินเค็ม

ขณะที่ภาคกลางนั้น มีปัญหาเรื่องภาคพลังงานเป็นหลัก รวมถึงการใช้พลังงานสิ้นเปลืองในภาคขนส่งและอาคาร ซึ่งจากการประชุมครั้งล่าสุดนี้มีประเด็นในเรื่องคาร์บอนเครดิต ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ลดการปล่อยคาร์บอนได้จริง

แนวทางต่างๆ จากการประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์ทั้ง 4 ครั้งนี้ ดร.สุจินดา กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์จะนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้คณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบ เพื่อนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการประสานการดำเนินงานต่อไป

อย่างไรก็ดีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ให้ความเห็นส่วนตัวว่า ในส่วนของการแก้ปัญหาภาคพลังงานซึ่งนอกจากการหาพลังงานทดแทนแล้ว อนาคตพลังงานนิวเคลียร์ต้องมา เพราะเป็นพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน.
ดร.สุจินดา โชติพานิช (ภาพจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ)
กำลังโหลดความคิดเห็น