ยลโฉมรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนคันแรกของไทย ในงาน Thailand Research Expo 2008 นักวิจัยเผยเตรียมต่อยอดผลิตใช้จริงเชิงพาณิชย์ให้ทัน ก่อนต่างชาติส่งเข้ามาขายในไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แถมราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว พร้อมเดินหน้าวิจัยปั๊มไฮโดรเจนต้นแบบ ไว้รองรับ ใช้แสงอาทิตย์แยกน้ำให้ได้ไฮโดรเจน พลังงานที่ใช้สะอาด ไม่ก่อมลภาวะ
รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนคันแรกของประเทศไทยที่จัดแสดงอยู่ในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2551 (Thailand Research Expo 2008) ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในภาวะวิกฤติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน
นาวาอากาศเอกเจษฎา คีรีรัฐนิคม หนึ่งในทีมงานผู้วิจัยและพัฒนารถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ภายใต้บริษัท คลีนฟูเอล เอนเนอร์ยี เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด อธิบายกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า รถยนต์ไฮโดรเจนคันดังกล่าวขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ได้จากเซลล์เชื้อเพลิงชนิดเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน (PEMFC) โดยอาศัยไฮโดรเจนเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า
"เมื่อก๊าซไฮโดรเจนและอากาศ ผ่านเข้าไปในเซลล์เชื้อเพลิงที่ทำด้วยแกรไฟต์และมีทองคำขาวเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ไฮโดรเจนจะแตกตัวให้อิเล็กตรอนและทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าส่งไปยังมอเตอร์เพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ เมื่ออิเล็กตรอนไหลวนครบวงจรจะกลับมารวมกลับไฮโดรเจนประจุบวกและออกซิเจนที่อยู่ในอากาศ ก็จะกลายเป็นไอน้ำกลับคืนสู่บรรยากาศ จึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษ อีกทั้งยังไม่มีเสียงที่ดังของเครื่องยนต์เหมือนรถยนต์ทั่วไปด้วย" นาวาอากาศเอกเจษฎา อธิบายหลักการ
เซลล์เชื้อเพลิงที่ติดตั้งในรถยนต์ต้นแบบนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 8-10 กิโลวัตต์ ซึ่งจะถูกนำไปใช้กับมอเตอร์รถยนต์ราว 5 กิโลวัตต์ ส่วนที่เหลือสามารถนำมาใช้กับเครื่องเสียงหรือเครื่องปรับอากาศภายในรถได้ และรถสามารถแล่นได้ด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 90-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สำหรับถังบรรจุก๊าซไฮโดรเจนสำหรับป้อนเข้าสู่เซลล์เชื้อเพลิง สามารถใช้ถังไฮโดรเจนได้ 2 รูปแบบ คือ แบบอัดความดันขนาด 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ซึ่งจะมีขนาดถังใกล้เคียงกับถังก๊าซแอลพีจีหรือเอ็นจีวีที่ใช้ในรถยนต์ทั่วไป ส่วนถังไฮโดรเจนอีกรูปแบบหนึ่งมีขนาดเล็กกว่า ภายในมีผงโลหะเมทัลไฮไดรด์บรรจุอยู่ และกักเก็บไฮโดรเจนโดยให้เข้าไปแทรกอยู่ในโลหะ จึงไม่ต้องใช้ความดันสูงมาก และใช้พื้นที่น้อยกว่าถังแบบแรกในการเก็บไฮโดรเจนที่มีปริมาณเท่ากัน
ถังไฮโดรเจนที่ใช้กับรถต้นแบบเป็นอย่างหลัง บรรจุไฮโดรเจนได้ประมาณ 900 ลิตร วิ่งได้ระยะทาง 30-40 กิโลเมตร กินเวลาประมาณ 20 นาที ถ้าจะให้แล่นได้ไกลและนานกว่านั้นก็สามารถติดตั้งถังไฮโดรเจนเพิ่มได้อีก แต่เนื่องจากว่ารถต้นแบบมีน้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม แต่หากเป็นรถยนต์นั่งทั่วไปจะมีน้ำหนักราว 800 กิโลกกรัม ดังนั้นจึงสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่า โดยหากจะแล่นให้ได้สัก 100 กิโลเมตร อาจต้องติดตั้งถังไฮโดรเจนขนาดเดียวกันประมาณ 10 ถัง
ส่วนในเรื่องความปลอดภัยนั้นนาวาอากาศเอกเจษฎาบอกว่า ก๊าซไฮโดรเจนติดไฟได้เหมือนเชื้อเพลิงทั่วไป แต่โมเลกุลของไฮโดรเจนมีขนาดเล็กและเบากว่าก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี ดังนั้นหากเกิดการรั่วซึม ก๊าซไฮโดรเจนก็จะลอยสู่อากาศได้รวดเร็วกว่า โอกาสที่จะเกิดอันตรายหรือเกิดระเบิดก็น้อยลง และหากเป็นถังไฮโดรเจนที่เก็บไฮโดรเจนโดยแทรกอยู่ในผงโลหะ ซึ่งใช้ความดันต่ำ โอกาสระเบิดจึงน้อยกว่าด้วย
นาวาอากาศเอกเจษฎา บอกว่า จุดเด่นของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนนี้คือขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ไม่เพิ่มมลพิษให้สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญชิ้นส่วนอุปกรณ์ทุกอย่างก็สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ขณะนี้ทางสภาวิจัยแห่งชาติจึงเร่งผลักดันรถยนต์ไฮโดรเจนให้สามารถผลิตใช้จริงเชิงพาณิชย์ได้ คาดว่าอีกประมาณ 5-10 ปี ก็จะเริ่มมีรถยนต์ไฮโดรเจนจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว
"ดังนั้นเราจึงต้องเร่งพัฒนาของเราให้ทันต่างชาติ โดยอาจจะร่วมมือกับเอกชนรายอื่นให้รับหน้าที่ผลิตตัวถังรถ ส่วนเราก็จะผลิตและติดตั้งชุดอุปกรณ์เซลล์เชื้อเพลิง และหากมีรถยนต์ไฮโดรเจนเข้ามาจำหน่ายในไทยจริง ก็จะต้องมีปั๊มไฮโดรเจนเกิดขึ้นด้วย ซึ่งในปี 2552 ทางเราก็จะเริ่มศึกษาวิจัยปั๊มไฮโดรเจนต้นแบบด้วย โดยการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จึงจะเรียกว่าเป็นพลังงานสะอาดและยั่งยืนอย่างแท้จริง" นาวาอากาศเอกเจษฎา แจงรายละเอียด
สำหรับโครงการวิจัยต่อยอดนี้ก็ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เหมือนเช่นที่ผ่านมา โดยสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาในโครงการนี้หลักๆ คือ พัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ และคอมเพรสเซอร์สำหรับเพิ่มความดันให้ก๊าซไฮโดรเจนเพื่อการกักเก็บไว้ด้วยความดันสูง และหากประเทศไทยสามารถผลิตรถยนต์ไฮโดรเจนออกมาขายให้คนไทยได้ใช้จริงก็น่าจะสนนราคาคันละประมาณ 10 ล้าน หรือถูกลงมากว่านั้นราวครึ่งหนึ่ง ขณะที่รถยนต์ไฮโดรเจนของต่างชาติตกราคาคันละไม่ต่ำกว่า 30 ล้าน.