ฉับพลันที่นักกีฬาไทยคว้าชัยในการแข่งขันโอลิมปิก ไม่ว่าจะเป็นเหรียญรางวัลใด ที่เหล่าฮีโร่คว้ากลับมาฝากคนไทย ชีวิตเขาเหล่านั้นก็เปลี่ยนไป จากความเป็นอยู่เดิมโดยสิ้นเชิง ชวนให้เราอดตั้งคำถาม ถึงเยาวชนไทยที่เคยไปคว้าเหรียญโอลิมปิก ฝั่งวิชาการบางไม่ได้ว่า ชีวิตเขาเหล่านั้นต่างไปจากเดิมบ้างหรือไม่?
โอกาสดีที่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้พบกับอดีตผู้แทนโอลิมปิกวิชาการ ภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ที่จัดขึ้นโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ระหว่างวันที่ 18-24 ส.ค.51 ที่ผ่านมา คือ อำนวย พลสุขเจริญ และ รณชัย เจริญศรี 2 ผู้แทนโอลิมปิกวิชาการสาขาฟิสิกส์ ซึ่งมาช่วยเป็นวิทยากรกิจกรรมการทดลองแวนเดอรแกรฟ (Van de Graaf Generator) โดย อำนวยเป็นผู้แทนในปี 2549 และได้รับเหรียญเงินในการแข่งขัน ส่วนรณชัยเป็นผู้แทนในปี 2548 และ 2549 ได้รับเหรียญเงินและทอง ตามลำดับ
ปัจจุบันทั้งสองกำลังศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) สำหรับผู้แทนโอลิมปิก ซึ่งนักเรียนทุนทุกคนต้องเรียนซ้ำ ม.6 ของประเทศนั้นๆ ก่อน เพื่อปรับตัวด้านวัฒนธรรมและภาษา และเตรียมตัวสำหรับการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่แต่ละคนเลือก โดยอำนวยกำลังจะศึกษาฟิสิกส์ในชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) ในอิลลินอยส์ ส่วนรณชัยกำลังจะศึกษาฟิสิกส์ในชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ในแคลิฟอร์เนีย
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - ใช้เวลาปรับตัวในการใช้ชีวิตที่สหรัฐฯ นานแค่ไหน?
อำนวย - ในเรื่องสภาพแวดล้อม ที่โน่น สภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวนกว่าบ้าน
เรามาก บ้านเราร้อนชื้น ก็อยู่สบายหน่อย ร้อน แต่เราก็เคยชิน ส่วนที่โน่น หนาว หิมะตก อย่างก็ดีผมรู้สึกว่าที่โน่นเขาค่อนข้างจัดการสิ่งแวดล้อมดี สภาพภายนอกแย่ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับคนของที่โน่น คงเป็นแค่สภาพอากาศที่แปรปรวน เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวก็หนาว แต่ถ้าพูดถึงคน ก็มีลักษณะต่างออกไปเมื่อเทียบกับคนเอเชียหรือคนไทย คือเขาเป็นตัวของตัวเองสูง ทำให้เขาไม่ค่อยแคร์กลุ่ม ในแง่หนึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้เขาพบเจอสิ่งใหม่ๆ และค่อนข้างมั่นใจในตัวเอง กล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ อีกส่วนหนึ่งก็ไม่เหมือนคนไทย ตรงที่คนไทยค่อนข้างจะเห็นใจคนอื่นมากกว่า อาจจะเหนียมๆ หน่อย ซึ่งผมก็ใช้เวลาปรับนาน ช่วง 3 เดือนแรก ค่อนข้างแย่ ทรมาน เคยร้องไห้ มันมีความรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังทุกข์ใจ แต่เราก็รู้ว่ามันต้องผ่านไปได้ เพราะคนที่เขาไปเรียนเกือบร้อยทั้งร้อยก็ผ่านไปได้ ไม่มีใครไม่จบเพราะทนเหงาไม่ได้ จะเป็นปัญหาเรื่องอื่นมากกว่า
รณชัย - ก็เหมือนกัน เป็นสิ่งที่เราจะต้องปรับตัวไปให้ได้ ลักษณะการเรียนที่โน่นจะไม่เหมือนที่นี่ สมัยอยู่สวนกุหลาบก็เรียนเรื่อยๆ ไม่ได้พยายามบีบตัวเองอะไรมากมาย อ่านหนังสือ 3 วันก่อนสอบก็พอจะได้เกรดโอเค ไม่ขี้เหร่มาก แต่อยู่โน่นผมอ่านหนังสือทุกคืน ทำการบ้านวันละ 3 ชั่วโมง อ่านเยอะมาก ก่อนสอบอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ 300 หน้าภายในวันเดียว แต่ก็ยังไม่ได้เกรดที่ดีเหมือนตอนอยู่เมืองไทย ก็คือมีความกดดันเรื่องการเรียนด้วย และเรื่องเพื่อนด้วย เพราะเขาไม่ค่อยแคร์กลุ่ม แต่ผมค่อนข้างจะติดเพื่อน ทำให้มีปัญหา
อำนวย - ก็มีแปลกๆ เยอะ คนอเมริกันค่อนข้างแปลกกว่าคนไทย
รณชัย - ใช่ เพราะเขาเป็นตัวของตัวเอง กล้าที่จะทำอะไร
อำนวย - มีความหลากหลายกว่าด้วย ถ้าพูดถึงคนไทย มีเชื้อสายจีน อินเดีย มอญ ลาว เขมร ซึ่งเป็นคนที่อยู่ใกล้ๆ กัน ความแตกต่างก็อาจจะไม่มีมาก แต่คนอเมริกันมาจากไหน จะบอกแค่ยุโรปก็ไม่ใช่ มีทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส คนดำ เอเชียอพยพ เหมือนโลกทั้งโลก คนทั้งโลกมาอยู่ที่อเมริกา
รณชัย - คนแต่ละกลุ่มก็เหมือนคนต่างชาติ มีการดูถูกเหยียดหยามกันเอง เมื่อ 40 ปีก่อน ปัญหาเหยียดเชื้อชาติรุนแรงมาก ประท้วงกันหนักมาก ทุกวันนี้เป็นแบบเงียบ เปิดเผยออกมาไม่ได้ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่คนก็ยังมีความรู้สึกว่า เฮ้ย พวกคนดำ
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - แล้วเจอปัญหานี้กันบ้างหรือเปล่า?
รณชัย - เมืองที่ผมไป คนเอเชียค่อนข้างเยอะ และนักเรียนทุนรัฐบาลก็เหมือนเป็นท็อปของประเทศ เมื่อไปอยู่โรงเรียนระดับกลางๆ ที่โน่น เราก็ลอยเด่นขึ้นมา เขาก็ค่อนข้างยอมรับความสามารถของเรา ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องนี้
อำนวย - เรื่องเหยียดผิว คนขาวจะไม่ค่อยเหยียดคนเอเชียเท่าไหร่ ฝรั่งจะมีความคิดว่าคนเอเชียเก่งคณิตศาสตร์ อันนี้ค่อนข้างตายตัว เขามีภาพคนเอเชียอยู่ในหัวแล้ว เขาจะไม่ค่อยดูถูก แต่ถ้าเกิดเป็นคนดำ ภาพที่เขาเห็นมีมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้วว่า คนดำเคยอยู่ภายใต้อำนาจของเขา ภาพนั้นก็ติดมาตลอด เป็นชนชาติที่ต่ำกว่าก็เลยถูกกดลงไป
รณชัย - ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ด้วย อย่างผมจะไปอยู่ทางฝั่งตะวันตก ซึ่งได้ยินมาว่าค่อนข้างจะกลมกลืนกัน แต่ถ้าทางตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเขตของยุคที่ตั้งมาแต่เดิม เขาจะมีความคิดค่อนข้างเป็นฝรั่งจ๋า กดคนดำ ทางใต้ยิ่งค่อนข้างหนัก เพราะเป็นถิ่นที่มีการกดขี่คนดำเยอะมาก
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - ด้านการเรียน หนักไหม?
รณชัย - จำนวนวิชาน้อยกว่าแต่การบ้านเยอะกว่ามาก
อำนวย - เขาพยายามให้นักเรียนได้อะไรหลายๆ อย่าง เช่น เราอยากเป็นวิศวกร สิ่งที่เราเรียนไม่ใช่แค่ฟิสิกส์ เคมี เลข แต่เราต้องเป็นวิศวกรที่วาดรูปได้ เล่นดนตรีเป็น ทำกิจกรรมด้วย ในคนๆ หนึ่งต้องทำได้หลายอย่าง จนกว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนอาชีพ แต่บางมหาวิทยาลัย กว่าจะรู้ว่าได้เรียนเอกอะไร ต้องรอถึงปี 4 คือต้องเรียนหลายอย่าง รู้หลายอย่าง อย่างวิชาศิลปะที่ผมเรียน คือในไฮสคูลอาจจะน้อย แต่ในมหาวิทยาลัยได้เรียนแล้วรู้สึกเหมือนได้เรียนจริงๆ วาดรูปไม่ใช่แค่เอาสีมาระบาย ลากเส้นตรง ลากเส้นโค้ง เขาเรียนจนถึงขั้นว่า ทำยังไงคุณถึงจะดูภาพศิลปะเป็น กีฬาก็เล่น มีชุมนุม ซึ่งเขาทำชุมนุมค่อนข้างจริงจัง ทำแล้วใช้ได้ เขาพยายามเสนอให้เราได้ทุกอย่าง แต่เราจะได้ทุกอย่างหรือเปล่า อีกเรื่องหนึ่ง อย่างที่รณชัยบอก งานหนัก และคนไทยที่ไปเรียนก็อยากจะเรียนให้ดี
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - แล้วเพื่อนๆ เขาตั้งใจเรียนกันหรือเปล่า?
อำนวย - มีหลายแบบ ถึงระบบเขาดีและทำให้คนอยากเรียนก็จริง แต่ก็มีคนหลายประเภท คนเก่งก็มี คนปานกลางก็มี คนที่เอาแต่เล่นอเมริกันฟุตบอลก็มี เพราะบางคนเขาก็ได้โควตานักกีฬาเหมือนอย่างที่ไทยมี คือระบบเขาพยายามตอบทุกอย่างที่คุณอยากเรียน ตอบทุกอย่างที่คุณอยากจะรู้ การที่คุณจะจบการศึกษา คุณควรจะมีอะไรบ้าง เขาก็พยายามทำให้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยผม ปรัชญาคือต้องเป็นคนโดยสมบูรณ์ คุณไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสิ่งใดสิ่งเดียว คุณต้องรู้อะไรเยอะมาก ถ้าคุณเป็นนักฟิสิกส์ที่ไม่รู้การเมือง ไม่รู้ว่าสังคมเขาเป็นยังไง ไม่รู้คนว่าอยู่ร่วมกันได้ยังไง คงไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งกว่าจะได้เน้นฟิสิกส์ก็ปี 3-4
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ ได้ประสบการณ์อะไรบ้าง?
รณชัย - เด็กๆ มากันเยอะ น้องบางกลุ่มก็ให้ความร่วมมือดี ยกมือๆ อยากเล่น แต่บางกลุ่มก็ไม่ยอมยกมือเลย เราก็ต้องบอกให้ออกมา
อำนวย - ก็เข้าใจเลยว่า ครูที่โรงเรียนเหนื่อยแค่ไหน ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเด็กไม่ได้มีความสนใจทุกคน เด็กหลายคนก็โดนบังคับมา ตอนเด็กๆ เราก็เป็น พอผมมองก็เห็นตัวเองอยู่ในนั้น ตอนเด็กๆ ผมก็เงียบ ตอนเด็กๆ บางครั้งผมก็รู้ ถามมาไฟฟ้าสถิตเกิดจากอะไร ผมรู้ แต่ผมไม่ตอบ เด็กมีหลายประเภท ถ้าเราเอาตัวเองไปแทนเขา ถ้าเกิดเราเป็นเขา บางทีเราก็ไม่สนใจ หรือถ้าเราเป็นเขาแล้วจะทำยังไง เช่น เราไม่ชอบออกไปยื่นหน้าห้อง หรือไม่ชอบยกมือ หรือต้องมีคนออกไปยื่นหน้าห้องเป็นเพื่อน เราก็อาจจะแก้ปัญหาด้วยวิธี ให้เพื่อนเลือกตัวแทน หรือให้เพื่อนออกไปเป็นเพื่อน เราเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เรียนรู้ไปกับเด็กด้วย ก็เหนื่อย แต่ก็สนุก การที่เราทำให้คนที่ไม่สนใจมาสนใจได้ ถือว่าเราก็ทำสำเร็จแล้ว
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - ที่สหรัฐฯ มีกิจกรรมคล้ายสัปดาห์วิทยาศาสตร์หรือนิทรรศการวิทยาศาสตรหรือเปล่า?
รณชัย - อยู่มาเป็นปี ไม่เคยเห็นนะครับ แต่เขามีพิพิธภัณฑ์หลายพิพิธภัณฑ์อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน เรียกว่า "สมิทโซเนียน" (smithsonian) อยู่ในวอชิงตัน มีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มีนก มีสัตว์ มีพิพิธภัณฑ์พืช มีพวกต้นไม้ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อเมริกา พิพิธภัณฑ์อินเดียนแดง พิพิธภัณฑ์เครื่องบิน อุปกรณ์ยังชีพของนักบิน ซึ่งอุปกรณ์ของเขาอยู่ในสภาพดี สามารถใช้งานได้ มีหลายอย่างให้เล่น บางอย่างที่ไม่เคยเห็นในชีวิตประจำวัน และเข้าชมฟรี เปิดทุกวัน และเขาก็มีเบื้องหลัง มีการวิจัย อย่างพิพิธภัณฑ์แมลง ก็มีคนไทยทำงานอยู่ เก็บตัวอย่างแมลง ได้เข้าไปดูตอนที่เจ้าหน้าที่สถานทูตพาไป
อำนวย - ที่ชิคาโก มีทั้งสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ใต้น้ำ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ก็อยู่ข้างโรงเรียนผมด้วย เราก็มีนิทรรศการศิลปะ มีเยอะมาก ไม่แน่ใจว่าเพราะเป็นเมืองใหญ่หรือเปล่า ที่ดีซีก็มี ที่ชิคาโกก็มี เห็นแล้วรู้ว่า คนทำตั้งใจทำ ส่วนคนดูก็ตั้งใจดู เวลาเขาไปดู คิดว่าเขาเห็นคุณค่า สมิทโซเนียนในดีซีก็เหมือนวัดพระแก้วที่ทุกคนต้องไป คนแน่น ในชิคาโกอาจไม่เยอะขนาดนั้น แต่ก็มีคนไป พอเขาเปลี่ยนนิทรรศการครั้งหนึ่งก็มีคนไปดู
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - สำหรับนักกีฬาโอลิมปิก วันนี้ได้เหรียญทอง พรุ่งนี้เป็นเศรษฐี แล้วเมื่อผู้แทนโอลิมปิกวิชาการได้เหรียญกลับมาแล้ว ชีวิตเป็นยังไงบ้าง?
รณชัย - มันไม่เปลี่ยนเยอะขนาดนั้น ก็มีบ้างนิดหน่อย เพื่อนอาจจะเรียก "ไอ้เหรียญทอง" แต่ความคิดของผมคือได้เหรียญทองก็เป็นนักเรียนคนหนึ่ง ชีวิตไม่ได้เปลี่ยนอย่างฉับพลัน แต่สิ่งที่ได้จากค่ายคือ เราได้วิธีคิด เราได้วิทยาศาสตร์ เราได้ประสบการณ์ เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมเราในอนาคตมากกว่า อย่างผมอยู่ที่โรงเรียนทั้งที่ในเมืองไทยและที่ต่างประเทศ ผมก็ไม่เคยอ่านหนังสือฟิสิกส์เลย อ่านคณิตศาสตร์บ้างนิดหน่อย ก็ผ่านได้สบายๆ เพราะเราเรียนในค่ายมาหนักมาก
อำนวย - มันไม่ค่อยเปลี่ยน เพราะถ้าจะให้เปรียบเทียบกับโอลิมปิกที่เป็นกีฬา ผมว่าชื่อเสียงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นภาพที่ติดอยู่นาน อาจเพราะเร้าใจกว่า สื่อถ่ายทอด เวลาเขาแข่งกีฬาโอลิมปิก เราเห็นว่าเขาทำอะไร แต่โอลิมปิกวิชาการ เราไม่เห็นว่าเขาทำอะไร เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก ฉะนั้น ชื่อเสียงทำอะไรให้เราบ้าง ผมว่าค่อนข้างน้อย ก็อาจจะมีออกข่าว แต่ก็จบไป มันไม่ได้เปลี่ยนชีวิตเราเท่าไหร่เลย อาจจะทำให้เราภูมิใจ ทำให้คนรอบข้างเราภูมิใจ แต่นานๆ ไป ก็กลับสู่ความเคยชินตามปกติของเรา
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - แล้วระหว่างการเป็นผู้แทนกับไม่ได้เป็นผู้แทนโอลิมปิกวิชาการ ชีวิตต่างกันไหม?
รณชัย - แตกต่าง พอเราได้เป็นตัวแทน เราก็รู้ว่าเราได้ทุน เรามีอนาคตแล้ว เราไม่ต้องไปเอ็นทรานซ์ ไม่ต้องอ่านหนังสือสอบโอเน็ต ตอนผมสอบโอเน็ต ผมก็ไม่ได้อ่านหนังสือ
อำนวย - เราไม่ต้องตัดสินใจมากเหมือนนักกีฬาโอลิมปิก พอเขาได้รางวัลมา เขาต้องเลือกว่าจะเอารางวัลนั้นไปทำอะไร ผมไม่ได้ว่านะครับ แต่คงไม่มีนักกีฬาคนไหนเอาเงินที่ได้จากรางวัลโอลิมปิกไปทำให้ตัวเองเก่งกีฬาขึ้น เพราะตรงนั้นเป็นจุดสูงสุดของการแข่งขันกีฬาแล้ว คือได้โอลิมปิก ฉะนั้นเงินที่เขาได้คงไม่ได้เอาไปเสริมด้านนั้นแล้ว เพราะที่เขาได้คือจุดสูงสุดแล้ว ดังนั้นเขาอาจจะคิดว่าจะเอาไปให้พ่อ-แม่ดีไหม เอาไปลงทุนดีไหม แต่ของเราได้เป็นทุนการศึกษา ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าจะเตรียมตัวไปเอาความรู้ต่อในอนาคต เราต้องการจะเรียนต่อทางด้านฟิสิกส์ หรือทางด้านวิทยาศาสตร์ พอเราได้ทุนก็เหมือนเติมทางที่จะเดินทางต่อไปได้ ดังนั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไร เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าถ้าได้แล้วเป็นแบบนี้
รณชัย - คล้ายๆ คนเอ็นท์ติด คนอยากเข้าวิศวะ แล้วได้เข้าวิศวะ เป็นเส้นทางหนึ่งที่เราตั้งไว้ ทำได้ก็เดินต่อ เราไม่ได้เห็นอะไรที่มันเปลี่ยนแปลงมากนัก
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - เราทั้งสองคนพอมองเห็นอนาคตตัวเองคร่าวๆ แล้ว แต่ขอถามลึกลงไปว่าสิ่งที่อยากทำคืออะไร?
รณชัย - ผมกำลังคิดอยู่ เพราะในฐานะนักเรียนฟิสิกส์ ผมจะทำประโยชน์อะไรได้บ้าง คือประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ฟิสิกส์จะออกไปทางอุตสาหกรรมมากกว่า ดูแล้วไม่ค่อยตรงกับความต้องการของประเทศเรานัก กำลังคิดอยู่ว่าจะเรียนอะไรดี แล้วกลับมาจะมีหน่วยงานไหนรองรับหรือเปล่า เพราะผมคิดว่า ถ้าผมไปเรียนฟิสิกส์แบบวิจัยจ๋า กลับมาทำงาน ผลงานก็ออกมาให้กับอุตสาหกรรม ประชาชนที่เป็นชาวนา ชาวไร่ เขาก็ยังไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เต็มๆ ยังคิดอยู่ ยังตอบไม่ได้เหมือนกัน แต่คุณพ่อก็ลองพูดๆ มา ว่าลองทำอะไรเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ที่เวิร์ค ดีๆ เอาไปปั่นน้ำให้ชาวนา ก็อาจจะได้ แต่ก็ยังศึกษาต่อไปว่าจะมีหน่วยงานไหนรองรับหรือเปล่า
อำนวย - ก็พอจะรู้แล้วว่าจะกลับมาเป็นนักวิจัยหรือไม่ก็อาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งสองอย่างก็ทำพร้อมๆ กันได้ แต่ปัญหาก็คล้ายๆ กับรณชัย คือเรายังไม่รู้ว่าอะไรที่เราจะลงลึกลงไป อย่างหนึ่งเหมือนกับภาระผูกพันว่าเราต้องกลับมาช่วยประเทศชาติ ซึ่งคำว่าช่วยประเทศชาตินั้น คนต้องการเห็นอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน จับต้องได้ เอามาใช้ได้จริงๆ อาจเป็นเพราะประเทศเรากำลังต้องการการพัฒนาอย่างมาก ทำให้เหมือนกับว่า เราบ้ามากไม่ได้ เราหลุดออกจากข้อกำหนดบางอย่างไม่ได้ อย่างอเมริกาเขาไม่ได้วิจัยแค่อย่างเดียว เขาเปิดกว้างในการตั้งคำถาม ตอนนี้เขาอาจต้องช่วยกันแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน แก้ปัญหาพลังงาน แต่เขาก็มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่ทำของเขาไป ซึ่งบางคนอาจมองเป็นเรื่องไร้สาระ ว่าทำไมฉันต้องรู้ว่าเอกภพเป็นยังไง เกิดขึ้นมาได้ยังไง คนก็ยังศึกษา แต่ก็ตอบไม่ได้หรอกว่าศึกษาไปทำไม
เหมือนกับคนวาดรูปไปทำไม ทั้งที่มันอาจไม่ได้ทำให้เราอิ่ม คุณภาพชีวิตดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ก็ยังมีคนศึกษาในด้านนี้อยู่ จะบอกว่าได้นักวิทยาศาสตร์ก็เป็นนักบันเทิงประเภทหนึ่งนะ...ผมว่า คนทุกวันนี้ยังดูดาวกันอยู่ ถึงแม้เขาจะตอบไม่ได้ว่าดูไปทำไม แต่ก็เป็นพันธะของเราว่าต้องกลับมาทำอะไรให้ประเทศชาติ ผมก็เลยคิดว่าต้องเบนไปทางด้านนั้นแล้ว อย่างที่รณชัยบอก อาจจะเล่นทางด้านพลังงาน หรือไม่ก็ด้านการแพทย์ การแพทย์ของเราโอเค แพทย์เก่ง ใช้ได้ เราอาจช่วยเขาได้ในแง่ของอุปกรณ์ ถ้าเราศึกษาในด้านที่เกี่ยวกับชีววิทยานิดนึง
รณชัย - น่าสนใจนะ อย่างเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) ได้ยินมาว่านำเข้ามาเครื่องหนึ่ง 60 ล้านบาท ถ้าเราทำขึ้นเอง อาจจะถูกกว่า
อำนวย - ถือว่าเป็นประโยชน์ทั้งคู่ ถ้าเกิดเราทำอะไรให้ประเทศชาติได้ เราก็ได้
รณชัย - รัฐบาลออกเงินให้เราไปเรียน
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - แสดงว่าเรามุ่งมั่นที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติเต็มที่
อำนวย - ครับ
รณชัย - อยากทำ
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - พอใจไหมกับสิ่งที่ได้ตอบแทนจากการเป็นผู้แทนโอลิมปิก?
รณชัย - ผมก็พอใจ ถ้าถามว่าน้อยใจไหมเมื่อเทียบกับนักกีฬาโอลิมปิก ก็หน่อยๆ แต่ว่ามันก็คนละวงการ อย่างนักกีฬาโอลิมปิก การที่ได้เหรียญทองมาคือเขาเป็นที่หนึ่งจริงๆ แต่เด็กโอลิมปิก เหรียญทองคือพวกที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์ เหรียญอิงเกณฑ์ การได้เหรียญไม่ยากเท่านักกีฬา ผู้แทนโอลิมปิกวิชาการก็ได้เหรียญกันมาเยอะ อีกอย่าง วิชาการคือสิ่งที่คนทั่วไปไม่เห็นว่าสนุก ดังนั้นการที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจ องค์กรไหนจะมาโปรโมท ก็ไม่คุ้ม ทำเป็นการค้าไม่ได้ ไม่เหมือนกีฬาที่เข้าไปเป็นการค้าได้ เงินทุนก็เยอะ จะให้นักกีฬา 10-20 ล้านก็ไม่เยอะ เมื่อเทียบกับผลกำไรที่จะได้รับ แต่จะไม่เห็นผลกำไรเมื่อทุ่มให้นักเรียน สิ่งที่จะได้ก็เมื่อพวกผมเรียนจบกลับมาแล้ว ซึ่งเราจะทำอะไรให้ประเทศชาติได้จริงๆ
อำนวย - ผมว่าผมพอใจนะ ผมคิดว่าไม่มีคนมากนักที่จะได้โอกาสอย่างเรา น้อยมากที่จะมีคนได้โอกาสอย่างเรา และจริงๆ แล้ว เราไม่ใช่คนที่วิเศษนัก คนที่เก่งหรือมีอะไรดีๆ ในตัวเยอะ เขาอาจจะไม่เก่งในแง่โอลิมปิก ไม่ได้เก่งทางด้านวิชาการ แต่เขาจัดกิจกรรมเก่ง เขาพูดโน้มน้าวคนได้ เขามีแนวคิดดีๆ ที่จะทำอะไรให้ประเทศชาติ ผมว่าคนแบบนี้มีเยอะ แล้วคนแบบนี้อาจจะทำอะไรได้มากกว่าพวกผมอีก แต่บังเอิญผมได้โอกาส แล้วผมทำอะไรได้บ้าง ผมอาจจะเข้าใจฟิสิกส์ได้ดีกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง อาจจะมีโชคช่วยนิดหน่อย บังเอิญปีนี้ผมขยันมากกว่าคนอื่นหน่อย แล้วการเรียนถึงปริญญาเอกนั้นทำให้เราไปได้ไกลมาก ผมก็เลยคิดว่า ผมโชคดีนะที่ได้มาอยู่ที่ตรงนี้ ได้มาอย่างนี้ชีวิตก็มีความสุขแล้ว ไม่จำเป็นได้เงิน 20-30 ล้าน แล้วทุกวันนี้คนก็เริ่มสนใจโอลิมปิกวิชาการมากขึ้นในระดับหนึ่ง
...ชัยชนะของนักกีฬาโอลิมปิกทำให้เรา "สุขใจ" เช่นเดียวกับความตั้งใจของผู้แทนโอลิมปิกวิชาการที่ทำให้เรา "อิ่มใจ"...