xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะได้ไปแข่งโอลิมปิก (วิชาการ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้าย) นายเฉลิมชัย โกเมนธรรมโสภณ (ขวา) นางสาวอติพร เทอดโยธิน
กว่าจะเป็นนักกีฬาโอลิมปิก เขาและเธอต้องซ้อมๆๆ และซ้อม แล้วเยาวชนผู้แทนโอลิมปิกทางฝั่งวิชาการเล่า? พวกเขาฝึกปรือกระบวนยุทธอย่างไร? ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ เดินทางไปค้นคำตอบ จากน้องๆ "เด็กโอ" ที่งานสัปดาห์วิทย์ ท้องฟ้าจำลอง

ภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2551 ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.51 ผู้แทนโอลิมปิกวิชาการปี 2551 ได้ร่วมเสวนา "ทำอย่างไรจึงได้เป็นผู้แทนโอลิมปิกวิชาการ" โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ นางสาวอติพร เทอดโยธิน เหรียญทองชีววิทยาโอลิมปิก นายเชาว์ เจริญกิจขจร เหรียญทองชีววิทยาโอลิมปิก นายพลณพ สมุทรประภูติเหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิก และนายเฉลิมชัย โกเมนธรรมโสภณ เหรียญเงินเคมีโอลิมปิก

ปัจจุบัน นางสาวอติพร เทอดโยธิน ศึกษาอยู่ชั้น ม.6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน นายเชาว์ เจริญกิจขจร และ นายเฉลิมชัย โกเมนธรรมโสภณ ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายพลณพ สมุทรประภูติ ศึกษาอยู่ชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

อติพรกล่าวว่า กว่าจะได้เป็นผู้แทนโอลิมปิกวิชาการ ต้องเข้าค่ายอบรมหลายค่าย และใช้เวลาอบรมหลายเดือน การเป็นผู้แทนโอลิมปิกนั้น ใช้เส้นทางที่ยาวนาน แต่ก็บอกว่าอย่าท้อแท้ สิ่งสำคัญคือต้องสู้ต่อไป เช่นเดียวกับกรุงโรมที่ไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว

ขณะที่เฉลิมชัยระบุว่า ต้องลุ้นในการคัดเลือกผู้แทนทุกขั้น โดยขั้นที่เหนื่อยสุดคือขั้นคัดเลือกเป็นผู้แทน เพราะเหลือแต่ผู้แทนระดับหัวกะทิแล้ว และเมื่อได้เป็นผู้แทนแล้ว ความรู้ระดับ ม.ปลายไม่เพียงพอ ต้องค้นคว้าความรู้ระดับมหาวิทยาลัยต่อ

ส่วนเชาว์ ผู้แทนโอลิมปิกสาขาชีววิทยากล่าวว่า ชีวะ เป็นศาสตร์ที่อ่านเท่าไหร่ก็ไม่จบ ดังนั้นจึงต้องพยายามอ่านให้มากที่สุด เพื่อมีความรู้ที่กว้างที่สุด ซึ่งค่อนข้างเครียด บางครั้งเครียดก็มีท้อแท้บ้าง

ด้านอติพร ผู้แทนโอลิมปิกในสาขาเดียวกัน เผยเคล็ดลับว่า จะนำข้อสอบเก่าๆ มาทำ อ่านทบทวนสิ่งที่เรียนในค่ายเพิ่มเติม และสอบถามอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ซึ่งประจำอยู่ในค่าย

"เวลาอยู่ในค่ายต่องทำสม่ำเสมอ อ่านของสิ่งที่เรียนในวันนั้นให้จบ อยู่ในค่าย เพื่อนๆ จะช่วยเหลือกันดี อ่านแล้วก็มาถกกัน ซึ่งทำให้ต่อยอดได้เร็ว" อติพรกล่าว

ทั้งนี้ ตามปกติเมื่อได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศเพื่อเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการแล้ว ต้องเข้าค่ายและกิน-นอนอยู่ภายในค่ายที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดให้ ซึ่งในกระบวนการนี้ อติพรมองว่า จุดสำคัญของการเข้าค่ายคือ ทำให้เธอได้อยู่กับวิชาที่เธอรักและชอบ อีกทั้งได้อยู่กับเพื่อนๆ ที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ช่วยกันต่อยอดความรู้ ร่วมถึงได้ร่วมเข้าค่ายกับผู้แทนในสาขาอื่นๆ ซึ่งอนาคตอาจได้ร่วมงานกัน

เมื่อไปแข่งขันวิชาการที่ต่างแดน เฉลิมชัยกล่าวว่า เดินทางไป 10 วัน แต่นักเรียนซึ่งเป็นผู้แทนโอลิมปิกจะมีช่วงเวลาเครียดอยู่ 2 วัน คือวันที่สอบภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี ขณะที่อาจารย์ซึ่งเดินทางไปด้วยจะเครียดมากกว่าหลายวัน เพราะต้องตรวจข้อสอบและแปลข้อสอบ ซึ่งการเดินทางไปแข่งขัยยังต่างแดนทำให้ได้เห็นความแตกต่างของระบบการศึกษาในประเทศต่างๆ

"ไทยค่อนข้างเตรียมตัวมากกว่าชาติอื่น เราเตรียมตัวกันเป็นเดือน แต่บางชาติใช้เวลาเตรียมตัวแค่อาทิตย์เดียว" เฉลิมชัยกล่าว

การเป็นผู้แทนโอลิมปิก ซึ่งต้องแบกรับภารกิจ ในการเป็นตัวแทนประเทศเพื่อไปแข่งขันวิชาการยังต่างแดน ทำให้แต่ละคนมีความกดดันหรือไม่นั้น อติพรกล่าวว่า การเป็นผู้แทนโอลิมปิกนั้น เกิดจากความตั้งใจของตัวเอง ที่ต้องการมายืนยังจุดนี้ ดังนั้นเมื่อได้เป็นผู้แทนโอลิมปิกวิชาการแล้วก็ต้องมีความตั้งใจต่อไป ขณะที่พลณพระบุว่า เขามีความรักในรวิชาฟิสิกส์อยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีกำลังใจอยู่เสมอ.
(ซ้าย) นายเชาว์ เจริญกิจขจร (ขวา) นายพลณพ สมุทรประภูติ
ผู้แทนโอลิมปิกวิชาการหลังเสวนา ทำอย่างไรจึงได้เป็นผู้แทนโอลิมปิกวิชาการ
กำลังโหลดความคิดเห็น